องค์กรสิทธิมนุษยชนเรียกร้องไทยออกกฎหมายว่าด้วยการใช้แรงงานบังคับ
2018.09.04
กรุงเทพฯ
ในวันอังคารนี้ องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ เรียกร้องให้รัฐบาลไทยออกกฎหมายเกี่ยวกับการใช้แรงงานโดยการบังคับเป็นกฎหมายเฉพาะ เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาแรงงานในภาคการประมงได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม ทางศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) และนายกสมาคมประมงแห่งประเทศไทย ปฏิเสธถึงความจำเป็นของกฎหมายเฉพาะนี้
เมื่อเดือนมกราคมปีนี้ ฮิวแมนไรท์วอทช์ ได้เปิดเผยรายงาน การใช้แรงงานบังคับและการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิอื่นๆ ต่อแรงงานในภาคประมงไทย แม้ว่ารัฐบาลจะให้คำมั่นสัญญาว่าจะปฏิรูปในทุกด้านก็ตาม โดยระบุว่า แรงงานข้ามชาติจากประเทศเมียนมา และกัมพูชา มักตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ ถูกบังคับให้เป็นแรงงานในเรือประมง ถูกขัดขวางไม่ให้เปลี่ยนนายจ้าง ไม่ได้รับค่าจ้างตามเวลา หรือได้รับค่าจ้างต่ำกว่าอัตราค่าแรงขั้นต่ำ
“ขณะที่ประเทศไทยสมควรได้รับเครดิตในการลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยการเกณฑ์แรงงานหรือแรงงานบังคับ ฉบับที่ 29 ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ แต่รัฐบาลควรจะดำเนินการต่อไป ด้วยการออกกฎหมายเป็นการเฉพาะออกมา ให้การใช้แรงงานโดยการบังคับเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เพราะการลองผิดลองถูกกับการกระทำผิดเช่นนี้ด้วยกฎหมายแรงงานที่มี ยังไม่เป็นการเพียงพอ” ฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการภาคพื้นแปซิฟิคของฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวต่อการแถลงข่าวที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย
ทางด้านนายมงคล สุขเจริญคณา นายกสมาคมประมงแห่งประเทศไทย ได้กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า ตนเองไม่ได้เห็นความสำคัญในเรื่องนี้ เพราะตั้งแต่ประเทศไทยได้รับใบเหลืองจากอียู จากความล้มเหลวในการป้องกันการทำประมงโดยผิดกฎหมายและแรงงานเป็นต้นมานั้น ทางประเทศไทยได้แก้ไขปัญหามาจนบรรลุผล
“ภาคประมงตกเป็นเหยื่อ เรื่องการเรียกร้องกฎหมาย ถือว่าประมงไม่ให้ความสำคัญ เพราะที่ผ่านมาทำถูกต้องแล้ว ตั้งแต่ปี 58 ถึง 61 ในภาคการประมง ไม่มีแรงงานบังคับแล้วร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะมีการตรวจละเอียดมาก จนแทบจะประกอบอาชีพไม่ได้” นายมงคล กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
ขณะที่ เจ้าหน้าที่ระดับสูงของ ศปมผ. ยืนยันว่า ทางการไทยได้วางมาตรการให้มีการตรวจสอบความถูกต้องของเรือ นายจ้าง และฝ่ายแรงงาน รวมถึงการรายงานการออกทำประมงต่อศูนย์ตรวจสอบ หรือ ไปโป้ (Port In - Port Out หรือ PIPO) โดยเชื่อว่า ไม่มีการใช้แรงงานบังคับในภาคการประมงอีกต่อไปแล้ว หากแรงงานนั้นเข้ามาถูกต้องตามกฎหมาย
“การตรวจเรือของไปโป้เป็นการสุ่มตรวจ หรือเป็นการตรวจโดยต้องมีเบาะแสหรือสิ่งบอกเหตุว่าเรือลำนี้มีความเสี่ยงที่จะทำผิด เรามีระบบการตรวจสอบอยู่ ถ้ามีแรงงานเข้ามาทำงานโดยไม่ถูกต้องตามระบบ แรงงานเหล่านี้จะไม่ได้ถูกบรรจุในบัญชีรายชื่อลูกเรือ” พล.ร.ท.วรรณพล กล่อมแก้ว รองหัวหน้าสำนักงานเลขานุการ ศปมผ. กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
จากรายงานการตรวจคดี ยอดคดีสะสมตั้งแต่ก่อตั้ง ศปมผ. เมื่อกลางปี 2558 จนถึงปัจจุบัน พบว่า คดีที่เกี่ยวกับแรงงานประมงและการค้ามนุษย์ซึ่งอาจคาบเกี่ยวกับแรงงานบังคับด้วย มีทั้งหมด 88 คดี เป็นคดีที่ถึงที่สุดแล้ว 42 คดี อยู่ในชั้นศาลอีก 31 คดี และชั้นอัยการเพื่อเตรียมส่งฟ้องต่อศาล 13 คดี และ อยู่ที่ขั้นพนักงานสอบสวนอีก 2 คดี
อย่างไรก็ตาม พล.ร.ท.วรรณพล กล่าวว่า อาจจะยังมีช่องว่างอยู่ในการตรวจเรือขนาดต่ำกว่า 30 ตันกรอสส์ ซึ่งเป็นเรือประมงขนาดเล็กที่จับสัตว์น้ำเพื่อการบริโภคภายในประเทศเท่านั้น
“ยังมีไหม ที่อาจจะหลุดรอด ตอบไม่ได้ว่ามันไม่มีร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะยังมีช่องว่าง ที่เรือขนาดต่ำกว่า 30 ตัน ซึ่งเป็นเรือขนาดเล็ก ไม่ต้องรายงานไปโป้ ซึ่งสัตว์น้ำที่จับได้ในเรือขนาดเล็กประเภทนี้เป็นสัตว์น้ำที่บริโภคภายในประเทศ ไม่ได้นำเข้าสู่ระบบเพื่อส่งไปยังโรงงานต่างประเทศ หรือโรงงานผลิตอาหารขายต่างประเทศ” พล.ร.ท.วรรณพล กล่าว
เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2558 อียูได้ออกใบเหลืองให้กับประเทศไทย เพราะล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาการทำประมงโดยผิดกฎหมาย ไม่มีการควบคุม และขาดการรายงาน (Illegal, Unregulated and Unreported Fishing – IUU Fishing) และประเทศไทยยังถูกกล่าวหาว่า ใช้แรงงานในการทำประมงโดยการบังคับ และการค้ามนุษย์ในภาคส่วนอื่นๆ จนทำให้กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา จัดให้ประเทศไทยอยู่ในระดับเทียร์-2 ที่ต้องเฝ้าระวัง ในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (Trafficking in Persons Report หรือ TIP) จนกระทั่งได้รับการยกระดับเป็นเทียร์-2 ในปีนี้
นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมประมงแห่งประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า มีเรือประมงพาณิชย์ในประเทศไทย ประมาณ 10,600 ลำ ที่ได้รับใบอนุญาต มีเรือที่จอดอยู่โดนล็อค 800 กว่าลำ เพราะไม่ผ่านการขอใบอนุญาต ทั้งนี้ ตามฐานข้อมูลเดิมของกรมเจ้าท่า ในช่วงเริ่มการแก้ปัญหาไอยูยู มีเรือประมงจดทะเบียนกว่า 42,000 ลำ ซึ่งประเทศไทยยังขาดแรงงานในภาคการประมงอีก 42,000 ตำแหน่ง
ในปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวระบุว่า รัฐบาลมีมาตรการแก้ไขปัญหาแรงงาน โดยอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานได้ ตามมาตรา 83 แห่งพระราชกำหนด (พรก.) การประมง พ.ศ. 2558 แต่ต้องผ่านการพิสูจน์สัญชาติและการอนุญาตทำงานจะหมดอายุในวันที่ 30 กันยายนนี้ จำนวนประมาณ 11,000 คน ให้มารายงานตัวต่ออายุการทำงานออกไปอีก 2 ปี จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2563
โดยกระทรวงแรงงานระบุว่า ทางการเมียนมาตกลงจะจัดส่งแรงงานจำนวน 42,000 คน ที่ผ่านระบบเอ็มโอยู เข้ามาทำงานในประเทศไทย เพื่อแก้ไขปัญหาแรงงานขาดแคลนในภาคประมง โดยคาดว่าแรงงานจำนวนดังกล่าวจะเดินทางเข้ามาทางด่านเกาะสอง จังหวัดระนอง ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยทางการไทยได้จัดตั้งศูนย์แรกรับและสิ้นสุดการจ้างในจังหวัดระนอง เพื่ออำนวยความสะดวกแรงงานกลุ่มดังกล่าว