ทางการไทยศึกษาการพักโทษ อดีตแนวร่วมแบ่งแยกดินแดนเพิ่มเติม

โดย ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2015.08.10
TH-insurgent-release-620 หน่วยเก็บกู้ระเบิดตรวจสอบยานพาหนะที่ถูกระเบิดเสียหาย หลังเหตุการณ์ระเบิดนอกโรงแรม ในอำเภอเบตง จังหวัดยะลา ภาคใต้ของไทย เมื่อวันที่ 26 กรกฏาคม 2557
เอเอฟพี

แก้ไขข้อมูล 13:48 11 ส.ค. 2558

เจ้าหน้าที่รัฐบาลไทยที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนใต้ กำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการพักโทษนักโทษคดีแบ่งแยกดินแดนเพิ่มเติม เพื่อให้เป็นหนึ่งในมาตรการสร้างความเชื่อมั่นระหว่างรัฐบาลและผู้เห็นต่าง ซึ่งฝ่ายทางการไทยคาดว่าจะมีการพูดคุยนอกรอบครั้งถัดไป ในห้วงเดือนสิงหาคมนี้

ในวันฮารีรายอ ซึ่งตรงกับวันที่ 17 กรกฎาคม ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้พักโทษอดีตฝ่ายคุมกำลังของขบวนการพูโล คือ นายหะยีสะมะแอ ท่าน้ำ หรือชื่อปัจจุบันว่า นายมะแอ สะอะ อายุ 61 ปี หลังจากที่โดนจองจำมาเป็นเวลา 17 ปี ในข้อหากบฎแบ่งแยกราชอาณาจักร

พลตรีนักรบ บุญบัวทอง รองผู้อำนวยการ ศูนย์ประสานงานการปฏิบัติที่ 5 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร กล่าวว่า การปล่อยตัวนายหะยีสะมะแอ ท่าน้ำ ถือเป็นการแสดงความตั้งใจจริงของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงรอบใหม่ที่มีมานานกว่า 10 ปี และความไว้ใจกันจะช่วยผลักดันให้การพูดคุยเพื่อสันติสุขเดินหน้าต่อไปได้

“ผู้ที่เห็นต่างเขาจะเห็นเรื่องของ.. อันดับแรกเลย.. ความจริงใจของรัฐบาลที่เราจะให้กับกลุ่มผู้เห็นต่างทั้งหมด ในเรื่องที่สอง คือ เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน ที่จะทำให้กระบวนการพูดคุยไปต่อได้ครับ” พลตรีนักรบกล่าวแก่เบนานิวส์ในวันจันทร์ (10 ส.ค. 2558) นี้

นอกจากนายหะยี สะมะแอ แล้ว ในวันที่ 30 พ.ย. ปี 2556 ได้มีการปล่อยตัวประธานขบวนการพูโล คือ นายหะยี บือโด เบตง หรือบาบอแม เบตง หรือหะยีอาเซ็ม

และในวันที่ 27 ก.ค. ที่ผ่านมา พล.ต.ต. อนุรุต กฤษณะการะเกตุ ผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้เดินทางไปพบนายดาโอ๊ะ มะเซ็ง หรือหะยีดาโอ๊ะ ท่าน้ำ อดีตแกนนำพูโล ที่เรือนจำจังหวัดยะลา เพื่อแจ้งให้ทราบว่า ทางบ้านเมืองจะได้ศึกษาข้อมูล เพื่อพิจารณาการพักโทษให้กับนายดาโอ๊ะ

บุคคลทั้งสามคนดังกล่าว ถูกตัดสินลงโทษในข้อหาต่างๆ ที่เกี่ยวกับความมั่นคง ในปี พ.ศ. 2541 และรับโทษนับตั้งแต่นั้นมา แม้ในการอุทธรณ์และฎีกา

พลตรีนักรบ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขบวนการพูโลเก่าที่ทางกลุ่มเองไม่ได้มีการปฏิบัติการก่อเหตุรุนแรงเหมือนกลุ่มบีอาร์เอ็นแล้ว ซึ่งตนเองกำลังตรวจสอบข้อมูลของนักโทษที่สังกัดขบวนการอื่นๆ เพิ่มเติม เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาว่าจะเข้าข่ายที่จะสามารถพักโทษและปล่อยตัวได้หรือไม่

“ผมเรียนว่า อาจจะมีในกลุ่มอื่นที่จะต้องพักโทษเหมือนกันครับ กำลังเช็คอยู่ แต่ยังไม่ได้อนุมัติ” พลตรีนักรบกล่าว

“การพูดคุยเป็นช่วงเริ่มต้น การพักโทษจะหาบุคคลที่เข้าเงื่อนไขสามารถทำได้เท่านั้นก่อน จะไม่เข้าไปแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม คดีดาโอ๊ะ ปัจจุบันยังไม่เข้าเงื่อนไขจึงยังพักโทษไม่ได้... แต่ทั้งนี้ หากการพูดคุยไปถึงจุดที่บรรลุข้อตกลง ก็อาจจะหารูปแบบและวิธีการที่เหมาะสมในการพักโทษให้กับผู้ที่ไม่เข้าเงื่อนไขต่อไป” พลตรีนักรบกล่าวเพิ่มเติม

ด้านนายกิตติ สุระคำแหง ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารงานยุติธรรม ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า กรณีที่มีการพิจารณาพักโทษคนอื่นๆ เพิ่มเติมนอกจากนายหะยีสะมะแอ ท่าน้ำ และนายหะยีดาโอ๊ะ ท่าน้ำ แล้วนั้น เป็นแนวคิดที่กำลังคิดกันอยู่และได้มีการพูดคุยเรื่องนี้กันเป็นระยะๆ เพื่อที่จะให้คนกลุ่มนี้ ได้ออกมาร่วมพัฒนาชาติ โดยเฉพาะในการพูดคุยเพื่อสันติสุข

อย่างไรก็ตาม นายกิตติกล่าวว่า ในปัจจุบัน มีนักโทษที่เป็นสมาชิกขบวนการแบ่งแยกดินแดนอยู่นับร้อยคน แต่การปล่อยตัวนั้นยังคงมีเงื่อนไขที่จะต้องพิจารณากันในรายละเอียด

“บุคคลกลุ่มนี้ มีเป็นร้อยคนที่นี่ เรายังไม่สามารถตอบได้ว่าใครบ้าง ที่จะสามารถได้รับการพักโทษกรณีพิเศษนี้บ้าง เพราะในการดำเนินการต้องมีหลักการอยู่ เช่น ต้องเป็นบุคคลที่ชดใช้ความผิดอยู่ในเรือนจำมาแล้วสองในสามของคดี ต้องมีอายุมาก และที่สำคัญต้องมีการให้ความร่วมมือกับรัฐมาอย่างต่อเนื่องในการช่วยเหลือในเรื่องการพูดคุย” นายกิตติกล่าว

“แต่เพื่อให้การพูดคุยเป็นไปอย่างราบรื่น ในอนาคต เจ้าหน้าที่อาจจะมีการพิจารณานำบุคคลเหล่านี้มาร่วมในการสร้างบรรยากาศของการพูดคุย อาจเป็นไปได้ แต่ต้องเป็นไปตามหลักกฎหมายที่มี”

นักวิชาการและผลการสำรวจชาวจังหวัดชายแดนใต้หนุนกระบวนการพูดคุย

ผศ. ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ในอดีตเคยเข้าร่วมเจรจาเพื่อสันติภาพในปี พ.ศ. 2556 ภายใต้รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า ตนเองคิดว่าการพักโทษนักโทษนั้นสามารถทำได้เนื่องจากมีกฎหมายรองรับอยู่หลายฉบับ รวมถึงการปลดหมายแก่บุคคลที่ยังไม่ได้รับโทษด้วย

“กรณีดังกล่าว สามารถทำได้เพราะมีกฎหมายหลายตัวที่เจ้าหน้าที่ได้ศึกษาไว้แล้ว ทั้งกฎหมาย พรบ. อัยการมาตรา 21 และมาตราราชทัณฑ์ ในส่วนของผู้ที่ยังไม่ถูกดำเนินคดีก็ใช้วิธีปลดหมาย เป็นวิธีการที่มีการศึกษาและวางขั้นตอนจากการพูดคุยสันติภาพในปี 2556 รัฐบาลชุดนี้มาสานต่อให้มีความต่อเนื่องในนโยบาย เป็นรูปธรรมชัดขึ้น” ผศ. ศรีสมภพ กล่าว

ผศ. ศรีสมภพ กล่าวว่า เงื่อนไข 5 ข้อ ที่กลุ่มบีอาร์เอ็น ได้เรียกร้องในการเจรจาในปี พ.ศ. 2556 นั้น ทางรัฐบาลไทยได้มีการสนองตอบไปแล้วบางส่วน  ทำให้การพูดคุยมีความคืบหน้า

“การพูดคุยสันติสุขมีความคืบหน้า เพราะเจ้าหน้าที่มีความพยายามที่จะทำในหลายเรื่อง ฝ่ายขบวนการเองก็เข้ามาร่วมทุกกลุ่ม กลุ่มหลักเข้ามาหมด ถึงแม้บีอาร์เอ็น ที่เข้ามาไม่ได้เป็นส่วนสูงสุดและเป็นทางการ แต่ก็มีตัวแทนเข้ามาร่วม”  ผศ. ศรีสมภพ กล่าว

“รัฐบาลชุดนี้ได้ทำไปแล้วสำหรับบางข้อ โดยเฉพาะในเรื่องของความต่อเนื่องของการพูดคุย และประเด็นที่ 4 ที่จะให้มีการปล่อยนักโทษ รัฐบาลชุดนี้ ก็ทำอย่างชัดเจน เพราะสามารถทำให้เห็นเป็นรูปธรรม แต่เขาระวังที่จะไม่พูดเพราะว่ามีฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยเหล่านี้ ถือเป็นขั้นตอนของการสร้างสันติภาพ” ผศ. ศรีสมภพกล่าวเพิ่มเติม

ในช่วง 13 มิ.ย. ถึง 10 ก.ค. 2558 สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้สำรวจความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่าง ทั้งชาวไทยพุทธและมุสลิม ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ จำนวน 2,104 คน ในประเด็นความเชื่อมั่นของประชาชนต่อกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข พบว่าประชาชนร้อยละ 76.9 ให้ความเชื่อมั่นต่อกระบวนการสันติภาพที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ ร้อยละ 80.2 เชื่อว่ากระบวนการจะเดินหน้าต่อไปได้

อดีตสมาชิกขบวนการแบ่งแยกดินแดนเชื่อการปล่อยตัว จะนำมาซึ่งสันติภาพถาวร

ทางด้านอดีตแกนนำบีอาร์เอ็น ในพื้นที่จังหวัดปัตตานีรายหนึ่ง กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า ตนเห็นด้วยต่อการที่รัฐบาลจะพิจารณาให้อิสรภาพแก่บุคคลที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำมานาน เช่นเดียวกับกรณีของนายหะยีอิสมะแอ ท่าน้ำ และสำหรับช่วงที่มีการพูดคุยสันติสุข สมควรอย่างยิ่งที่จะดึงหลายๆ ฝ่ายมาร่วมด้วย โดยเฉพาะบุคคลในระดับแกนนำ ซึ่งย่อมเป็นไปไม่ได้ หากแกนนำยังอยู่ในเรือนจำ

“หากเขายังถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ ก็ไม่สามารถพูดคุยได้ แต่ถ้าพวกเขาสามารถออกมาแล้วร่วมการพูดคุยได้ เชื่อว่า บรรยากาศของการพูดคุยจะเป็นไปได้สูงที่จะเกิดความสงบสุขจริง เพราะพวกเขาสามารถติดต่อสื่อสารกับบุคคลที่ก่อเหตุได้จริง สามารถควบคุมผู้ที่สั่งการในปัจจุบันได้จริง” อดีตแกนนำบีอาร์เอ็นกล่าว

“ถ้าจะถามว่า มีใครบ้างที่ควรออกมา ก็มีนับร้อยคน มีทั้งที่เป็นรุ่นเดียวกัน รุ่นพี่รุ่นน้องที่ร่วมขบวนการมาด้วยกัน รัฐต้องแสดงความจริงใจ กล้าปล่อยพวกเขาให้ได้รับอิสรภาพ ถ้ารัฐมีความกล้าในเรื่องนี้ เชื่อว่าปัญหาภาคใต้สงบลงแน่นอน เพราะเป็นการพูดคุยที่ถือว่าไม่มีใครเสียเปรียบ และเชื่อว่ารัฐบาลชุดนี้จะทำได้ ถ้าหากจะทำ”

นายมะแอ สะอะ หรือหะยีอิสมาแอ ท่าน้ำ อดีตแกนนำพูโล กล่าวว่า ตนเห็นว่า หากรัฐบาลสามารถพิจารณาพักโทษนักโทษคดีความมั่นคงได้ ก็จะเป็นการเปิดทางไปสู่การสร้างสันติภาพในพื้นที่ได้

“แต่ถ้ารัฐจะเปิดโอกาสให้กับนักโทษคดีความมั่นคงที่อยู่ในเรือนจำยะลา 40 คน ในนราธิวาส 40-50 คน ในเรือนจำปัตตานี 80 คน และในเรือนจำสงขลา เรือนจำนาทวี และเรือนจำบางขวาง รวมสามร้อยกว่าคน ถือว่าจะเป็นเรื่องดีโดยเฉพาะต่อการสร้างสันติสุขในพื้นที่ แต่ต้องมีหลักการที่ชัดเจนเพราะแต่ละคนไม่เหมือนกัน” นายมะแอ กล่าว

นอกจากนั้น นายมะแอ ยังได้เสนอความคิดเห็นว่า รัฐบาลควรเปิดโอกาสให้นายอับดุล เราะห์มาน บิน อับดุลกาเดร์ หรือนายหะยีแม อดีตแกนนำสมาชิกขบวนการพูโล ที่ถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำนาทวีอยู่ในขณะนี้ ให้ได้รับการพิจารณาปล่อยตัวเช่นเดียวกับตน เพราะมีอายุมากและได้ใช้โทษมาเป็นเวลานานพอสมควร

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง