ไทยยินดีสหรัฐฯ ปรับสถานภาพปราบปรามค้ามนุษย์ขึ้นเป็น เทียร์ 2
2022.07.20
กรุงเทพฯ

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และเจ้าหน้าที่รัฐบาล แสดงความยินดีที่สหรัฐอเมริกาได้จัดอันดับสถานการณ์การค้ามนุษย์ของไทย ในปี 2565 ให้อยู่ในกลุ่มที่ 2 (Tier 2) ซึ่งดีขึ้นจากปีที่แล้วหนึ่งลำดับ เนื่องจากมีการสอบสวนดำเนินคดีผู้กระทำผิดมากขึ้น ขณะที่ องค์กรเอ็นจีโอไทยและนานาชาติต่างแสดงความผิดหวัง โดยระบุว่ามีหลักฐานปรากฏว่า ประเทศไทยยังปล่อยให้มีการกดขี่แรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะในภาคการประมงอย่างกว้างขวาง
เมื่อช่วงดึกของวันอังคารที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ ประจำปี 2565 (Trafficking in Persons Report หรือ TIP) โดยระบุว่า สหรัฐฯ เห็นความพยายามของรัฐบาลไทย จึงยกระดับจากกลุ่มที่ 2 เฝ้าระวัง (Tier 2 Watch List) ขึ้นเป็นกลุ่มที่ 2
หลังการประกาศรายงานดังกล่าว ในวันพุธนี้ นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขอบคุณผู้ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการต่อต้านการค้ามนุษย์ในไทยทุกคน และยืนยันว่ารัฐบาลจะยังให้ความสำคัญกับเรื่องนี้
“นายกรัฐมนตรีกำหนดนโยบายโดยให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับแก้ไขปัญหาต่อต้านการค้ามนุษย์ กำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ เดินหน้าต่อต้านการค้ามนุษย์อย่างจริงจัง ปกป้อง คุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามหลักสิทธิมนุษยชนที่ไทยให้ความสำคัญมาโดยตลอด โดยไทยพร้อมร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อขจัดการค้ามนุษย์และการบังคับใช้แรงงานในทุกรูปแบบ” นายธนกร กล่าว
ทั้งนี้ กระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ระบุในรายงานว่า ประเทศไทยได้เลื่อนชั้นเพราะในปี พ.ศ. 2564 นั้น ทางการไทยได้สอบสวนดำเนินคดีค้ามนุษย์มากขึ้น
รายงานระบุว่า ในปี 2564 ไทยได้ทำคดีการค้ามนุษย์ 188 คดี กับผู้ต้องสงสัย 125 ราย กำลังสอบสวน 82 ราย และมีผู้ที่ถูกตัดสินลงโทษแล้ว 75 ราย โดยในนั้น 97 เปอร์เซ็นต์ถูกลงโทษจำคุกตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป ขณะที่ปี 2563 ไทยดำเนินคดีค้ามนุษย์เพียง 133 คดี มีผู้ต้องหา 302 ราย ทำการสอบสวนแล้ว 233 ราย
ปี 2564 ศาลยังได้ยึดทรัพย์สินจากขบวนการค้ามนุษย์ไปกว่า 1.61 แสนล้านบาท และคณะทำงานปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต (Thailand Internet Crimes Against Children - TICAC) ได้ดำเนินการสอบสวนคดีเกี่ยวกับการละเมิดเด็กบนอินเทอร์เน็ต 79 คดี จากที่ปี 2563 ดำเนินการ 94 คดี
อย่างไรก็ตาม รายงานระบุว่า “รัฐบาลไทยยังไม่ได้ดำเนินการถึงระดับมาตรฐานขั้นต่ำในแง่มุมอื่นอีกหลายเรื่อง... แม้ว่ามีรายงานว่ามีการใช้แรงงานต่างด้าวโดยการบังคับในหลากหลายอุตสาหกรรมในประเทศไทย แต่กลับมีการตรวจสอบสถานที่ทำงานและสัมภาษณ์แรงงานอย่างด้อยประสิทธิภาพ จนไม่สามารถระบุผู้ที่เป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ได้”
ในเรื่องนี้ พล.ต.อ. รอย อิงคไพโรจน์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) และผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศพดส.ตร.) เปิดเผยว่า การยกระดับในครั้งนี้เป็นผลพวงจากความพยายามในการทำงานของเจ้าหน้าที่ และจะมุ่งมั่นทำหน้าที่ต่อไป
“ทาง ศพดส.ตร.และภาคีเครือข่ายต่าง ๆ จะดำเนินการถึงกรณีดังกล่าวอย่างจริงจัง อย่างต่อเนื่อง เพื่อจะได้อยู่ในอับดับที่ดีกว่า ที่ได้รับการจัดอันดับในครั้งนี้ต่อไป” พล.ต.อ. รอย กล่าวกับผู้สื่อข่าว
นักสิทธิแรงงานผิดหวัง
ประเทศไทยเคยถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 2 ของรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ ในปี 2551 และ 2552 ก่อนถูกปรับลดให้อยู่ในอันดับที่ 2 เฝ้าระวัง ช่วงปี 2553–2556 และถูกลดสู่อันดับ 3 ในปี 2557 ซึ่งเป็นอันดับต่ำสุด หลังจาก พลเอก ประยุทธ์ จันท์โอชา ยึดอำนาจจากรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทำให้ไทยสูญเสียสิทธิประโยชน์ด้านการค้าบางอย่าง รัฐบาลจึงพยายามแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ และสามารถกลับขึ้นสู่ระดับที่ 2 ในปี 2561 ก่อนจะถูกลดไปอยู่ในระดับที่ 2 เฝ้าระวังอีกครั้งในปี 2564 ที่ผ่านมา
หลังจากการปรับระดับสถานภาพขึ้นให้กับประเทศไทยในปีนี้ องค์กร Global Labor Justice-International Labor Rights Forum (GLJ-ILRF) และองค์กรพันธมิตรอื่น ๆ ในคณะทำงานด้านอาหารทะเล (Seafood Working Group - SWG) ได้แสดงความไม่เห็นด้วยกับการเลื่อนอันดับให้กับประเทศไทย รวมทั้งไต้หวันในปีนี้
“เรารู้สึกกังวลใจและผิดหวังที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ได้ให้รางวัลกับรัฐบาลไทยและไต้หวัน ทั้ง ๆ ที่ทั้งสองล้มเหลวในการดำเนินการตามมาตรฐานขั้นต่ำในการกำจัดการค้ามนุษย์ เรามีเอกสารหลักฐานของการข่มเหงเอารัดเอาเปรียบแรงงานต่างชาติ และแรงงานที่ถูกบังคับขืนใจในภาคประมงในสองประเทศ และเราจะยังคงร่วมมือกับพันธมิตรนานาชาติ และในแต่ละประเทศ เพื่อขจัดสิ่งเหล่านี้ และช่วยเหลือแรงงานทั้งหมดให้มีสิทธิมีเสียงเพื่อตัวเอง มีสหภาพแรงงาน และมีอำนาจต่อรอง” คิมเบอร์ลีย์ โรโกวิน เจ้าหน้าที่ประสานงานด้านการรณรงค์ในภาคการประมงของ GLJ-ILRF กล่าวในเอกสารข่าว
ด้าน นางสุธาสินี แก้วเหล็กไหล จากเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (Migrant Workers Rights Network - MWRN) ซึ่งเป็นองค์กรพันธมิตรกล่าวว่า ประเทศไทยยังไม่ควรได้รับการปรับเลื่อนสถานะเช่นกัน
“เพราะประเทศไทยยังคงจำกัดสิทธิขั้นพื้นฐานของแรงงานข้ามชาติ ในการมีเสรีภาพในการสมาคมและการเจรจาต่อรองร่วม มนุษย์ทุกคนไม่ว่าชาติใดต่างมีสิทธิเสรีภาพในการรวมตัวกัน เป็นสหภาพ เป็นสมาคม เพื่อนำไปสู่การเจรจาต่อรอง การให้สิทธิดังกล่าวและโอกาสในการเจรจาต่อรองจะช่วยลดปัญหาความยัดแย้งทางสังคม ลดปัญหาจากการตกเป็นเหยื่อจากการค้ามนุษย์ รัฐบาลไทยจะต้องรับประกันสิทธิในเสรีภาพในการสมาคมและการเจรจาต่อรองร่วม เพื่อทำให้งานเป็นงานที่มีคุณค่า” นางสุธาสินี กล่าว
นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา มอบรางวัลยกย่องผู้ทำงานต่อต้านการค้ามนุษย์ (TIP Hero Award) หนึ่งในนั้นคือ นางอภิญญา ทาจิตต์ ระหว่างพิธีเผยแพร่รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ ประจำปี 2565 ที่กระทรวงการต่างประเทศ กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา วันที่ 19 กรกฎาคม 2565 (เอพี)
นางอภิญญา ทาจิตต์ รับรางวัล TIP Heroes จาก รมว. บลิงเคน
นอกจากนี้ ในงานเดียวกัน นางอภิญญา ทาจิตต์ รองผู้อำนวยการ ศูนย์อภิบาลผู้เดินทางทางทะเล (Stella Maris) สังฆมณฑลจันทบุรี ยังได้รับเลือกให้รับรางวัล TIP Heroes จากนายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ เพราะได้อุทิศตนในการต่อสู้กับปัญหาการค้ามนุษย์ในไทยมานานกว่า 7 ปี
นางอภิญญา ได้ช่วยเหลือแรงงานในอุตสาหกรรมประมงในไทย อินโดนีเซีย กัมพูชา เมียนมา และบังกลาเทศ จำนวนหลายร้อยคน รวมทั้งยังเป็นผู้สร้างความตระหนักรู้ถึงปัญหาแรงงานเด็ก โดยการเดินทางไปบรรยายให้แก่เด็กกว่า 10,000 คนทั่วประเทศในแต่ละปี
“การค้ามนุษย์ทั่วโลกควรลดลง มันไม่ใช่ปัญหาของรัฐบาลเท่านั้น แต่ทุกคนควรมีส่วนร่วมและดูแลปัญหานี้ และกำจัดมันให้หมดไป ขจัดปัญหานี้ให้หมดไปจากทั่วทุกมุมโลก” นางอภิญญา กล่าวกับผู้สื่อข่าวเบนาร์นิวส์ หลังการรับรางวัลที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ในกรุงวอชิงตัน ดีซี เมืองหลวงของสหรัฐอเมริกา