เอเอฟพี มอบรางวัล ผู้สื่อข่าวไทย จากการรายงานคดีมาตรา 112

ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2015.10.06
TH-journalist-1000 มุทิตา เชื้อชั่ง ผู้สื่อข่าว จากประชาไทออนไลน์ ภาพถ่ายที่สำนักงาน กรุงเทพฯ วันที่ 5 ตุลาคม 2558
เอเอฟพี

เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2558 ผู้สื่อข่าวไทย มุทิตา เชื้อชั่ง จากประชาไท ข่าวออนไลน์ วัย 33 ปี ได้รับรางวัล เอเอฟพีเคท เวบบ (Agence France-Presse Kate Webb) ประจำปี 2015 จากการรายงานข่าวที่มีความอ่อนไหว เกี่ยวกับคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ที่เพิ่มมากขึ้น ภายใต้รัฐบาลทหาร สำนักข่าวเอเอฟพี รายงาน

โดยรางวัลนี้มอบแก่ ผู้สื่อข่าวที่รายงานข่าวภายใต้สถานการณ์ที่ยากลำบาก ในภูมิภาคเอเชีย

มุทิตาได้รับการยกย่องจากความบากบั่นในการติดตามและบันทึกคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์ซึ่งมีทั้งภาษาไทยและอังกฤษ

"เราตระหนักถึงความพยายามของมุทิตา ที่จะนำเสนอข่าวที่มีความสมดุล และครอบคลุมในเชิงลึกของประเด็นที่มีความอ่อนไหว ในประเทศไทย ซึ่งอาจเป็นเรื่องยาก ในสภาพแวดล้อมทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา"  ฟิลิปป์ มาซองเน ผู้อำนวยการ เอเอฟพี ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก กล่าว

รางวัลนี้เป็นเงินจำนวน 3,000 ยูโร (หรือประมาณ 122,000 บาท)

“เธอมักอยู่แนวหน้าในการต่อสู้ เรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกในประเทศไทย โดยรายงานข่าวในคดีความหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอย่างต่อเนื่อง” แอนเดรีย จิโอเกตโต้ แห่งสมาพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล (FIDH) กล่าวแก่ ประชาไท

องค์กรฮิวแมนไรท์วอทชกล่าวว่า งานของมุทิตา มักไม่มีชื่อผู้รายงาน งานนี้ ถือเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญที่ให้ข่าวสารเกี่ยวกับการตัดสินและลงโทษคดี นับเป็น“งานที่มีคุณค่า”

ประเด็นถกเถียงสำคัญในสังคม แต่ไม่มีใครทำจริงจัง

จากคำสัมภาษณ์ของประชาไท ถึงเหตุผลที่เธอเลือกทำข่าวใน คดีมาตรา 112 มุทิตากล่าวว่า “เพราะเห็นว่าเป็นประเด็นข้อถกเถียงสำคัญในสังคม การลงโทษก็หนักมาก แต่ไม่ค่อยมีใครทำจริงจัง อาจเพราะเกรงว่าจะเดือดร้อน หรือไม่ก็เห็นตรงกันกับที่รัฐเห็นว่าเป็นภัยความมั่นคง แต่ยังสงสัยอยู่ จึงติดตามดู”

“แค่อยากรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในคดี กระบวนการดำเนินคดีทั้งหมดเป็นยังไง และต้องการรู้เหตุผลจากปากผู้ต้องหา แต่ทั้งหมดนี้ต้องอาศัยเวลา ความต่อเนื่องในการติดตาม ความกลัวมักครอบงำผู้ต้องหาและคนรอบข้างอย่างมาก” มุทิตากล่าวแก่ประชาไท ถึง ความสนใจและความยากง่ายในการรายงานข่าวคดีนี้

“มันไม่ได้เป็นความกล้าหาญอะไร การนำเสนอเรื่องราวเหล่านี้เป็นสิ่งที่ใครก็ทำได้ และน่าทำ เพราะเราจะเข้าใจความขัดแย้งในสังคมและผู้อยู่ร่วมสังคมที่เห็นไม่ตรงกันกับ เราได้อย่างไร ถ้าไม่เปิดใจรับฟังและกล้าเผชิญกับความจริง เพื่อนำไปสู่ทางออก โดยภาพรวมการนำเสนอขององค์กรก็พยายามขยับเพดานให้การถกเถียงด้วยเหตุด้วยผลมีพื้นที่มากขึ้นอยู่แล้ว” มุทิตากล่าวแก่ ประชาไท

“ที่ผ่านมาปัจเจกชนธรรมดาๆ ที่ตระหนักเรื่องนี้ก็ทำในสิ่งต่างๆ ในหลากรูปแบบ หลายองค์กรก็พยายามทำเต็มที่ทั้งเก็บข้อมูลพื้นฐาน สร้างความเข้าใจในสังคม หรือแม้แต่ช่วยในการต่อสู้คดีเพื่อให้ผู้ถูกกล่าวหาเข้าถึงความเป็นธรรม แต่อาจเพราะเราทำงานมายาวจึงพอทำให้เห็นชัด ซึ่งจะทำอย่างนี้ได้มาจากองค์ประกอบขององค์กรและเพื่อนร่วมงานที่สนับสนุน” มุทิตากล่าว รายงานโดยประชาไท

จากรายงานการวิจัยขององค์กรที่ติดตามการเคลื่อนไหวของสิทธิมนุษยชนทั่วโลก (FIDH) ประจำกรุงปารีส พบว่า ในช่วงปีแรก นับตั้งแต่รัฐบาลทหารยึดอำนาจ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 มีคนถูกควบคุมตัว ภายใต้มาตรา 112 อย่างน้อย 47 คน

"คดีนี้มีผู้ถูกตัดสินจำคุก 18 คน โดยได้รับโทษตั้งแต่หนึ่งถึง 50 ปี นับรวมกันได้ 159 ปี โดยเฉลี่ยแต่ละคนถูกจำคุกประมาณ แปดปีแปดเดือน ซึ่งส่วนใหญ่ ผู้ถูกจับกุมได้สารภาพ ทำให้โทษจำคุกถูกลดลงกึ่งหนึ่ง" FIDH รายงานเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2558

เอเอฟพี จะมีพิธีมอบรางวัล เดือนหน้า ที่กรุงเทพฯ ประชาไทรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง