ฟรีดอมเฮาส์ ชี้เสรีภาพสื่อไทยถูกจัดในกลุ่ม ‘ไม่เสรี’ ติดต่อกันเป็นปีที่ 6

ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2019.11.12
วอชิงตัน
191112-TH-internet-800.jpg ผู้เข้าชมงานดูแท็บเล็ตลดราคาที่จัดแสดงในงาน ในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2555
เอเอฟพี

เจ้าหน้าที่ไทยมีการจัดการ ข้อมูลออนไลน์ ให้ข้อมูลเท็จ หรือทำให้เข้าใจผิดในข้อมูลที่เผยแพร่ในช่วงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ในเดือนมีนาคม ปี 2562 ทั้งยังมีการตั้งกฎข้อบังคับที่คลุมเครือและจำกัด ที่กำหนดโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งทั่วไป ที่ได้จำกัดการใช้เครื่องมือดิจิทัลในการรณรงค์หาเสียง รายงานฟรีดอมเฮาส์กล่าว

องค์กรฟรีดอมเฮ้าส์ ซึ่งเป็นองค์กรอิสระของสหรัฐฯ ที่เฝ้าติดตามการทำงานด้านการขยายเสรีภาพและประชาธิปไตยทั่วโลก กล่าวในรายงาน “เสรีภาพทางอินเทอร์เน็ต” จัดคะแนนให้ไทยได้ 35 จากคะแนนสูงสุด 100 เทียบเท่ากับปีที่แล้ว ทั้งชี้ว่าไทยอยู่ 1 ใน 21 ประเทศ "ไม่มีเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ต" จากทั้งสิ้น 65 ประเทศ สำหรับการรายงานการวิจัยนี้

ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่ม ‘ไม่มีเสรีภาพ’ ทางอินเทอร์เน็ต ติดต่อกันเป็นปีที่ 6 แล้ว โดยไทยมีการออกกฎหมายควบคุมและจำกัดการเสนอข้อมูลทางสื่อสังคมออนไลน์ รวมถึง สร้างมาตรการจำกัดการใช้โซเชียลมีเดีย ในระหว่างการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง

ฟรีดอมเฮาส์ ได้เผยแพร่ในรายงานประจำปี 2562 ว่า เสรีภาพทางอินเทอร์เน็ตของไทย ถูกจำกัดอย่างหนัก ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีขึ้นตั้งแต่การรัฐประหารในปี 2557 รัฐบาลทหารได้ดำเนินการอย่างหนักหน่วง เพื่อกีดกันการสนับสนุนต่อฝ่ายตรงข้ามรัฐ และออกมาตรการบังคับและจำกัดการใช้สื่อสังคม หรือโซเชียลมีเดีย ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามรัฐถูกตั้งข้อหาภายใต้กฎหมายที่กดขี่และแนวปฏิบัติที่คลุมเครือ เป็นการเพิ่มอำนาจเจ้าหน้าที่ในการลบเนื้อหา และจำกัดการใช้โซเชียลมีเดียในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งทางดิจิทัล

รายงานได้ระบุว่า "ไทยมีแนวโน้มใหม่ของการบังคับการสูญหาย และการเสียชีวิตอย่างลึกลับของนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยและต่อต้านสถาบันฯ นอกจากนี้ยังมีการจำกัดเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ตอีกด้วย ซึ่ง พ.ร.บ.การรักษาความปลอดภัยมั่นคงไซเบอร์ที่เข้มงวด ได้มีผลบังคับใช้เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา"

โดยรายงานชี้สรุปพัฒนาการสำคัญของสถานภาพ “ไร้เสรีภาพสื่อ” ของไทย ในรายงานระหว่าง 1 มิถุนายน 2561 - 31 พฤษภาคม 2562 อาทิ

“การจัดการ ทำข้อมูลเท็จ หรือทำให้เข้าใจผิดในข้อมูลเนื้อหาทางอินเทอร์เน็ตที่เผยแพร่ในช่วงการรณรงค์เลือกตั้ง ในปี 2562 โดยมีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อสร้างความไม่น่าเชื่อถือของพรรคที่ต่อต้านการสืบทอดอำนาจของฝ่ายทหารและผู้นำพรรคการเมืองอื่นๆ รวมถึง นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ”

“การตั้งกฎข้อบังคับที่คลุมเครือและจำกัด ที่กำหนดโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งทั่วไป เพื่อจำกัดการใช้เครื่องมือดิจิทัลในการรณรงค์หาเสียง”

รายงานระบุ “ทนายความสิทธิมนุษยชนถูกศาลสั่งจำคุกเป็นเวลา 16 เดือน ในความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ หลังโพสต์ความคิดเห็นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 ซึ่งผู้นำพรรคอนาคตใหม่ ก็ถูกตั้งข้อหาความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์เช่นกัน หลังจากโพสต์วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหารในเฟซบุ๊ก”

“ในเดือนพฤษภาคม 2562 ประเทศไทยได้ออก พ.ร.บ.การรักษาความปลอดภัยมั่นคงไซเบอร์ พ.ศ. 2562 เป็นมาตรการที่รัฐบาลมีอำนาจเข้าถึงข้อมูลและการติดต่อสื่อสารส่วนบุคคล โดยไม่ต้องอาศัยหมายศาล” รายงานกล่าว

อีกทั้ง “สามนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยและต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ที่อาศัยอยู่นอกประเทศไทยได้หายตัวไป ในเดือนธันวาคม 2561 ต่อมาในเดือนมกราคม 2562 ได้พบสองร่างกลายเป็นศพ ในสภาพยับเยิน ริมแม่น้ำโขง ชายแดนระหว่างไทยกับลาว”

และ “ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2562 นักเคลื่อนไหวต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์สามคน ที่ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นสถาบันฯ ได้หายตัวไปในเวียดนาม หลังจากเดินทางออกจากลาว โดยกลุ่มประชาสังคมกล่าวอ้างว่า พวกเขาถูกส่งมอบให้กับทางการไทย ซึ่งทางการไทยปฏิเสธ และตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2562 ยังไม่มีผู้รู้เห็นว่าทั้งหมดอยู่ที่ใด” องค์กรฟรีดอมเฮาส์ ของสหรัฐฯ ระบุในรายงาน วันอังคารนี้

และกล่าวอีกว่า "รัฐบาลไทยยังคงบล็อกเนื้อหาในสื่อออนไลน์ที่มีการหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ และยังมีรายงานว่าพนักงาน "หน่วยไซเบอร์" มีหน้าที่ตรวจจับเนื้อหาของฝ่ายต่อต้านสถาบันฯ"

โดยเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้แถลงข่าว เปิดตัวศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (Anti-Fake News Center) เพื่อตรวจสอบข่าวออนไลน์ และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับสังคม

“การตั้งศูนย์นี้ ไม่มีเจตนาในการใช้เป็นเครื่องมือในการสนับสนุนรัฐบาลแต่อย่างไร และไม่มีเจตนาในการเป็นประโยชน์กับใครคนใดคนหนึ่ง เราเพียงแต่ทำอย่างไรให้ข่าวปลอมลดน้อยลง และทำอย่างไรให้ประชาชนได้มีหลักคิด ใช้สติก่อนจะเผยแพร่ออกไป” นายพุทธิพงษ์ กล่าว

นายพุทธิพงษ์ ระบุว่า จะมีหน่วยงานร่วมกว่า 200 หน่วยงาน และจะใช้เวลาในการตรวจสอบข่าวต่างๆ 2 ชั่วโมงต่อหนึ่งข่าว ... เจ้าหน้าที่นั่งทำงานบนจอคอมพิวเตอร์จำนวนกว่า 30 คน ทำงานในการตรวจจับเนื้อหาที่เข้าข่ายกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนโดยวงกว้างหลายกลุ่ม โดยรวมถึง กลุ่มนโยบายของรัฐบาล ความสงบเรียบร้อยของสังคม ศีลธรรมอันดี และความมั่นคงภายในประเทศ

ด้าน นายสุณัย ผาสุก นักวิจัยขององค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวว่า ศูนย์ดังกล่าว เป็นเพียงเครื่องมือของรัฐบาลในการเซ็นเซอร์ประชาชนเท่านั้น

“มันเป็นเพียงเครื่องมือสำหรับการเซ็นเซอร์อีกชิ้นหนึ่ง ที่ไม่แตกต่างจากบรรยากาศที่เคยเป็นมาในสมัยห้าปีก่อน ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหาร... และพรรคพลังประชารัฐพุ่งเป้าไปที่นักเคลื่อนไหวสนับสนุนประชาธิปไตย นักสิทธิมนุษยชน นักการเมืองฝ่ายค้าน และสื่อมวลชนที่กล้ารายงานข่าว สถานการณ์เรื่องการแสดงออกยิ่งเลวร้ายลง” นายสุณัย กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง