ทบ.อบรม 16 นักโทษคดีอาวุธปืน สนับสนุนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ
2018.01.16
กรุงเทพฯ

กรมราชทัณฑ์ ร่วมกับ กรมสรรพาวุธทหารบกได้จัดโครงการนำร่อง คืนคนดีสู่สังคม โดยคัดเลือกนักโทษชายจำนวน 16 คน ในคดีอาวุธปืนจาก 233 คน เพื่อเข้าร่วมรับการอบรมเป็นเวลากว่าสองสัปดาห์ เพื่อแลกเปลี่ยนทักษะในการผลิตอาวุธปืน และยกระดับมาตรฐานการผลิตอาวุธปืนสำหรับพลเรือน รวมทั้งสนับสนุนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ กระทรวงกลาโหม สำหรับผู้ต้องขังที่ผ่านการฝึกอบรมทักษะการผลิตอาวุธปืน จะให้มาช่วยงานราชการ เป็นหนึ่งในภารกิจคืนคนดีสู่สังคม
โดยกรมสรรพาวุธทหารบก จัดครูที่จะมาสอนนักโทษกลุ่มนี้ ในเรือนจำบางขวาง ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ จำกัดเนื้อหาความรู้ในเรื่องการประดิษฐ์ชิ้นส่วนต่างๆ ที่ไม่สลับซับซ้อน ให้ผู้ต้องขังได้แสดงความเห็น แลกเปลี่ยนแนวคิด ทักษะ การผลิตอาวุธปืนที่ทางกองทัพจะได้สังเกต และได้ประโยชน์จากเทคนิคบางอย่างจากผู้ต้องขังกลุ่มนี้ ในขณะที่เขาจะได้ความเข้าใจในเรื่องกระบวนการผลิตอาวุธปืนที่ปลอดภัย ได้มาตรฐาน ไม่สร้างความเดือดร้อนต่อสังคม
พันเอกวิฑูรย์ ทาเกตุ ครูผู้ฝึกสอนภาคปฏิบัติ ให้สัมภาษณ์กับเบนาร์นิวส์ว่า ได้เตรียมการสอนภาคปฏิบัติ ให้รู้จักเครื่องมือ การขึ้นรูปลูกปืน การตรวจสอบมาตรฐานการผลิต ให้แต่ละคนได้คิด ออกแบบ ผลิตปืนจริงๆ และนำเสนอให้เพื่อนได้แสดงความเห็น ซึ่งกองทัพจะได้เรียนรู้ วิธีคิด ทัศนคติ มุมมอง การออกแบบกลไกจากการแสดงความเห็นดังกล่าว
“นักโทษมีองค์ความรู้ มีทักษะความชำนาญในเรื่องขั้นตอนการออกแบบ การสร้างต้นแบบอยู่แล้ว เราจะสอนให้เขาเข้าใจว่า การผลิตเพื่ออุตสาหกรรมจำนวนเป็นร้อยเป็นพัน จำเป็นต้องมีมาตรฐานและคุณภาพเดียวกันทุกกระบอก ไม่เหมือนผลิตทีละกระบอกขายตามท้องตลาด” พ.อ.วิฑูรย์ กล่าวกับเบนาร์นิวส์
ตั้ม (นามสมมุติ) หนึ่งใน 16 ผู้ต้องขังที่ได้รับคัดเลือก กล่าวกับผู้สื่อข่าวเบนาร์นิวส์ถึงความคาดหวังจากการเข้ารับอบรมครั้งนี้
“สิ่งที่คาดว่าจะได้จากการอบรม คือเรื่องความปลอดภัย แนวความรู้ว่าอันไหนผิด อันไหนถูก จะได้เอาความรู้ที่ได้ไปทำสิ่งดีๆ หลังจากนี้ ที่ผ่านมาทำผิดมาตลอด ไม่อยากทำอะไรผิดกฎหมายอีก” ตั้มกล่าวกับเบนาร์นิวส์
คืนคนดีสู่สังคม
โครงการนำร่อง คืนคนดีสู่สังคม ได้เริ่มจัดอบรมการผลิตปืนสั้น ปืนลูกซอง ระหว่างวันที่ 15 มกราคม–2 กุมภาพันธ์ ให้ผู้ต้องขัง 16 คน อายุระหว่าง 23–50 ปี คัดเลือกจากนักโทษในคดีอาวุธปืนจำนวน 233 คน จากจำนวนทั้งโทษทั้งหมด 320,000 คนทั่วประเทศ โดยเป็นการอบรมการผลิตอาวุธปืนที่ได้มาตรฐานการผลิตแบบอุตสาหกรรม โดยแบ่งเป็นสองกลุ่มตามทักษะ ความชำนาญ โดยกลุ่มแรกจะเป็นคนที่มีความรู้ มีทักษะในการผลิตอาวุธปืนเป็นอย่างดี และสามารถพัฒนาทักษะการผลิตอาวุธของกองทัพ ทำประโยชน์แก่ราชการได้ ส่วนกลุ่มที่สอง เป็นคนที่ชอบและสมัครใจเข้ารับการอบรม จะได้อบรมเรื่องการผลิตทั่วไป โดยเน้นอาวุธปืนสำหรับพลเรือน ไม่ใช่อาวุธสงคราม
นักโทษที่ได้รับการคัดเลือกต้องผ่านการทดสอบทั้งภาคทฤษฏี ภาคปฏิบัติ การทดสอบทางจิตเวช ว่าไม่เป็นผู้กระทำผิดซ้ำซากหรือมีแนวโน้มกระทำความผิดซ้ำซาก โดยจะเข้ารับการอบรมแนวคิดการผลิตอาวุธปืน การออกแบบ การผลิตต้นแบบ จนถึงการใช้เครื่องมือ เพื่อผลิตอาวุธปืนอย่างได้มาตรฐานถูกหลักวิชาการ ในขณะที่ครูผู้สอนจะสอดแทรกแนวคิด อุดมการณ์ ความรักชาติ เสียสละ ซึ่งเป็นแนวทางในการแก้ไขบุคคลที่กระทำความผิดให้สามารถกลับตัวเป็นคนดีของสังคมได้ เมื่อพ้นโทษ
“คนพวกนี้มีทักษะ มีแนวคิดที่ดี แต่ขาดการฝึกอบรมทางวิชาการ การศึกษาร่วมกันกับเขา จะทำให้เราได้เทคนิคบางส่วนจากเขา ขณะที่เราก็สอนเขาว่าอะไรไม่ถูก ไม่ควร การทำปืนเถื่อนอันตราย ยิงแล้วมือขาด อันตรายต่อตัวเองและคนอื่น” พลโทอาวุธ เอมวงศ์ เจ้ากรมสรรพาวุธ ทบ.ให้สัมภาษณ์ต่อเบนาร์นิวส์
ทางด้าน พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวเมื่อเดือนธันวาคม 2560 ที่ผ่านมาว่า รัฐบาลได้เตรียมตำแหน่งในสังกัดกองทัพบกไว้ 33 อัตรา แบ่งเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคนิค (ช่างผลิต) 20 อัตรา และเจ้าหน้าที่บริการอีก 13 อัตรา สำหรับผู้ต้องขังที่ผ่านการฝึกอบรมทักษะการผลิตอาวุธปืนให้มาช่วยงานราชการ เป็นหนึ่งในภารกิจคืนคนดีสู่สังคม
นักโทษคดีอาวุธปืนและยาเสพติด
ตั้ม (นามสมมติ) อายุ 24 ปี นักโทษคดีอาวุธปืนและยาเสพติดจากจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นหนึ่งในจำนวน 16 ผู้ต้องขัง ที่ถูกคัดเลือกจากผู้ต้องขังจำนวน 320,000 คน จากเรือนจำทั่วประเทศ เพื่อเข้าร่วมอบรมในโครงการ “มิติใหม่ อบรมผู้ต้องขังผลิตอาวุธปืน สนับสนุนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศภายใต้ชื่อ ไทยประดิษฐ์” โดยที่ตั้มหวังว่าการอบรมจากทหาร จะช่วยทำให้เขาได้พัฒนาทักษะการผลิตปืนที่สามารถเอาไปหาเงินเลี้ยงชีพอย่างถูกกฎหมายได้ ไม่ต้องทำผิดเหมือนที่แล้วมาอีกต่อไป
ตั้ม เล่าให้ผู้สื่อข่าวเบนาร์นิวส์ฟังว่า เขาเรียนรู้การผลิตปืนจากการไปนั่งดูเพื่อนทำปืนในหมู่บ้าน แล้วอยากทำบ้างเลยไปซื้ออุปกรณ์มาลองทำเอง ก็ทำได้ จากการเริ่มต้นแบบลองผิดลองถูก จนตั้มสามารถผลิตปืนสั้นไทยประดิษฐ์ได้ทุกชนิด สำหรับขายและแจกจ่ายกับเพื่อนฝูง โดยใช้เวลาเพียงหนึ่งอาทิตย์ถึงหนึ่งเดือน ขึ้นอยู่ที่ความยากง่ายและวัสดุที่ทำมาผลิต
“ผมทำปืนสั้นทุกอย่าง ตั้งแต่ไทยประดิษฐ์หักคอ ปืนปากกา ปืนสั้นบีบีกันดัดแปลง 9 ม.ม. ขายตั้งแต่ 8,000 บาทถึงหลักหมื่นบาท ขึ้นอยู่กับวัสดุ ถ้าเป็นเหล็กทั้งหมดก็ใช้เวลานานกว่า ราคาก็แพงกว่า ทำมาสองปีกว่าได้เงินเยอะอยู่” ตั้มกล่าวกับเบนาร์นิวส์
ตั้ม เด็กหนุ่มจากบุรีรัมย์ ผิวคล้ำ ผมสั้นเกรียน มีรอยสักเต็มตัว บนใบหน้า จมูก ริมฝีปาก และติ่งหูมีร่องรอยของการเจาะเป็นรูขนาดใหญ่ ต้องรับโทษในเรือนจำอีก 7 ปี ยอมรับว่า ที่ผ่านมาทำความผิดมาโดยตลอดและไม่อยากกลับไปทำแบบเดิมอีก การผลิตปืนเถื่อนได้เงินเยอะ แต่ก็เจ็บตัวเยอะ โดยเฉพาะช่วงลองทำแรกๆ ที่ทำปืนระเบิดบ้าง ยิงไม่ได้บ้าง ใช้เวลาทำปีกว่า ปรับเปลี่ยน ดัดแปลง จนเกิดความชำนาญ ฝีมือมั่นคงมากขึ้น จนทำให้ขายปืนได้ราคามากขึ้น