8 ลูกเรือประมงไทยที่ติดค้างบนเกาะในอินโดนีเซียได้กลับบ้านแล้ว
2016.11.04
กรุงเทพฯ

ปัญหาลูกเรือประมงไทยติดเกาะที่ประเทศอินโดนีเซีย เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานานเกือบ 20 ปีแล้ว แต่เป็นที่สนใจของสาธารณชนวงกว้างเมื่อปี 2557 มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (แอลพีเอ็น) องค์กรเอ็นจีโอด้านแรงงาน โดยมีสำนักงานอยู่ที่อำเภอมหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร ได้ทำการช่วยเหลือลูกเรือกลับมาเป็นครั้งแรก จำนวน 60 คน และได้เปิดเผยข้อมูลว่า มีลูกเรือชาวไทย เมียนมา กัมพูชา และลาว ที่ตกเป็นเหยื่อของนายหน้าค้ามนุษย์ และถูกทารุณบนเรือจำนวนมาก บางรายถูกบังคับให้ทำงานเกินเวลา ไม่ได้รับค่าแรง บางรายถูกปล่อยทิ้งไว้บนเกาะ ป่วย และเสียชีวิตโดยไม่ได้กลับบ้านอีก
จากการเปิดเผยข้อมูลของลูกเรือชาวไทยที่ได้รับการช่วยเหลือกลับบ้านในช่วงปี 2557 ทำให้ทราบว่า มีลูกเรือบางรายที่ป่วยจนทำงานไม่ไหว หรือทะเลาะกับคนคุมเรือ แล้วถูกโยนลงทะเลเสียชีวิต สภาพความเป็นอยู่บนเรือประมงหลายลำโหดร้าย จนทำให้ลูกเรือที่รอดชีวิตกลับมามีอาการทางจิต
การช่วยเหลือของแอลพีเอ็น และการติดตามทำข่าวของช่อง 3 ทำให้ภาครัฐของไทยหันมาให้ความสำคัญกับปัญหานี้ จนเกิดการประสานงานกับรัฐบาลอินโดนีเซียเพื่อตั้งศูนย์รับแจ้งข้อมูลลูกเรือไทยในประเทศอินโดนีเซีย นำมาสู่การส่งตัวลูกเรือกลับเป็นจำนวนกว่า 2,000 คน อย่างไรก็ดี แอลพีเอ็นประเมินว่า มีลูกเรือชาวไทย เมียนมา กัมพูชา และลาวที่ถูกหลอก หรือถูกปล่อยทิ้งไว้บนเกาะในประเทศอินโดนีเซียกว่า 30,000 ราย
และในวันศุกร์ที่ 4 พฤศจิกายน 2559 นี้ มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน(แอลพีเอ็น) และศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย(ศปมผ.) ประสานงานหน่วยงานตรวจคนเข้าเมืองอินโดนีเซียได้นำลูกเรือประมงชาวไทย 8 คน ซึ่งติดอยู่บนเกาะในประเทศอินโดนีเซียกลับบ้าน เผยลูกเรือประมงบางรายติดอยู่ในอินโดนีเซียกว่า 10 ปี ด้านญาติของลูกเรือ เรียกร้องรัฐบาลไทยให้การช่วยเหลือในการพาลูกเรือกลับมามากกว่านี้
นายพงษ์เพชร ทิชา อายุ 46 ปี ชาวร้อยเอ็ด ลูกเรือประมงที่ติดอยู่บนเกาะตวน ประเทศอินโดนีเซียนานถึง 14 ปี เปิดเผยต่อเบนาร์นิวส์ว่า รู้สึกดีใจมากที่ได้กลับบ้าน เพราะไม่คิดว่าจะมีโอกาสได้กลับจริงๆ หลังจากต้องไปติดอยู่บนเกาะตวน เนื่องจากเรือประมงที่ตนไปทำงานด้วยถูกจับ และปล่อยลูกเรือทั้งหมดทิ้งอยู่บนเกาะ
“เพื่อนชวนไปลงรถเรือที่เพชรบุรี เรือนั้นไม่มีเงินเดือนเป็นเรืออวนลอย จับได้เยอะเราก็ได้เยอะ เรือเข้าไปสัปดาห์เดียว เรือรบ(อินโดนิเซีย)ก็เข้าจับ แล้วก็ลากมาที่เกาะตวน แล้วพวกผมก็ถูกปล่อยทิ้ง ผมไม่รู้จะหาทางกลับมาเองยังไง ติดต่อทางบ้านก็ไม่ได้ เราออกไปจากเกาะไม่ได้ เราไม่มีเอกสาร ไม่มีบัตรประชาชน ประมาณสัก 3 อาทิตย์ที่แล้วเจอแอลพีเอ็น รู้ว่าพวกเขาไปช่วยคนกลับมาเลยได้ทำเรื่องขอกลับ” นายพงษ์เพชรกล่าว
นายพงษ์เพชรเพิ่มเติมว่า บนเกาะตวนมีคนไทยติดอยู่ 28 คน แอลพีเอ็นไปพบและได้ดำเนินเรื่องเพื่อช่วยเหลือแล้ว โดยส่งกลับประเทศไทยกลุ่มแรก 10 คนเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2559 ที่ผ่านมา กลุ่มที่ 2 จำนวน 8 คนในวันนี้ และกลุ่มที่เหลือจะตามกลับมาในอนาคต
รายชื่อลูกเรือที่กลับถึงประเทศไทยวันศุกร์นี้ทั้งหมด 8 คน ประกอบด้วย 1.นายพงษ์เพชร ทิชา 2.นายวิลัย จันทน์เทศ 3.นายอำนาจ กุลพรม 4.นายชัยณรงค์ บุญเกตุ 5.นายจักรพงษ์ ภูที 6.นายณรงค์ งานดี 7.นายอาชา เชิงเมือง และ 8.นายอองลี ไหวสันเทียะ
นายชนะ ยาพุทธา อายุ 53 ปี ชาวอุดรธานี ช่างประจำเรือประมงที่เคยติดอยู่บนเกาะตวนนาน 18 ปี ได้รับความช่วยเหลือเมื่อเดือนตุลาคม และมารับเพื่อนวันนี้ กล่าวต่อเบนาร์นิวส์ว่า หลังจากถูกปล่อยทิ้งไว้ที่ประเทศอินโดนีเซีย เขาเริ่มเรียนรู้ภาษาและทำงานรับจ้างต่างๆเพื่อเลี้ยงปากท้อง หลังจากนี้ตั้งใจว่าจะกลับไปทำนาที่อุดรธานีบ้านเกิด
“วันนั้น(วันที่ติดเกาะ)เขาจ่ายตังค์ผม ผมขึ้นไปซื้อของกำลังกลับมายังไม่ถึงเรือ รถตู้มาชนมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่ผมนั่งมา ผมไปฟื้น 7 โมงเช้าของอีกวันพร้อมสายน้ำเกลืออยู่ที่แขน พอออกจากโรงพยาบาลผมไปที่ท่า เรือออกไปแล้ว มีคนบอกให้ผมรอ รอ 1-2-3 เดือน เป็น 18 ปีเลย ตอนแรกคิดว่าไม่ได้กลับมาแล้ว” นายชนะกล่าว
“ผมเป็นคนไทยกลุ่มแรกจากเกาะตวนที่ได้กลับมาไทยวันที่ 21 ตุลาคมที่ผ่านมา วันนี้มารอรับเพื่อน 18 ปีที่แล้วผมลงเรืออวนลากที่สมุทรปราการ ไปถึงอินโดใต้ใช้เวลา 20 วัน ทำงานอยู่บนเรือเป็นช่าง 1 ปี ทำงานเป็นกะ ช่วงกลางวันนอน กลางคืนผมคุมเครื่อง เจ้าของเรือเป็นจีน ไต๋เป็นคนไทย คนงานส่วนมากเป็นเขมร มีคนไทย 3 คน” นายชนะเพิ่มเติม
นายสมัคร ทัพธานี เจ้าหน้าที่มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (แอลพีเอ็น) เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ยังมีลูกเรือประมงชาวไทยที่ต้องการการช่วยเหลือติดอยู่ที่อินโดนีเซียกว่า 40 ราย กระจายอยู่ในหลายเกาะ เช่น เกาะตวน เกาะเบนจิน่า และเกาะอัมบน ซึ่งแอลพีเอ็นจะได้ประสานงานเพื่อทำการช่วยเหลือในอนาคตต่อไป
“ที่ช่วยเหลือมา 8 คนวันนี้ คือชุดที่ 2 ในรอบ 3 เดือนนี้ คนไทยเหลือประมาณ 30-40 คนที่สำรวจพบแล้ว แต่ยังรอการช่วยเหลือกลับ เราพยายามให้ชาวบ้านส่วนต่างๆพยายามประสานกันไว้ นอกจากแรงงานไทยแล้ว ยังมีแรงงานข้ามชาติซึ่งเป็นแรงงานสัญชาติพม่ามากกว่า 10 คน ยังมีคนลาวและกัมพูชาด้วย” นายสมัครกล่าว
“ตั้งแต่ปีเดือนกันยายน 2557 เราช่วยมาแล้ว 200 กว่าคน จากการช่วยเหลือของรัฐบาล 2,000 กว่าคน เฉพาะคนไทย หลังจากนั้น(ปี 2557)ศปมผ.ตั้งศูนย์รายงานตัวเพื่อช่วยเหลือคนไทยเพื่อนำกลับมา” นายสมัครเพิ่มเติม
นายสมัครเปิดเผยเพิ่มเติมว่า ลูกเรือประมงไทยที่ติดอยู่บนเกาะในประเทศอินโดนีเซีย สามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภทดังนี้ 1.สมัครใจไปทำงาน แต่ถูกหลอกให้อยู่บนเรือและถูกทิ้งไว้บนเกาะ 2.สมัครใจไปทำงาน แต่เรือโดนจับจึงถูกปล่อยทิ้ง 3.ถูกหลอกไปทำงานโดยการมอมยาหรือจับตัว และ 4.ปัญหาอื่นๆ
นางเยาวลักษณ์ ชาวสกลนครพี่สาวของจักรพงศ์ ภูที หนึ่งในลูกเรือประมงที่ได้รับการช่วยเหลือกลับมาในวันศุกร์นี้ เปิดเผยต่อเบนาร์นิวส์ว่า รู้สึกดีใจมากที่น้องชายได้กลับบ้านเนื่องจากขาดการติดต่อไปกว่า 10 ปี ต่อจากนี้อยากให้รัฐบาลให้การช่วยเหลือชาวประมงไทยที่ยังตกค้างอยู่ เพราะเข้าใจดีถึงความรู้สึกของครอบครัวของคนที่ตกเป็นเหยื่อ
“น้องชายออกเรือไปเมื่อประมาณ 11-12 ปีที่แล้ว รู้ว่าเขาจะไปทำงานบนเรือประมงแล้วก็หายไปเลย ขาดการติดต่อไปเลย ก็รออย่างเดียว จนกระทั่งแอลพีเอ็นประกาศตามหาญาติของลูกเรือที่ช่วยเหลือได้ในเฟซบุ๊ค เราก็เลยรู้ข่าว ก็ดีใจมาก เพราะคิดว่าน้องชายเสียชีวิตไปแล้ว เพราะขาดการติดต่อไปนาน” นางเยาวลักษณ์กล่าว
“รัฐบาลไม่เคยส่งหน่วยงานไหนไปลุยป่าตามหาคนไทยที่โน่นเลย ก็อยากให้รัฐบาลให้การช่วยเหลือมากกว่านี้ เพราะยังมีคนไทยอีกมากที่ติดอยู่ที่นั่น ส่วนคนที่กลับมาแล้ว อยากให้ดำเนินการช่วยเหลือเรียกร้องค่าชดเชยให้” นางเยาวลักษณ์เพิ่มเติม