ศาลฎีกาลดโทษคดี 112 สมยศ พฤกษาเกษมสุข เหลือจำคุก 6 ปี
2017.02.23
กรุงเทพฯ

ในวันพฤหัสบดี (23 กุมภาพันธ์ 2560) นี้ ศาลฎีกาอ่านคำพิพากษาตัดสินให้ลดโทษจำคุกนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข บรรณาธิการนิตยสารเสียงทักษิณ (Voice of Taksin) และนักเคลื่อนไหวสิทธิแรงงาน ตามคำตัดสินของศาลชั้นต้นที่ให้จำคุก 10 ปี เหลือจำคุก 6 ปี จากการเป็นผู้มีส่วนในการเผยแพร่บทความที่เข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยศาลเห็นว่า นายสมยศไม่ใช่ผู้เขียนบทความที่เป็นปัญหา และนายสมยศได้ถูกลงโทษมาระยะหนึ่งแล้วจึงตัดสินให้ลดโทษ ขณะที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ(OHCHR) ออกแถลงการณ์ถึงคำตัดสินครั้งนี้ว่า ยังรุนแรงเกินไป และเห็นควรให้มีการปล่อยตัวนายสมยศ
นายวสันต์ พานิช ทนายความของนายสมยศ เปิดเผยต่อเบนาร์นิวส์ว่า ในชั้นศาลคณะทนายความได้พยายามต่อสู้ในประเด็น ที่ว่านายสมยศไม่ใช่ผู้เขียนบทความ และในพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเผยแพร่นิยตสารไม่ได้ระบุว่า นายสมยศซึ่งมีชื่อเป็นบรรณาธิการของนิตยสารเสียงทักษิณซึ่งลงบทความที่เป็นปัญหา ต้องรับผิดชอบกับความผิดที่เกิดจากเนื้อหาของบทความ
“ที่เราต่อสู้คดีไปในชั้นอุทธรณ์ หลักเกณฑ์ของกฎหมายก็คือ เดิมมี พ.ร.บ.การพิมพ์ฯ อยู่ คือ บ.ก.ผู้พิมพ์โฆษณาต้องรับผิดในกฎหมายเดิม แต่ว่าในขณะนี้ พ.ร.บ.การพิมพ์ฯ ยกเลิกไปแล้ว เหลือ พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ฯ ซึ่ง บ.ก.ไม่ต้องรับผิด เราต่อสู้ว่าคุณสมยศไม่ต้องรับผิด เนื่องจากกฎหมายนั้นยกเลิกไปแล้ว” นายวสันต์กล่าว
“คุณสมยศไม่ใช่คนเขียนบทความนั้น เป็นคนอื่นเขียน บทความมากระทันหัน คุณสมยศเลยไม่ได้ตรวจละเอียด บทความก็ลงตีพิมพ์ ข้อต่อสู้ของเราก็คือ บ.ก.ไม่จำเป็นต้องรับผิด นอกจากได้ตรวจอ่านละเอียดแล้วปล่อยข้อความลงไป” นายวสันต์เพิ่มเติม
นายสมยศถูกกล่าวหาว่า กระทำความผิดเข้าข่ายหมิ่นเบื้องสูงตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วยการจัดพิมพ์ จัดจำหน่าย และเผยแพร่บทความ 2 ชิ้น คือ “แผนนองเลือด ยิงข้ามรุ่น” และ “6 ตุลาแห่ง พ.ศ. 2553” ในนิตยสารเสียงทักษิณ (Voice of Taksin) ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ และมีนาคม 2553 ตามลำดับ ซึ่งแม้บทความทั้ง 2 ชิ้น จะระบุนามปากกาผู้เขียนว่า “จิตร พลจันทร์” (นายจักรภพ เพ็ญแข) ก็ตาม
นายสมยศได้ถูกจับกุม ในวันที่ 30 เมษายน 2554 โดยถูกขังที่เรือนจำพิเศษ กรุงเทพฯ และได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวกว่าสิบครั้ง แต่ศาลปฏิเสธทุกครั้ง
ต่อมาเมื่อ 23 มกราคม 2556 ศาลชั้นต้นตัดสินว่า นายสมยศมีความผิดจากข้อกล่าวหาดังกล่าวจริง โดยตัดสินให้ลงโทษจำคุก 2 กรรม กรรมละ 5 ปี รวมเป็น 10 ปี ต่อมานายสมยศขออุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์มีคำตัดสินยืนตามศาลชั้นต้น จนกระทั่งวันพฤหัสบดีนี้ ศาลฎีกาตัดสินยืนความผิดนายสมยศตามศาลชั้นต้น แต่ให้ลดโทษลง โดยให้ลงโทษ 2 กรรม กรรมละ 3 ปี รวมเป็น 6 ปี
โดยศาลฎีกาให้เหตุผลของการลดโทษครั้งนี้ว่า ตามที่จำเลยได้ต่อสู้มา รับฟังได้ว่า จำเลยเป็นเพียงบรรณาธิการ มิใช่ผู้เขียนและยังให้ข้อมูลว่าใครเป็นผู้เขียน จำเลยยืนยันว่ามีความจงรักภักดี อีกทั้งเมื่อพิจารณาประกอบกับอาชีพ อายุ และประวัติของจำเลย ทั้งจำเลยก็ต้องโทษมาเป็นระยะเวลาพอควรแล้ว จึงมีความเห็นให้ลดโทษ
สำหรับโทษจำคุกดังกล่าว เมื่อรวมกับความผิดก่อนหน้าในข้อหาหมิ่นประมาท พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร ปี 2552 ซึ่งนายสมยศถูกตัดสินจำคุก 1 ปี ทำให้นายสมยศมีโทษจำคุกรวม 7 ปี ปัจจุบัน นายสมยศถูกจำคุกมาแล้ว 5 ปี 10 เดือน
หลังทราบคำตัดสินสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ได้ออกแถลงการณ์ระบุว่า สหประชาชาติยังเห็นว่าคำตัดสินลงโทษดังกล่าวมีความรุนแรงเกินไป และควรปล่อยตัวนายสมยศทันที
“เรายืนยันคำเรียกร้องเดิมคือการให้รัฐปล่อยตัวนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิแรงงาน และบรรณาธิการนิตยสารโดยเร็วที่สุด” แถลงการณ์ของ OHCHR ระบุ