กรมราชทัณฑ์ ให้ทักษิณนอน รพ. ตำรวจต่อ
2024.01.11
กรุงเทพฯ

กรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ได้อนุมัติให้ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งต้องโทษจำคุก 1 ปี รักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจต่อไป เพื่อป้องกันการเสียชีวิต และปฏิเสธที่จะเปิดเผยรายละเอียดอาการป่วยเนื่องจากเป็นหลักสากล ทำให้ถึงปัจจุบัน นายทักษิณ รักษาตัวนอกเรือนจำมาแล้วเกือบ 5 เดือน
“อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ได้พิจารณาจากความเห็นของแพทย์ผู้ทำการรักษาที่พิจารณาแล้ว มีความเห็นว่ายังต้องดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด ประกอบกับเอกสารหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีความครบถ้วนตามกฎหมาย จึงพิจารณาเห็นชอบ เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2567 ให้นายทักษิณ อยู่รักษาตัวต่อยังโรงพยาบาลตำรวจ” ตอนหนึ่งของเอกสารชี้แจง ระบุ
“เนื่องจากยังคงมีอาการเจ็บป่วยที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดโดยแพทย์ผู้ทำการรักษาเฉพาะทาง และหากเกิดภาวะแทรกซ้อน หรืออาการที่อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตจะได้ดำเนินการรักษาอย่างทันท่วงที” กรมราชทัณฑ์ ระบุ
นายทักษิณ ถูกทำรัฐประหาร ขณะเป็นนายกรัฐมนตรีในเดือนกันยายน ปี 2549 และตัดสินใจลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ ก่อนจะกลับมาในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2551 แล้วตัดสินใจลี้ภัยอีกครั้งในเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน ระหว่างที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กำลังพิจารณาคดีทุจริตการซื้อขายที่ดินย่านรัชดาภิเษก ซึ่งนายทักษิณเป็นจำเลย
หลังจากลี้ภัยในต่างประเทศหลายปี วันที่ 22 สิงหาคม 2566 นายทักษิณได้เดินทางกลับมายังประเทศไทย และเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย ทำให้นายทักษิณถูกตัดสินจำคุก 8 ปี จาก 3 คดีซึ่งเกิดขึ้นขณะที่นายทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ต่อมานายทักษิณได้รับพระราชทานอภัยโทษเหลือจำคุก 1 ปี
อย่างไรก็ตาม นายทักษิณไม่เคยนอนในเรือนจำ เพราะถูกพาตัวเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจตั้งแต่คืนแรกของการเป็นนักโทษ “นายทักษิณมีอาการนอนไม่หลับ แน่นหน้าอก วัดความดันโลหิตสูง ระดับออกซิเจนปลายนิ้วต่ำ” กรมราชทัณฑ์ ระบุ นับตั้งแต่นั้นมา นายทักษิณ ยังพักรักษาตัวในโรงพยาบาลตำรวจต่อเนื่อง จนเกิดเสียงวิจารณ์และมีการตั้งคำถามถึงอาการป่วย
“ยึดหลักการสิทธิขั้นพื้นฐานที่ผู้ต้องขังพึงได้รับตามมาตรฐานสากล รวมถึงเคารพในหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิผู้ป่วย และตามจรรยาบรรณของแพทย์ ข้อมูลส่วนบุคคลหรือการเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคล จำเป็นต้องได้รับคำยินยอมจากเจ้าของข้อมูลด้วย กรมราชทัณฑ์จึงไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ป่วยออกสู่สาธารณชนได้” กรมราชทัณฑ์ ชี้แจง
ทั้งนี้ ตามกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. 2563 ระบุไว้ว่า กรณีผู้ต้องขังต้องพักรักษาตัวที่สถานที่รักษาเป็นเวลานานเกิน 120 วัน ให้มีหนังสือขอความเห็นชอบจากอธิบดีกรมราชทัณฑ์ พร้อมกับความเห็นแพทย์ผู้ทำการรักษาและหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง และรายงานให้รัฐมนตรีทราบต่อไป
ต่อกรณีนี้ พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวกับสื่อมวลชนว่า ตนเองยังไม่ได้รับรายงานเรื่องการอนุญาตให้นายทักษิณรักษาตัวนอกเรือนจำเกิน 120 วัน
“ที่ รพ.ตำรวจ อนุญาตให้กรรมาธิการตำรวจ ศึกษาดูงาน ที่ชั้น 6 อาคารศรียานนท์ นายชัยชนะ เดชเดโช สส.ประชาธิปัตย์ ในฐานะประธาน กมธ.ตำรวจ ส่งหนังสือไปที่อธิบดีราชทัณฑ์เป็นเรื่องของอธิบดีกรมราชทันฑ์ จะพิจารณาอนุญาตหรือไม่” พ.ต.อ. ทวี กล่าว
จากประเด็นที่เกิดขึ้น ทำให้เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) ประกาศชุมนุมค้างคืนที่ สะพานชมัยมรุเชษฐ์ หน้าทำเนียบรัฐบาล ระหว่างวันที่ 12-14 มกราคม 2567
"ขอนัดประชาชนมารวมชุมนุมแสดงพลัง เพื่อปกป้องกระบวนการยุติธรรม เราจะปักหลักค้างคืนเพื่อส่งสัญญาณให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ว่า ประชาชนจะไม่นิ่งเฉยกับเรื่องนี้ เพื่อความเท่าเทียมกัน ปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์" นายพิชิต ไชยมงคล แกนนำ คปท. กล่าว
ด้าน ดร. ณัฐกร วิทิตานนท์ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชี้ว่า การรักษาตัวในโรงพยาบาลอาจเป็นเงื่อนไขการกลับประเทศของนายทักษิณ
“การกลับไทยของทักษิณ อาจจะมีเหตุผลหลักเป็นเรื่องส่วนตัว คือ การอยากอยู่กับหลาน ๆ เขาจึงกลับมาอย่างมีเงื่อนไข และอาจจะมีการคุยกันในระดับบนแล้วว่าจะจัดการเงื่อนไขอย่างไร เงื่อนไขก็อาจเป็นการไม่ยอมติดคุก หรือถ้าต้องติดก็จะติดให้น้อยวันที่สุด ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นจึงเป็นแบบนี้” ดร. ณัฐกร กล่าว
วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช และจรณ์ ปรีชาวงศ์ ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน