ไทย: นักข่าวบีบีซีและชายอังกฤษเกษียณในไทย ปฏิเสธข้อกล่าวหาหมิ่นประมาท

ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2017.02.23
กรุงเทพฯ
TH-Head-620 โจนาธาน เฮด (กลาง) ผู้สื่อข่าวบีบีซี พูดกับผู้เข้าร่วมงานของสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย ในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2559
เบนาร์นิวส์

เมื่อวันพฤหัสบดี ผู้สื่อข่าวบีบีซีชาวอังกฤษประจำกรุงเทพฯ ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาฐานหมิ่นประมาททางอาญา อันเป็นผลมาจากรายงานข่าวของเขาเกี่ยวกับชายคนหนึ่งที่สูญเสียทรัพย์สินบนเกาะภูเก็ต เพราะถูกโกง

นายโจนาธาน เฮด ผู้สื่อข่าวบีบีซีประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถูกฟ้องในข้อหาหมิ่นประมาท โดยผู้ยื่นฟ้องคือ นายประทวน ธนารักษ์ ทนายความชาวไทย ผู้ที่ปรากฏตัวในข่าวโทรทัศน์ของบีบีซี ซึ่งเฮดเป็นผู้บรรยายข่าว และออกอากาศเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2558 นอกจากนี้ เขายังถูกฟ้องฐานฝ่าฝืนพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ด้วย

หากถูกตัดสินว่ามีความทั้งสองข้อหา เขาอาจถูกจำคุกสูงสุดไม่เกินเจ็ดปี ซึ่งต่างจากประเทศอื่นๆ ส่วนใหญ่ ที่คดีหมิ่นประมาทเป็นความผิดทางแพ่ง แต่ในประเทศไทย ข้อหาหมิ่นประมาทอาจถือเป็นความผิดอาญาได้

จำเลยร่วมในคดีนี้คือ นายเอียน แรนซ์ ชาวอังกฤษ อดีตผู้อำนวยการบริษัทอสังหาริมทรัพย์ สำหรับชาวต่างชาติที่เกษียณแล้ว และย้ายมาอยู่ในประเทศไทย เขาถูกตั้งข้อหาหมิ่นประมาททางอาญา ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกินสองปี

“เราไม่ได้ทำอะไรผิด แต่ผมกลับต้องมาขึ้นศาล เพราะถูกฟ้องโดยคนคนหนึ่ง ไกลจากที่ที่อยู่ในขณะนี้ เพื่อความปลอดภัยของผม มาศาลแห่งหนึ่ง ในจังหวัดที่ผมไม่รู้สึกว่าปลอดภัย และต้องเผชิญกับข้อหาอาญาที่มีโทษถึงจำคุก” แรนซ์บอกแก่เบนาร์นิวส์

เฮดและแรนซ์ได้ไปปรากฏตัวในศาลจังหวัดภูเก็ต เมื่อวันพฤหัสบดี

“เราปฏิเสธข้อกล่าวหาโดยสิ้นเชิง” แรนซ์กล่าว “ต้องไม่ลืมว่าผมมาเมืองไทยพร้อมกับการลงทุนจำนวนมาก นั่นคือ ผมเป็นนักลงทุนชาวต่างชาติ”

เฮดบอกแก่เบนาร์นิวส์ว่า เขาให้ความเห็นอะไรไม่ได้เกี่ยวกับคดีนี้ แต่สำนักข่าวที่เขาทำงานอยู่ ออกแถลงการณ์ฉบับหนึ่งให้การสนับสนุนรายงานข่าวของเขา

“บีบีซีขอยืนยันการรายงานข่าวของเรา และเราจะสู้ข้อกล่าวหาที่มีต่อผู้สื่อข่าวของเราโดยกระบวนพิจารณาเหล่านี้ เราเชื่อมั่นอย่างเต็มที่ในกระบวนการยุติธรรมของไทย และเราตั้งใจที่จะยืนยันความบริสุทธิ์ของผู้สื่อข่าวของเรา เราจะไม่มีแถลงการณ์ใด ๆ อีก หลังจากนี้” แถลงการณ์ฉบับดังกล่าวที่เปิดเผยแก่สื่อระบุ

เรื่องราวของจำเลยร่วม

ในปี 2544 นายเอียน แรนซ์ ได้สมรสกับหญิงชาวไทยคนหนึ่งชื่อ สุดา ทั้งคู่มีบุตรด้วยกันสามคน ตามรายงานข่าวยาว 10 นาที ของบีบีซี ซึ่งออกอากาศเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2558 ข่าวนั้นพูดถึงนายประทวน ทนายความด้วย แต่ไม่ได้ระบุชื่อของเขา

พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทยในขณะนั้น ได้เริ่มโครงการหนึ่งที่มีชื่อว่า “Thailand Elite” เพื่อดึงดูดชาวต่างชาติที่มีฐานะร่ำรวยให้ย้ายมาอยู่ในเมืองไทย โดยอนุญาตให้เป็นเจ้าของที่ดินขนาดเล็กได้ ปกติแล้วประเทศไทยไม่อนุญาตให้ชาวต่างชาติที่มาอาศัยในเมืองไทยเป็นเจ้าของที่ดินได้ ชาวต่างชาติจำนวนมากจึงตั้งบริษัทขึ้นมาหรือแต่งงานกับหญิงไทย

แรนซ์บอกแก่เบนาร์นิวส์ว่า เขามีธุรกิจสองอย่าง มีบ้านหนึ่งหลังสำหรับครอบครัว และบ้านอีกหลังที่เขามีแผนว่าจะต่อเติมให้ใหญ่ขึ้น สำหรับครอบครัวของเขา เขากล่าวว่าภรรยาของเขา[ในขณะนั้น] ปลอมแปลงเอกสารฉบับหนึ่ง โดยลบชื่อเขาในฐานะผู้อำนวยการบริษัทออก และขายทรัพย์สินของเขา

การฉ้อโกงดังกล่าวมีผู้เกี่ยวข้องหลายคน และนายประทวน ทนายความ ไม่ใช่ตัวการสำคัญ แรนซ์กล่าว

“แต่การที่เขาใช้อาชีพของเขาในฐานะทนายความ ยืนยันว่าเอกสารปลอมนั้นเป็นเอกสารจริง [นี่] ทำให้สำนักทะเบียนธุรกิจในจังหวัดภูเก็ตลบชื่อผมออก ในฐานะผู้อำนวยการบริษัทนั้น และทำให้ผมไม่สามารถปกป้องและกู้คืนทรัพย์สินที่ถูกคนฉ้อฉลขโมยไปจากบริษัท และถูกโอนอย่างผิดกฎหมายผ่านทางสิทธิไถ่ทรัพย์สิน” เขากล่าว

“ธุรกิจทั้งหมดเหล่านั้นถูกขโมยไปโดยการฉ้อโกง และทรัพย์สินต่าง ๆ ของผมถูกนำไปขายให้แก่ผู้ให้เงินกู้ในราคาที่ต่ำมาก” แรนซ์เสริม

สิ่งที่ไม่ดี

เมื่อวันพฤหัสบดี องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ (HRW) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในนครนิวยอร์ก วิพากษ์วิจารณ์ข้อกล่าวหาที่ฟ้องชาวอังกฤษทั้งสองคนในประเทศไทย

“นี่เป็นคดีประเภทที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เพราะเหตุใดการมีกฎหมายหมิ่นประมาททางอาญาจึงเป็นสิ่งที่ไม่ดี การขู่ที่จะจำคุกคนเหล่านั้น ในสิ่งที่ผู้นั้นพูด หรือในกรณีนี้คือ การรายงานข่าว มักเป็นสิ่งที่ถูกใช้ไปในทางที่ผิดได้ง่ายมาก โดยผู้ที่มีเวลาและเงินทองที่จะเล่นเกมกีฬาเลือดทางกฎหมาย ด้วยการลากคนเข้าสู่กระบวนการศาลของไทย” แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการ HRW ประจำภูมิภาคเอเชีย กล่าวในแถลงการณ์ฉบับหนึ่ง

“ประเทศไทยยังควรแก้ไขพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ทันที เพื่อให้สอดคล้องกับหน้าที่ของรัฐบาลในการปกป้องเสรีภาพในการแสดงออก ภายใต้กติการะหว่างประเทศของสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งประเทศไทยเป็นรัฐภาคี”

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง