เพื่อนเรียกร้องขอสิทธิประกันไผ่ ดาวดิน คดีแชร์ข่าวบีบีซี

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2017.01.10
กรุงเทพฯ
TH-supporters-1000 นายรังสิมันต์ โรม (คนกลาง) และตัวแทนประชาชนผู้ห่วงใยเดินทางไปยังสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ วันที่ 10 ม.ค. 2560
เบนาร์นิวส์

ในวันอังคาร (10 มกราคม 2560) นี้ กลุ่มประชาชนผู้ห่วงใยเดินทางไปยังสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องสิทธิการประกันตัวให้กับนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน นักศึกษากลุ่มประชาธิปไตยใหม่อีสาน ที่ถูกจับกุมตัวในคดีการเผยแพร่รายงานข่าวของสำนักข่าวบีบีซีไทย (BBC Thai) เรื่อง “พระราชประวัติกษัตริย์พระองค์ใหม่ของไทย”

นายรังสิมันต์ โรม นักศึกษากลุ่มประชาธิปไตยใหม่ เปิดเผยว่า ประชาชนกว่า 3,600 คน ร่วมกันลงชื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัวให้กับนายจตุภัทร์ผ่านเว็บไซต์ change.org เนื่องจากเห็นว่า การเพิกถอนสิทธิประกันตัวของนายจตุภัทร์เป็นการละเมิดสิทธิ และเป็นการตีความเกินขอบเขตกฎหมาย

“การที่ศาลอ้างว่า ผู้ต้องหาไม่ได้ลบข้อความที่ถูกกล่าวหาในสื่อสังคมออนไลน์ การอ้างเหตุว่าผู้ต้องหาได้แสดงออกบนสังคมออนไลน์ในเชิงสัญลักษณ์ เย้ยหยันอำนาจรัฐ ถือเป็นการตีความที่เกินต่อตัวบทของกฎหมาย” นางรังสิมันต์กล่าว

นายจตุภัทร์ ถูกจับกุมตัวที่จังหวัดชัยภูมิ ในวันที่ 3 ธันวาคม 2559 หลังการเผยแพร่รายงานข่าวของสำนักข่าวบีบีซีไทย (BBC Thai) เรื่อง “พระราชประวัติกษัตริย์พระองค์ใหม่ของไทย” บนเฟซบุ๊คส่วนตัว โดยเจ้าหน้าที่ระบุว่า การกระทำของนายจตุภัทร์ อาจเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ก่อนที่นายจตุภัทร์จะได้รับประกันตัวด้วยวงเงิน 4 แสนบาท ในวันถัดมา

กระทั่งวันที่ 22 ธันวาคม 2559 ศาลมีคำสั่งถอนสิทธิการประกันตัว โดยให้เหตุผลว่านายจตุภัทร์ มีพฤติกรรมยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน และเย้ยหยันอำนาจรัฐ ปัจจุบัน นายจตุภัทร์ถูกฝากขังอยู่ที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่น


นางอังคณา นีละไพจิตร รับหนังสือเรียกร้องสิทธิการปล่อยตัวไผ่ ดาวดิน จากตัวแทนกลุ่มประชาชนผู้ห่วงใย 10 ม.ค. 2560 (เบนาร์นิวส์)

นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะตัวแทนรับหนังสือเปิดเผยว่า กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจะดำเนินการสอบถามข้อมูลไปยังคณะกรรมการสอบสวน แต่จะไม่ก้าวล่วงอำนาจศาล

“กรณีของไผ่ และกลุ่มอีสานใหม่ ตอนนี้อยู่ระหว่างการเปิดสอบของคณะกรรมการด้านสิทธิพลเมือง พ่อของไผ่ก็ได้ยื่นหนังสือให้ตรวจสอบเจ้าหน้าที่กรณีไม่ได้รับความยุติธรรมเรื่องสิทธิประกันตัว ทั้งหนังสือร้องเรียนของพ่อ และคนที่ห่วงใย จะได้ส่งต่อให้เจ้าหน้าที่ แต่ว่าอำนาจหน้าที่ของกรรมการสิทธิก็จะทำได้ตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ คงไม่สามารถแทรกแซงศาลยุติธรรมได้” นางอังคณา กล่าวหลังรับหนังสือร้องเรียน

ด้านนายกฤษฎางค์ นุชจรัส ทนายความของนายจตุภัทร์เปิดเผยต่อเบนาร์นิวส์ผ่านโทรศัพท์ว่า ปัจจุบัน คณะทนายความและครอบครัวของนายจตุภัทร์กำลังปรึกษากันว่า จะดำเนินการอย่างไรให้นายจตุภัทร์ได้รับสิทธิปล่อยตัวชั่วคราว เพื่อเข้าสอบไล่ในวันที่ 17 มกราคม 2559 ที่จะถึงนี้

ขณะเดียวกัน พ.ต.อ.ภูมี อีคะละ พนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรเมืองขอนแก่น เปิดเผยต่อเบนาร์นิวส์ว่า ปัจจุบัน คดีของนายจตุภัทร์อยู่ในขั้นตอนการสอบสวน โดยนายจตุภัทร์ถูกฝากขังในผัดที่ 3 และสามารถฝากขังได้สูงสุด 7 ผัด (84 วัน) ยังไม่ได้มีการส่งฟ้องคดีต่อศาล

ในวันเดียวกัน องค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้เชิญชวนให้ผู้สนับสนุนทั่วโลกเรียกร้องให้ทางการไทยปล่อยตัวนายจตุภัทร์ และยกเลิกข้อกล่าวหาของนายจตุภัทร์ เนื่องจากเชื่อว่า การกระทำของนายจตุภัทร์เป็นเสรีภาพในการแสดงออก และชุมนุมโดยสันติ

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง