ย้ายข้างก็ไม่รอด ศาลตัดสินคุกไบรท์ ชินวัตร 3 ปีครึ่ง คดี ม. 112

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2024.07.18
กรุงเทพฯ
ย้ายข้างก็ไม่รอด ศาลตัดสินคุกไบรท์ ชินวัตร 3 ปีครึ่ง คดี ม. 112 หนึ่งในนักกิจกรรมต่อต้าน ม. 112 ชูสัญลักษณ์สามนิ้ว นอกศาลอาญา กรุงเทพฯ เพื่อประท้วงการดำเนินคดีหมิ่นพระบรมเดชนุภาพ วันที่ 22 ธันวาคม 2564
แจ็ค เทย์เลอร์/เอเอฟพี

ศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาให้จำคุก นายชินวัตร จันทร์กระจ่าง หรือไบร์ท เมืองนนท์ เป็นเวลา 3 ปี 6 เดือน ไม่รอลงอาญา ในคดี ม. 112 ขณะที่ประชาชนรวมตัวยืนหนังสือต่อสภาผู้แทนราษฎร เรียกร้องนิรโทษกรรมคดีการเมืองทุกคดี ไม่เว้นคดี ม. 112 

“ศาลพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้อง ฐาน ม. 112 ลงโทษจำคุก 3 ปี ฐานดูหมิ่นศาลจำคุก 2 ปี ฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาจำคุก 2 ปี และฐานร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงฯ ปรับ 200 บาท รวมจำคุก 7 ปี ปรับ 200 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุกคนละ 3 ปี 6 เดือน ปรับ 100 บาท โดยไม่รอลงอาญา” ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผย

สำหรับคดีนี้ สืบเนื่องจาก วันที่ 28 กรกฎาคม 2565 ประชาชนได้จัดกิจกรรม “ยืนบอกเจ้าว่าเราโดนรังแก” ที่หน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัว บุ้ง และ น.ส. ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ หรือใบปอ นักกิจกรรมกลุ่มทะลุวัง ที่ถูกควบคุมตัวจากการทำโพลสำรวจความเดือดร้อนของประชาชนจากขบวนเสด็จฯ 

นอกจาก นายชินวัตรแล้ว ยังมีจำเลยอีกสองคน คือ นายเชน ชีวอบัญชา และ น.ส. เงินตา คำแสน ซึ่งเป็นผู้ร่วมกิจกรรมในวันดังกล่าว และถูกตัดสินโทษแบบเดียวกัน โดยทนายความของจำเลยทั้งหมดได้ยื่นขอประกันตัวเพื่อต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ โดยศาลจะใช้เวลาพิจารณาคำร้องดังกล่าว 2-3 วัน ระหว่างนี้ จำเลยจะถูกควบคุมตัวในเรือนจำ

ในกิจกรรมดังกล่าวมีการชูป้ายวิจารณ์ศาล รวมทั้งร้องเพลง “โชคดีที่มีคนไทย” ทำให้ต่อมา นายระพีพงษ์ ชัยยารัตน์ สมาชิกกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) ได้เข้าแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ นำไปสู่การดำเนินคดีกับจำเลยทั้งสามคน กระทั่งเริ่มสืบพยานในชั้นศาล เมื่อเดือนมิถุนายน 2567 โดยแม้ในชั้นสอบสวนจำเลยทั้งหมดจะให้การปฏิเสธ แต่ในชั้นศาลได้กลับคำให้การเป็นรับสารภาพ 

“นายชินวัตรเป็นผู้ร้องนำผ่านไมโครโฟน และยังปราศรัยระหว่างดนตรีบรรเลง อันล้วนมีข้อความเป็นความเท็จและเป็นการใส่ร้ายป้ายสีหมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อองค์พระมหากษัตริย์คือในหลวงรัชกาลที่ 9 และในหลวงรัชกาลที่ 10 เป็นการยุยง ปลุกปั่น ปลุกเร้าให้ประชาชนอื่นทั่วไปเมื่อได้ยินเกิดความเกลียดชัง เข้าใจผิดหรือเข้าใจความคลาดเคลื่อนต่อองค์พระมหากษัตริย์” ศูนย์ทนายฯ ระบุคำฟ้องของอัยการตอนหนึ่ง 

สำหรับ นายชินวัตร ได้เคลื่อนไหวในนามกลุ่มราษฎรนนทบุรี และเคยขึ้นปราศรัยในการชุมนุมของกลุ่มราษฎรหลายเวที ระหว่างปี 2563-2565 แต่แม้จะเคยปราศรัยวิจารณ์สถาบัน และกดดันให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ในปี 2566 นายชินวัตร ได้ไปช่วยหาเสียงให้กับผู้สมัครรับเลือกตั้ง สส. นนทบุรี ของพรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งส่ง พล.อ. ประยุทธ์ ชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 

และในเดือนมิถุนายน 2566 นายชินวัตร ได้ไปร่วมรับเสด็จในหลวง ร. 10 ที่ท้องสนามหลวง และเปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า รู้สึกสำนึกผิดกับสิ่งที่ได้ทำลงไปก่อนหน้านี้ โดยระบุว่า “ผมเกิดในผืนแผ่นดินไทย ใต้พระบรมโพธิสมภารของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็พร้อมที่จะปกป้องท่าน และพร้อมที่จะร่วมกับคนไทยทุกคนปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ต่อไป” 

อย่างไรก็ดี นายชินวัตรถูกดำเนินคดี ม. 112 จากการชุมนุมถึง 8 คดี โดยในนั้น 6 คดีมีคำพิพากษาของศาลไปแล้วโดย นายชินวัตรถูกตัดสินจำคุกรวม 12 ปี ปัจจุบัน ถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ 

ประชาชนร้องสภาฯ นิรโทษคดีการเมืองรวม ม. 112

“มันมีคนเจ็บปวดจริงจาก มาตรา 112 นี้ มีคนตายจริง ๆ และมีคนที่ตายทั้งเป็นอยู่ ณ ตอนนี้ อย่างล่าสุดที่พี่บุ้งต้องเสียชีวิตจากการถูกคุมขังคดีมาตรา 112 คดีทำโพลขบวนเสด็จ จุดเริ่มต้น ของการที่บุ้งถูกถอนประกัน และเสียชีวิต คือ มาตรา 112 แม้จะไม่มีพลังวิเศษจะฟื้นชีวิตกลับมาให้พวกเขาได้ แต่อย่างน้อย ๆ คุณมีอำนาจที่จะคืนความยุติธรรมให้กับพวกเขาได้” น.ส. ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือตะวัน ตัวแทนเครือข่ายกล่าว 

ในช่วงสายวันเดียวกัน ประชาชนหลายสิบคนในนามเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อ ตัวแทนคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พรบ.) นิรโทษกรรม เรียกร้องให้ นิรโทษกรรมให้กับผู้ต้องหา และจำเลยคดีการเมืองทุกคน ทุกคดี ไม่เว้นแม้แต่คดี ม. 112

IMG_0767.jpg
เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน 23 องค์กร ยื่นหนังสือถึง กมธ. เรียกร้องให้มีมตินิรโทษกรรมคดีมาตรา 110 และ 112 ที่รัฐสภา วันที่ 18 กรกฎาคม 2567 (แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย)

“การนิรโทษกรรมในครั้งนี้จำเป็นต้องรวมมาตรา 112 เข้าไปด้วย ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม เพราะถ้าหากไม่รวม ปัญหาความขัดแย้งในสังคมที่ทางรัฐบาลอยากให้มันคลี่คลายไป มันจะไม่จบลง ความขัดแย้งจะไม่ได้จบที่ มีการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ แต่มันจะจบลงจริง ๆ ก็ต่อเมื่อมันมีพื้นที่ในการพูดคุย ใช้เสรีภาพได้อย่างเสมอหน้ากัน” น.ส. ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือมายด์ ตัวแทนเครือข่ายฯ ระบุ 

ปัจจุบัน ร่าง พรบ. นิรโทษกรรมฯ อยู่ระหว่างการพิจารณาของ กมธ. วิสามัญ ตรา พรบ. นิรโทษกรรมฯ โดย มีร่าง พรบ.นิรโทษกรรมที่เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว 4 ฉบับ ประกอบด้วย ร่าง พรบ. นิรโทษกรรมที่ถูกเสนอโดยเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน ซึ่งมีคนเข้าชื่อมากกว่า 3.5 หมื่นรายชื่อ

“อยากให้การมาในครั้งนี้ของประชาชน มันสามารถส่งเสียงไปยังกรรมาธิการทุกท่านได้อย่างจริง ๆ และได้นำมาใช้ถกเถียงในการทำสรุปของคณะกรรมาธิการเพื่อเสนอต่อสภาในอนาคต” น.ส. ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส. กรุงเทพฯ พรรคก้าวไกล ตัวแทนรับหนังสือ กล่าว

ศูนย์ทนายฯ ระบุว่า ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2567 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองไปแล้วอย่างน้อย 1,954 คน จาก 1,297 คดี ในนั้นเป็นคดี ม. 112 อย่างน้อย 272 คน จาก 303 คดี 

เมื่อเดือนพฤษภาคม 2567 บุ้ง ทะลุวัง ผู้ต้องหาคดี ม. 112 จากการทำสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับขบวนเสด็จฯ ที่ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งถูกถอนประกันตัว ทำให้ถูกคุมขัง และอดอาหารเพื่อประท้วงสิทธิการประกันตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 ได้เสียชีวิตระหว่างการควบคุมตัว ทำให้การนิรโทษกรรมผู้ต้องหาคดี ม. 112 ถูกพูดถึงอีกครั้งในสังคม 

รุจน์ ชื่นบาน ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง