เอ็นจีโอ: แรงงานทาสบนเรือประมงยังรอการช่วยเหลือ

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2018.06.05
กรุงเทพฯ
180605-TH-union-seafarer-1000.jpg กลุ่มสหภาพลูกเรือประมงไทยและข้ามชาติ ขณะแถลงข่าวที่สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย วันที่ 5 มิถุนายน 2561
นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์

ในวันอังคารนี้ มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (Labor Rights Promotion Network - LPN) จัดงานแถลงข่าวก่อนถึงวันต่อต้านการค้ามนุษย์ ประจำปี 2561 ที่จะถึงในวันถัดไปว่า ปัจจุบัน แรงงานทาสบนเรือประมงยังคงรอการช่วยเหลืออยู่กว่าสองพันราย แม้ว่าแอลพีเอ็นจะสามารถช่วยเหลือได้แล้วเกือบหกร้อยราย โดยในสามเดือนแรกของปี 2561 นี้ ได้ให้การช่วยเหลือแล้ว 75 คน

น.ส.ปฏิมา ตั้งปรัชญากูล จากมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน กล่าวในงานแถลงข่าวที่ สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทยว่า แรงงานจากประเทศไทย ลาว กัมพูชา และเมียนมา ถูกพาลงเรือประมง บางรายไม่ได้รับค่าจ้าง บางรายถูกบังคับให้ทำงานมากกว่าวันละ 10 ชั่วโมง บางรายไม่ได้กลับบ้าน หรือเสียชีวิตขณะทำงาน

“พบแรงงานประมงที่ถูกละเมิด 2,554 คน นับตั้งแต่ปี 2557-2561 โดย 326 คน เป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ คนที่อยู่ และไม่ได้กลับบ้านนานที่สุด 32 ปี แรงงานพม่าและกัมพูชาที่ผ่านมา ยังไม่ได้รับค่าแรงค้างจ่าย” น.ส.ปฏิมากล่าวเพิ่มเติม

น.ส.ปฏิมา ระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2557 ถึงเดือนมีนาคม 2561 มีลูกเรือประมงที่แอลพีเอ็นให้การช่วยเหลือแล้ว 593 คน และยังมีลูกเรือประมงอีกจำนวนมากที่รอการช่วยเหลือ แอลพีเอ็นเชื่อว่าการช่วยเหลือลูกเรือ และสนับสนุนให้อดีตเหยื่อกลับไปช่วยคนที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์เป็นวิธีที่ดีที่สุดวิธีหนึ่ง ในการลดปริมาณการค้ามนุษย์ เนื่องจากเหยื่อจะเข้าใจปัญหาได้จริง และให้การตรวจสอบการทำงานขององค์กรที่ได้รับงบประมาณมาแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้วย

“เรามีข้อเสนอให้ภาคประชาสังคม คนไทย เมียนมา กัมพูชา และลาว ร่วมกันตรวจสอบการทำงานขององค์กรระหว่างประเทศที่ได้งบประมาณมาแก้ปัญหาค้ามนุษย์ เพื่อให้งบประมาณเหล่านั้นได้ลงไปสู่ผู้ประสบปัญหาที่แท้จริง” น.ส.ปฏิมากล่าวเพิ่มเติม

นายชัยรัตน์ ราชปักษี อดีตลูกเรือที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ และผู้ก่อตั้งกลุ่มสหภาพลูกเรือประมงไทยและข้ามชาติ กล่าวว่า แม้ว่าจะมีการแก้ปัญหาการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, unregulated and unreported fishing – IUU Fishing) โดยรัฐบาลมาตลอด แต่กลุ่มสหภาพฯ ยังพบการบังคับใช้แรงงานเยี่ยงทาสอยู่

“กลุ่มสหภาพลูกเรือประมงไทยและข้ามชาติ ทำงานช่วยเหลือลูกเรือมากว่า 400 คน รอการช่วยเหลือติดตามประมาณ 200 คน ทางภาคใต้ของประเทศไทย และภาคเหนือของอินโดนีเซีย โดยไม่เคยได้รับการสนับสนุนเงินจากรัฐบาล และสมาคมนายจ้าง” นายชัยรัตน์กล่าว

จากการเปิดเผยข้อมูลของลูกเรือชาวไทยที่ได้รับการช่วยเหลือกลับบ้านในช่วงปี 2557 ทำให้ทราบว่า มีลูกเรือบางรายที่ป่วยจนทำงานไม่ไหว หรือทะเลาะกับคนคุมเรือ แล้วถูกโยนลงทะเลเสียชีวิต สภาพความเป็นอยู่บนเรือประมงหลายลำโหดร้าย จนทำให้ลูกเรือที่รอดชีวิตกลับมา มีอาการทางจิต

นายชัยรัตน์กล่าวเพิ่มเติมว่า กลุ่มสหภาพฯ เรียกร้องให้องค์กรสากล และรัฐบาลให้การช่วยเหลือแรงงานประมงทาสที่ยังตกค้างอยู่ และช่วยเหลือในการค้นหาศพของแรงงานที่เสียชีวิตในประเทศอินโดนีเซียด้วย

ด้านตัวแทนรัฐบาล นายธนพร ศรียากูล กล่าวในฐานะที่ปรึกษา พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ว่า ภาครัฐมีความพยายามที่จะแก้ปัญหาการค้ามนุษย์และแรงงานประมงมาตลอด แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหาแรงงานข้ามชาติถูกละเมิดยังเป็นปัญหาที่สำคัญ จึงเห็นว่าควรผลักดันให้เกิดสหภาพแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย เพราะเชื่อว่าจะเป็นแนวทางแก้ปัญหาที่สำคัญ

“ถ้าการรวมตัวของพี่น้องแรงงานข้ามชาติเป็นสิ่งที่ผิด คนเหล่านี้จะต้องรออีกกี่ปี ดังนั้นการรวมตัวของพี่น้องแรงงานข้ามชาติเป็นจุดเริ่มต้นในการยกระดับสู่สหภาพแรงงานประมง ผมพบว่าที่ผ่านมาเวลาเราพูดถึงสหภาพแรงงาน ภาครัฐมักจะเป็นอุปสรรค แต่พอมาถึงประเด็นจะเปิดให้พี่น้องแรงงานตั้งสหภาพได้ ปัญหากลับเป็นกระบวนการแรงงานของประเทศไทยเอง” นายธนพรกล่าว

นายธนพร เชื่อว่าการรวมตัวของแรงงานต่างชาติเป็นสหภาพแรงงาน จะเพิ่มอำนาจในการต่อรองกับนายจ้าง และลดปัญหาการถูกละเมิดรวมถึงปัญหาการค้ามนุษย์ที่เกิดขึ้นด้วย

การช่วยเหลือของแอลพีเอ็น และการติดตามทำข่าวของช่อง 3 ทำให้ภาครัฐของไทยหันมาให้ความสำคัญกับปัญหานี้ จนเกิดการประสานงานกับรัฐบาลอินโดนีเซียเพื่อตั้งศูนย์รับแจ้งข้อมูลลูกเรือไทยในประเทศอินโดนีเซีย นำมาสู่การส่งตัวลูกเรือกลับเป็นจำนวนกว่า 2,000 คน

อย่างไรก็ดี แอลพีเอ็นประเมินว่า ตัวเลขที่แท้จริงของลูกเรือชาวไทย เมียนมา กัมพูชา และลาว ที่ถูกหลอกหรือถูกปล่อยทิ้งไว้บนเกาะ ในประเทศอินโดนีเซียนั้นมีมากกว่า 30,000 ราย

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง