รองนายกรัฐมนตรี ปฏิเสธเหตุระเบิดที่เกาะสมุย เกิดจากกลุ่มก่อการร้ายภาคใต้

โดย ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2015.04.17
TH-kohsamui-620 ตำรวจท้องที่ยืนหน้าเขตห้ามเข้า ณ จุดเกิดเหตุบริเวณที่จอดรถ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล เกาะสมุย จ. สุราษฎร์ธานี ประเทศไทย 11 เมษายน 2558
เอเอฟพี

คดีระเบิดที่เกาะสมุยนี้ ไม่เกี่ยวข้องกับผู้ก่อเหตุในจังหวัดชายแดนใต้ รองนายกรัฐมนตรีกล่าวกับผู้สื่อข่าว ที่กรุงเทพฯ ในวันศุกร์ที่ 17 เมษายน 2558

เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประเทศไทย เปิดเผยว่า ผู้ต้องสงสัยทั้ง 3 คน มีส่วนพัวพันกับการก่อเหตุระเบิดครั้งนี้ และอยู่ในการควบคุมตัวของตำรวจ ทั้งสามมีพื้นเพว่า มาจากชายแดนภาคใต้ และกลุ่มคนร้ายนี้ก็ได้ขับรถ 3 คัน ออกมาจากพื้นที่ดังกล่าว มายังเกาะสมุย

“ไม่ใช่เกิดขึ้น โดยทางสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มาขยายพื้นที่ มันไม่ใช่ ไม่ใช่นะครับ" รองนายกรัฐมนตรี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ กล่าวที่ทำเนียบรัฐบาล

“และเวลานี้ ที่เกาะสมุย ทางตำรวจก็กำลังรีบดำเนินการ และเรารู้ตัวหมดแล้ว“ พลเอก ประวิตร กล่าวเสริม ระหว่างการแถลงข่าวถึงความสำเร็จของรัฐบาลทหาร ซึ่งถือว่าอยู่ในช่วงเดือนแรกๆของการบริหาร การจัดระเบียบประเทศของรัฐบาล

ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่ได้กล่าวว่า รถกะบะที่ใช้ในการวางระเบิด ที่ห้างสรรพสินค้าที่เกิดเหตุ ได้ถูกขโมยมาจากจังหวัดยะลา ซึ่งเป็นหนึ่งจังหวัดชายแดนภาคใต้ และถูกนำมาวางระเบิด เมื่อวันที่ 10 เมษายน ที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล จนมีผู้ได้รับบาดเจ็บเจ็ดคน

พลเอก ประวิตร ไม่ได้กล่าวถึง รถที่นำมาใช้วางระเบิด เพียงกล่าวเป็นนัย ว่าการก่อเหตุในสถานที่ท่องเที่ยวที่ไ​​ด้รับความนิยมอย่างสูงนั้น เป็นแรงผลักดันทางการเมือง

"เรากำลังเร่งรีบในการที่จะดำเนินการ เพราะมีขบวนการมากมายโยงใยกันจากใต้ไปเหนือจากเหนือไปใต้ วางแผนทุกอย่าง” พลเอก ประวิตร กล่าว

รัฐบาลสมัยทักษิณ ได้หมดบทบาทหลังการรัฐประหาร เมื่อเก้าปีที่ผ่านมา แล ะเมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว ทหารได้เข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือน ซึ่งนำโดยน้องสาวของเขา ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

การก่อเหตุโยงถึงชายแดนใต้

แหล่งข่าวซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงในหน่วยเก็บกู้ทำลายวัตถุระเบิด (อีโอดี) ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้ความเห็นกับเบนาร์นิวส์ว่า เป็นระเบิดที่มีการดัดแปลงมา มีลักษณะเหมือนกับระเบิดที่ใช้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

เป็นวัตถุระเบิดแสวงเครื่องที่ประกอบใส่ถังแก๊สหุงต้ม ขนาดบรรจุ 50-80 กิโลกรัม และจุดชนวนโดยใช้โทรศัพท์มือถือ

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่พบรถที่นำมาก่อเหตุที่สมุยเป็นคันที่สาม กลุ่มก่อการร้ายได้ขับรถสามคันจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไปยังท่าเรืออำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี

โดยจอดรถสองคันไว้ที่ท่าเรือเฟอร์รี่ ขณะที่รถคันที่สามที่ใช้เป็นรถขึงระเบิด ได้ขึ้นเรือเฟอร์รี่ ข้ามฟากไปยังเกาะสมุย ตำรวจท้องที่กล่าวกับเบนาร์นิวส์

พล.ต.เกื้อกูล อินนาจักร ผู้บังคับการจังหวัดทหารบกสุราษฏร์ธานี เผยความคืบหน้าเหตุคาร์บอมบ์ ลานจอดรถห้างเซ็นทรัลเฟสติวัลสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ว่าเจ้าหน้าที่ได้สอบสวน พนักงานรักษาความปลอดภัย 7 คน ได้ปล่อยตัวไป 4 คน และยังควบคุมอีก 3 คนไว้ หลังจากค้นบ้านพัก ของพนักงานรักษาความปลอดภัยของห้าง พบหลักฐานสำคัญว่า 1 ใน 3 คน มีส่วนเชื่อมโยงคดี

แต่ยังไม่ได้ตั้งข้อหา ผู้ต้องสงสัย  พล.ต.เกื้อกูล กล่าว

ผู้เชี่ยวชาญเล็งกลุ่มก่อความไม่สงบที่ไม่มีอุดมการณ์ รับจ้างวางระเบิดแต่ไม่ได้เกี่ยวกับการต่อสู้เพื่ออัตลักษณ์ของตน อาจเกี่ยวพัน

พลเอก ประวิตร รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในการก่อเหตุระเบิดครั้งนี้ ไม่ใช่การขยายพื้นที่ขึ้นทางเหนือ ของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนภาคใต้ ตามที่หลายแหล่งข่าวคาดการณ์

ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา มีผู้เสียชีวิตจากเหตุความขัดแย้งกว่า 6,000 คน ส่วนใหญ่เป็นคนอาศัยในพื้นที่มุสลิม-มาเลย์ และใช้ภาษามาเลย์เป็นภาษาท้องถิ่น

"ถ้าเป็นการก่อการร้ายของกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนมาเลย์ ก็เท่ากับเป็นการขยายผลที่สำคัญต่อความขัดแย้งในภาคใต้ของประเทศไทย" ซาคารี อะบูซา (Zachary Abuza) ผู้เชี่ยวชาญด้านการเคลื่อนไหวของผู้ก่อการร้ายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เขียนไว้ในบทความที่ตีพิมพ์ใน เดอะดิโพลแม็ท เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา

"ในช่วงเวลาเพียงหกปี นับตั้งแต่มกราคม 2552  มีการก่อเหตุวางระเบิดมากกว่า 1,000 ครั้ง แต่ก็ยังคงเกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนใต้มลายู ในนราธิวาส ยะลา ปัตตานี และรวมถึง 4 อำเภอใน สงขลา ผู้ก่อความไม่สงบ มักไม่ออกนอกพื้นที่" เขากล่าวเสริม

พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าหน่วยปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ ประจำจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า เขาเชื่อว่า "กลุ่มก่อความไม่สงบที่ไม่มีอุดมการณ์" จากเหตุการณ์ความไม่สงบทางภาคใต้ อาจจะถูกจ้างมาให้ก่อเหตุ

ในขณะเดียวกัน เหตุวางระเบิดเมื่อศุกร์ที่แล้ว วันที่ 10 เมษายน คือวันครบรอบ 5 ปีเหตุการณ์ผู้ชุมนุมเสื้อแดงถูกสลายการชุมนุม ด้วยวิธีรุนแรงจนเป็นเหตุให้ ผู้ชุมนุมเสียชีวิตหลายราย ในปี 2553

"กลุ่มก่อความไม่สงบที่ไม่มีอุดมการณ์ ที่เกี่ยวโยงกับนักการเมือง น่าจะทำเพื่อเงิน" พล.ท.นันทเดช กล่าวกับเบนาร์นิวส์

นักการเมืองระดับชาติที่มีการเกี่ยวโยงกับตระกูลชินวัตร เป็นที่รู้กันดีว่า มักมีการจ้างวาน พวกกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบที่ไม่มีอุดมการณ์ เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ทางการเมืองของพวกตน พล.ท.นันทเดช กล่าว

แต่ในมุมมองของเขา กลุ่มก่อการร้ายหลัก ไม่น่าที่จะขยายภารกิจอุดมการณ์ของพวกเขานอกภูมิภาค

"พวกก่อความไม่สงบที่มีอุดมการณ์จะไม่ข้ามเส้นเขตแดน เพราะเพื่อนพ้องชาวมุสลิมของพวกเขาในชายแดนภาคใต้ อาจตกเป็นผู้สงสัยของเจ้าหน้าที่ และถูกตรวจสอบ" เขากล่าวเสริม

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง