วันนักข่าว : 20 ปี ประชาไทในฐานะสื่อที่รัฐรังเกียจ

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2024.03.05
กรุงเทพฯ
วันนักข่าว : 20 ปี ประชาไทในฐานะสื่อที่รัฐรังเกียจ ศรายุธ ตั้งประเสริฐ ผู้สื่อข่าวประชาไท ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจฉีดน้ำแรงดันสูง และยิงแก๊สน้ำตา ขณะลงพื้นที่ทำข่าวหน้ารัฐสภาเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563
คชรักษ์ แก้วสุราช/เบนาร์นิวส์

ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ณัฐพล เมฆโสภณ ผู้สื่อข่าวประชาไท ถูกตำรวจจับกุมตัวจากการลงพื้นที่ทำข่าวกิจกรรมการเมือง เขาถูกขัง 1 คืนที่สถานีตำรวจ ก่อนจะได้รับการประกันตัวในวันถัดมา สังคมสื่อมวลชนต่างลงความเห็นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับณัฐพลไม่ใช่สถานการณ์ปกติ แต่มันก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่สำนักข่าวชื่อ "ประชาไท" โดนกระทำ

“นักข่าวเป็นอาชีพที่ถูกคุกคามอยู่แล้วตลอดประวัติศาสตร์สื่อสารมวลชน ประชาไทเสนอข่าวที่มีผลกับการเปลี่ยนแปลง แต่รัฐไม่ยอมรับความจริง ไม่อยากเปลี่ยนแปลงเลยฟ้อง เพราะการนำเสนอข่าวมันกดดันรัฐ อีกนัยหนึ่ง การที่รัฐบาลอำนาจนิยมรังเกียจประชาไทนับเป็นเกียรติยศ เพราะมันตอกย้ำว่า สิ่งที่ประชาไททำมีคุณค่า” ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข ผู้ดำเนินรายการ Voice TV และอดีตบรรณาธิการบริหารประชาไท ยุคบุกเบิก กล่าว

ประชาไท นิยามตัวเองในฐานะ “หนังสือพิมพ์อิสระบนเว็บไซต์” โดยดำริของ จอน อึ๊งภากรณ์ อดีต สว. ที่ได้แรงบันดาลใจจากเว็บไซต์ข่าวอิสระ Mindanews ของฟิลิปปินส์ เริ่มเผยแพร่ข่าวในวันที่ 6 กันยายน 2547 ระบุ เป้าหมายว่าจะเสนอข่าวและข้อมูลตามความจริงที่พบ โดยไม่ยอมให้ใครมาแทรกแซง และดำรงตนในฐานะองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร

“ประชาไทพยายามตอบโต้แนวคิดหลักของสังคมไทยนำเสนอเสียงของคนที่เสียงเบา สนับสนุนประชาธิปไตย ไม่เอาการรัฐประหาร การรวมศูนย์อำนาจ เป็นเสรีนิยม ไม่ได้สัมภาษณ์แค่นักวิชาการ หรือนักการเมือง แต่สัมภาษณ์ชาวบ้านเพราะเคารพความเป็นมนุษย์ และแทบจะไม่เซ็นเซอร์กันเอง” ศรายุธ ตั้งประเสริฐ บรรณาธิการบทความ ประชาไท ระบุ

20 ปีที่ผ่านมา ประชาไทนำเสนอข่าวที่ส่งเสริมเสรีภาพการแสดงออก นำเสนอประเด็นการเมือง สังคม สิทธิมนุษยชน กฎหมาย และอื่นๆ นับเป็นสำนักข่าวของไทยแห่งแรกๆ ที่กล้าแตะต้องประเด็นที่อ่อนไหวในสังคมอย่าง เรื่องสถาบันกษัตริย์, เรียกร้องการยกเลิก-แก้ไข ม. 112 รวมทั้ง สม่ำเสมอในการรายงานประเด็นที่สื่อกระแสหลักมองข้าม เช่น สิทธิแรงงานข้ามชาติ, สิทธิผู้อพยพ กระทั่งชีวิตของผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การเมือง

“การนำเสนอข่าวแบบประชาไทเป็นวัฒนธรรม หล่อหลอมกันมาจากรุ่นสู่รุ่นว่า ประเด็นไหนที่แหลมคม และมีนัยสำคัญที่ต้องอธิบาย แม้ว่ารัฐจะพยายามปกปิด แต่ประชาไทจะพยายามเปิด เพราะการทำให้ทุกอย่างสว่าง มันเป็นการเพิ่มอำนาจของประชาชน ไม่เช่นนั้น ปัญหาจะถูกหมักหมม หรือซ่อนไว้ ตรงไหนมืด ประชาไทจะเอาไฟไปส่องมัน” ชูวัส ระบุ

ราคาที่ต้องจ่ายในฐานะประชาไท

การยืนหยัด เพื่อยืนยันการนำเสนอข่าวแบบประชาไท แม้ได้รับคำชื่นชม และแรงสนับสนุนจำนวนมาก แต่อีกทางหนึ่งก็ทำให้ประชาไท เป็นสำนักข่าวที่ถูกกระทำโดยรัฐมากที่สุดแห่งหนึ่ง

ปี 2552 ในสมัยที่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการประชาไท ถูกดำเนินคดีข้อหา ม. 112 และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ เพราะ อัยการเห็นว่า ประชาไทปล่อยปะละเลยให้เว็บบอร์ดมีข้อความที่อาจเข้าข่ายหมิ่นสถาบันกษัตริย์ 20 วัน

กรณีดังกล่าวทำให้สำนักงานของประชาไท ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจบุกเข้าตรวจค้น ท้ายที่สุดในปี 2558 จีรนุช ถูกศาลฎีกาตัดสินว่ามีความผิด ให้จำคุก 8 เดือน ปรับ 2 หมื่นบาท โดยโทษจำคุกให้รอลงอาญา

ปี 2557 หลังการรัฐประหาร เทวฤทธิ์ มณีฉาย บรรณาธิการบริหารประชาไท ถูกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เรียกปรับทัศนคติในค่ายทหาร

“ถูกเรียกไปรายงานตัวที่สโมสรกองทัพบก อยู่ในนั้น 3 วัน ถูกสอบสวน เรื่องกิจกรรมต่างๆ และการทำข่าว ก่อนออกมาเขา(คสช.)ก็ให้ทำข้อตกลงว่า เราจะไม่กระทำผิด หรือออกนอกประเทศ หลังจากนั้นก็มีเจ้าหน้าที่มาเยี่ยมบ้านเกือบทุกเดือน ต่อเนื่องอยู่หลายปี” เทวฤทธิ์ เล่าถึงเหตุการณ์เมื่อ 10 ปีก่อน

13615425_1722455794660526_1186433965090144383_n.jpg

ทวีศักดิ์ เกิดโภคา อดีตผู้สื่อข่าวประชาไท ถูกดำเนินคดีในฐานความผิด ฝ่าฝืนพ.ร.บ. ประชามติ เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2559 (แฟ้มภาพ/บ้านราษฎร์)

ปี 2559 สมัยรัฐบาล คสช. ทวีศักดิ์ เกิดโภคา ผู้สื่อข่าวประชาไท ถูกจับกุมและดำเนินคดี ฝ่าฝืน พ.ร.บ. ประชามติฯ ขณะลงพื้นที่ทำข่าวเกี่ยวกับศูนย์ปราบโกงประชามติรัฐธรรมนูญของประชาชน ใน อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ทวีศักดิ์ต้องต่อสู้คดีจนถึงปี 2562 กระทั่งศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง

“อาชีพผู้สื่อข่าว เป็นความฝันของผมตั้งแต่ตอนที่ยังเรียนอยู่ การได้เป็นผู้สื่อข่าวจึงเป็นความภูมิใจอย่างหนึ่งในชีวิต เพราะผมเชื่อว่างานของผมอาจจะมีส่วนช่วยทำให้สังคมไทยเดินเข้าใกล้หลักการสำคัญที่ถูกยอมรับกันในสากลโลก เช่น หลักการประชาธิปไตย หลักสิทธิมนุษยชน และการเคารพซึ่งกันและกันในฐานะมนุษย์ แม้จะมีความคิดทางการเมืองที่แตกต่างกัน” ทวีศักดิ์ กล่าวหลังการถูกจับกุม

ในสมัยรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ปี 2563 กิตติ พันธภาค ผู้สื่อข่าวมัลติมีเดียประชาไท ถูกจับกุมระหว่างการรายงานสด เหตุการณ์ที่ตำรวจใช้รถฉีดน้ำผสมสารเคมี สลายการชุมนุมของกลุ่มราษฎรที่แยกปทุมวัน กิตติถูกควบคุมตัวที่สถานีตำรวจหลายชั่วโมง เนื่องจากตำรวจอ้างว่า กิตติฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงาน ท้ายที่สุดกิตติถูกปรับ 300 บาท และได้รับการปล่อยตัว

“ตอนกิตติโดนจับ เรารู้สึกเจ็บปวด เพราะมันไม่ควรโดนแบบนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่กิตติโดนคนเดียว แต่เป็นการกระทำกับเราทั้งองค์กร เราเป็นห่วงความรู้สึกของคนทำงานที่สุด เราเลยพยายามเข้าไปอยู่ในทุกกระบวนการ ไม่ให้นักข่าวของเรารู้สึกว่าเขาต้องต่อสู้คนเดียว”​ วิภาพร ฟักอินทร์ ผู้จัดการประชาไท ย้อนความรู้สึกในปี 2563 ให้ฟัง

51055775857_d7878f5cd6_b.jpg

ศรายุธ ตั้งประเสริฐ ผู้สื่อข่าว ประชาไท ถูกกระสุนยางจากตำรวจควบคุมฝูงชนยิงที่บริเวณหลัง ขณะลงพื้นที่ทำข่าว บริเวณสี่แยกคอกวัว กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2564 (แฟ้มภาพ/ประชาไท)

ปี 2564 ศรายุธ ตั้งประเสริฐ ถูกยิงด้วยกระสุนยางได้รับบาดเจ็บ ขณะรายงานสดการสลายการชุมนุมกลุ่มราษฎรโดยตำรวจที่ถนนข้าวสาร ต่อมาศรายุธได้ฟ้องร้องต่อศาลแพ่งว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) และ พล.ต.อ. สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) สลายการชุมนุมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ท้ายที่สุด ศาลได้พิพากษายกฟ้อง เพราะเห็นว่า ศาลไม่มีอำนาจแทรกแซงการบริหารงานของ สตช.

“ตอนโดนยิง ผมโกรธมาก เพราะเราทำงานของเรา แล้วตำรวจมาเป็นแผง ยิงเราจากข้างหลัง ความเป็นมนุษย์ของคุณอยู่ตรงไหน ที่เจ็บกว่าการโดนยิงคือ ศาลยกฟ้อง ผมทำงานเพราะอยากสนับสนุนคนรุ่นใหม่ ผมไม่ใช่นักสู้ ไม่พร้อมพลีชีวิตเพื่อประชาธิปไตย เวลาเห็นเด็กติดคุก ผมก็กลับมานอนฝันร้าย ทำงานก็กลัวมาก แต่ความกลัวมาห้ามผมทำงานไม่ได้ เพราะมันเป็นสัญชาตญาณ ถึงเวลาต้องทำมันก็ต้องทำ” ศรายุธ กล่าว

ล่าสุด ในยุครัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน ปี 2567 ประชาไทยังคงเป็นสำนักข่าวกระสุนตก เมื่อณัฐพล เมฆโสภณ ถูกจับโดยไม่มีหมายเรียก เพราะติดตามทำข่าวการพ่นสีกำแพงวัดพระแก้วของ “บังเอิญ” เมื่อต้นปี 2566 โดยตำรวจตั้งข้อหาว่า ณัฐพลสนับสนุนการทำลายกำแพงวัดพระแก้ว ซึ่งเป็นโบราณสถาน ปัจจุบัน คดีอยู่ในชั้นสอบสวนของตำรวจ

“ผมมีความเชื่อว่า กฎหมายควรถูกปรับปรุงให้ส่งเสริมสิทธิ และประชาธิปไตย แต่จุดยืนในการทำงานคือ ผมจะไม่ไปแทรกแซงการทำกิจกรรม ต่อให้เป็นกิจกรรมของฝ่ายไหน เราแค่เป็นพื้นที่ให้เขาได้ส่งเสียง หรือแสดงออกถึงปัญหาของเขา ปัญหาคือ ทำไมถึงมีเรากับเพื่อนไม่กี่คนไปทำข่าวนี้ ทำไมสื่ออื่นไม่สนใจ” ณัฐพล กล่าว

2024-02-13T112845Z_201619196_RC2L16A40TJO_RTRMADP_3_THAILAND-JOURNALISTS-ARRESTS.JPG

นายณัฐพล เมฆโสภณ ผู้สื่อข่าวประชาไท (ขวา) และนายณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์ ช่างภาพข่าว Spacebar หลังศาลอาญาอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว คดีทำข่าวพ่นกำแพงวัดพระแก้ว เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 (ชาลินี ถิระศุภะ/รอยเตอร์)

นอกจากตัวอย่างข้างต้นแล้ว ยังมีอีกหลายกรณีที่อาจนับได้ว่าประชาไทถูกคุกคามในฐานะสื่อ เช่น การฟ้องร้องด้วยข้อหา ม. 112 ต่อคอลัมนิสต์ที่เผยแพร่ผลงานบนเว็บไซต์ประชาไท การที่หน่วยงานของกระทรวงมหาดไทยเรียกตรวจสอบบัญชีย้อนหลังร่วม 20 ปี ในช่วงที่มีการชุมนุมต่อต้านรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ หรือกระทั่งการมาเยี่ยมสำนักงานโดยเจ้าหน้าที่รัฐทั้งในและนอกเครื่องแบบหลายครั้ง

“สิ่งที่เกิดขึ้นกับประชาไทไม่ได้กระทบแค่องค์กรเรา แต่อาจกระทบถึงเพื่อนสำนักข่าวอื่นๆ ที่เขามองว่า ประชาไทคือผู้บุกเบิกการทำประเด็นอ่อนไหว ผู้สื่อข่าวที่ใช้ประชาไทเป็นเพดานว่า ประเด็นไหนทำข่าวได้ สิ่งที่เกิดขึ้นกับประชาไทอาจทำให้เขากลัว ไม่กล้านำเสนอ ซึ่งเหล่านี้กระทบต่อความหลากหลายของข้อมูลข่าวสารที่ประชาชนจะได้รับ” เทวฤทธิ์ กล่าว

คุณค่าของประชาไท

ศ.ดร. ไทเรล ฮาร์เบอร์คอร์น ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน ชี้ว่า คุณค่าของประชาไทตลอด 20 ปีที่ผ่านมาคือการกล้านำเสนอในสิ่งที่สำนักข่าวอื่นๆในประเทศไทยไม่กล้า และเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดสื่อขนาดเล็กจำนวนมากตามมา

“ใน 20 ปีที่ผ่านมา ประชาไททำหน้าที่เป็นเสียงของคนเล็กคนน้อยในสังคมไทย ทั้งในการเสนอข่าว ทำข่าวเจาะ และเปิดโอกาสให้คนทั่วไปได้แลกเปลี่ยน ความกล้าหาญของประชาไท ทำให้สื่ออิสระขยายตัวอย่างมาก นอกจากนั้นการที่ประชาไทยังรายงานข่าวที่สื่ออื่นไม่กล้าแตะต้อง ทำให้สังคมไทยต้องเผชิญหน้ากับเรื่องที่จำเป็นต้องคุย” ศ.ดร. ไทเรล กล่าวกับเบนาร์นิวส์

ตลอด 20 ปี ประชาไท แทบจะเป็นสำนักข่าวไทยแห่งเดียวที่นำเสนอข้อเรียกร้องหรือข้อวิพากษ์-วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ การแก้ไขหรือยกเลิก ม. 112 ซึ่งเป็นประเด็นที่อ่อนไหวมากในสังคมไทย จนทำให้ถูกโจมตีจากฝ่ายอนุรักษ์นิยมว่าเป็น “สื่อล้มเจ้า”

กระทั่ง ในห้วงการชุมนุมเรียกร้องของกลุ่มราษฎร ระหว่างปี 2563-2566 สำนักข่าวอื่นๆจึงกล้านำเสนอในประเด็นเดียวกับประชาไท กระทั่งปัจจุบัน ข้อเรียกร้องเกี่ยวกับ การแก้ไข-ยกเลิก ม. 112 ก็ได้กลายเป็นเรื่องที่ถูกใช้ในเวทีดีเบตของแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2566

“ประเด็นสิทธิต่างๆ สถาบันกษัตริย์ เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสาธารณะ เราเลี่ยงไม่ได้ แม้บางกลุ่มอยากเอาไว้แค่ในพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ แต่เมื่อเราบอกว่า เราปกครองในระบอบประชาธิปไตย เราต้องยึดกุมหลักการใหญ่ว่า ประชาชนเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการตัดสินใจ ระบบนิเวศข้อมูลข่าวสารถ้ามันลื่นไหล เป็นธรรม และมีอิสระ ก็จะทำให้ประชาชนมีดุลยพินิจเพียงพอ”​ เทวฤทธิ์ ในฐานะบรรณาธิการบริหารประชาไท กล่าว

BEN09062.jpg

บรรยากาศการทำงานของสำนักข่าวประชาไท เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 (นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์)

นอกจากทำหน้าที่ในฐานะสื่อแล้ว ประชาไทยังพยายามเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับสื่อมวลชนอื่นๆ ด้วยการจัดอบรมสื่อมวลชน ออกบัตร และปลอกแขนยืนยันตัวตนให้กับสื่อพลเมือง และสื่ออิสระ เพื่อความปลอดภัยในการทำข่าวการชุมนุมในช่วงปี 2563-2566

“ช่วงความขัดแย้งทางการเมืองแรงๆ เราพยายามไม่ให้เสรีภาพในการสื่อสารถูกลดทอน มันมีนักข่าวที่เขาไม่ได้ถูกคุ้มครองโดยสมาคมสื่อ เราออกปลอกแขนประชาไท ออกบัตรนักข่าวให้ โดยมีเงื่อนไขว่า สื่อเหล่านั้นต้องทำงานตามหลักวิชาชีพของประชาไท และส่งงานให้ประชาไท อย่างน้อยที่สุด สิ่งที่เราทำได้ก็จะเป็นเกราะคุ้มกัน เป็นโครงสร้างพื้นฐานให้เขามีหลังพิงบ้าง” เทวฤทธิ์ ระบุ

ตลอด 20 ปี แม้จะไม่เป็นที่รักของเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ผลงานของประชาไทยังเป็นที่ประจักษ์ในแวดวงสื่อมวลชน และสิทธิมนุษยชน สามารถผลิตผลงานคว้ารางวัลมากมาย ไม่ว่าจะเป็น AFP's Kate Webb Prize, ข่าวอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดีเด่น สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, สื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน Amnesty International, Hellman-Hammett Award ของ Human Rights Watch และอื่นๆ

สุชาดา จักรพิสุทธิ์ อดีตบรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี และศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง(TCIJ) ชี้ว่า ในยุคสมัยที่สำนักข่าวกระแสหลักไม่มีความกล้าหาญเพียงพอ สิ่งที่ประชาไทถือปฏิบัติจึงมีความสำคัญกับสังคมไทย

“ชาวบ้านด่าสื่อกันเยอะ ก็สมควรถูกด่า เพราะคนเขารู้สึกว่า สื่อไม่ทำหน้าที่อย่างที่ควรทำ ยิ่งในสถานการณ์การเมืองเข้มข้น คนยิ่งคาดหวังให้สื่อเป็นพื้นที่ตรงกลาง แต่สื่อส่วนใหญ่ทำตัวผิดไปจากที่คาดหวัง ไม่เป็นปากเป็นเสียงให้ประชาชน ซึ่ง 20 ปีที่ผ่านมา ประชาไททำหน้าที่ตรงนี้ เป็นปากเป็นเสียงให้คนตัวเล็กตัวน้อย พูดปัญหาของผู้คน มีความกล้าหาญพอที่เราจะเรียกเขาได้เต็มปากว่า สื่อมวลชน” สุชาดา กล่าว

ในรายงานของ นักข่าวไร้พรมแดน(Reporters Without Borders-RWB) ปี 2566 ระบุว่า ดัชนีเสรีภาพสื่อของประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 106 จาก 180 ประเทศที่ถูกจัดอันดับ ย้อนกลับไปในปี 2547 ซึ่งประชาไทก่อตั้ง ไทยเคยอยู่สูงถึงอันดับ 59 จาก 167 ประเทศที่ถูกจัดอันดับ

“การจับกุมนักข่าวประชาไทในช่วงที่ผ่านมา สะท้อนว่าเสรีภาพสื่อมวลชนของไทยนั้นกำลังเข้าสู่ช่วงที่อันตราย การจับและยัดข้อกล่าวหากับนักข่าวที่กำลังทำหน้าที่เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นเป็นอย่างยิ่ง เป็นอีกเรื่องที่ควรต้องพูดคุยกันอย่างจริงจัง” ศ.ดร. ไทเรล ระบุ

จรณ์ ปรีชาวงศ์ และรุจน์ ชื่นบาน ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง