สถานทูตสหรัฐฯ ชี้แจงรายการทีวีซีรีส์ของซีบีเอสผลิตตามจินตนาการ

ทีมข่าวเบนานิวส์
2018.11.20
วอชิงตัน และกรุงเทพฯ
181119-TH-madam-620.jpg ทิม ดาลี นักแสดงนำชาย ในซีรีส์ Madam Secretary โพสท่าถ่ายภาพ ในเทศกาลภาพยนตร์โทรทัศน์ มอนติคาร์โล ครั้งที่ 58 ในกรุงโมนาโก วันที่ 17 มิถุนายน 2561
เอเอฟพี

สถานีโทรทัศน์ CBS ของสหรัฐอเมริกา ผู้ผลิตรายการทีวี โดยในซีรีส์ล่าสุดมีเนื้อหาเกี่ยวกับประเทศไทย ในลักษณะพาดพิงถึงสถาบันกษัตริย์ไทยโดยไม่ถูกต้อง และตำหนิการขาดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกในเมืองไทย ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นแก่เบนาร์นิวส์ หลังจากที่กระทรวงต่างประเทศไทยประท้วง ขณะที่สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ในกรุงเทพฯ ระบุว่า รายการของสถานีโทรทัศน์ซีบีเอส เป็นเพียงเรื่องแนวจินตนาการ ที่ไม่ได้สะท้อนทัศนะของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาที่มีต่อประเทศไทย

รายการทีวีซีรีส์ Madam Secretary หรือ ยอดหญิงแกร่งแห่งทำเนียบขาว เป็นทีวีโชว์แนวฟิคชั่นอิงการเมือง ตอนที่ชื่อว่า Ghosts ออกอากาศเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายนนี้ มีเนื้อหากล่าวถึงตัวละครหญิงชาวอเมริกันที่เกิดในเมืองไทย คือ ศ.รจนา อารักษ์ ที่เดินทางมายังประเทศไทย เพื่อการปาฐกถาในที่สาธารณะโดยพาดพิงถึงสถาบันกษัตริย์ไทยจนถูกจับกุมตัวในขณะกำลังพูดในงานปาฐกถา โดยมีนายเฮนรี แมคคอร์ด สามีของนางเอลิซาเบธ แมคคอร์ด รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งยังเป็นที่ปรึกษาประธานาธิบดีของสหรัฐฯ รวมทั้งเป็นแฟนเก่าของ ศ.รจนา ที่นั่งฟังอยู่ด้วย

จากนั้น นายเฮนรี ที่เดินทางมาเมืองไทย เพราะได้รับเชิญมาร่วมงานสโมสรสันนิบาตเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ได้ขอพระราชทานอภัยโทษจากพระมหากษัตริย์ไทยเป็นผลสำเร็จ แต่พระมหากษัตริย์ได้ทรงสวรรคตลงอย่างกระทันหัน ส่งผลให้การอภัยโทษสิ้นสุดลง และทั้งสองคนถูกจับกุมอีกครั้ง ในขณะจะเดินทางออกนอกประเทศ ทางการสหรัฐต้องส่งหน่วยปฏิบัติการพิเศษมาช่วยเหลือทั้งสองออกจากเรื่อนจำจตุจักร จนสามารถนำตัวกลับประเทศได้โดยปลอดภัย

อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศไทย ได้กล่าวในวันจันทร์ที่ผ่านมาว่า ได้สั่งการให้สถานเอกอัครราชทูตไทย ในกรุงวอชิงตัน ส่งหนังสือไปยังเครือข่ายทีวี CBS เพื่อแสดงความกังวลต่อเนื้อหารายการทีวีโชว์แนวฟิคชั่น Madam Secretary ที่มีเนื้อหาในลักษณะพาดพิงถึงสถาบันกษัตริย์ไทยโดยไม่ถูกต้อง และตำหนิการขาดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกในเมืองไทย

“กระทรวงการต่างประเทศได้สั่งการให้สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน แสดงข้อห่วงกังวลกับผู้ผลิตรายการ CBS ตอน Ghosts ว่าการทำหนังเช่นนี้ กระทบต่อความรู้สึกของคนไทยและหวังว่าในอนาคตผู้ผลิตรายการจะคำนึงถึงความละเอียดอ่อนในเรื่องนี้ด้วย” นางบุษฎี สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ ในวันจันทร์นี้

ทั้งนี้ นางบุษฎี กล่าวปฏิเสธเบนาร์นิวส์ในการให้รายละเอียดว่ารายการดังกล่าวมีความไม่เหมาะสมอย่างไร หากได้กล่าวกับสำนักข่าวเอเอฟพีไว้ว่า “ในตอนที่ชื่อว่า Ghosts มีการกล่าวถึงเรื่องที่ไม่เป็นจริงในเมืองไทยและสถาบันกษัตริย์ไทย ทำให้คนไทยที่ได้รับชมรู้สึกเป็นห่วงและไม่ชอบใจ”

เบนาร์นิวส์ ได้ติดต่อสำนักงานใหญ่ของสถานีซีบีเอส ที่สหรัฐอเมริกา วันอังคารนี้ เพื่อขอความเห็น แต่เจ้าหน้าที่แผนกสื่อของสถานีซีบีเอซปฏิเสธ ไม่ขอแสดงความคิดเห็นใดๆ

ด้านสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ในกรุงเทพฯ ได้กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า รายการของซีบีเอส เป็นเพียงเรื่องแนวจินตนาการ ที่ไม่ได้สะท้อนทัศนะของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาที่มีต่อประเทศไทย ไปในแนวทางเช่นนั้น

“รายการทีวีโชว์ เป็นเพียงงานแนวจินตนาการ เป็นการแสดงออกของผู้ผลิต ซึ่งไม่ได้สะท้อนทัศนะของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา” นางจิลเลี่ยน บอนนาร์โดซ์ โฆษกสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

“ดังที่คุณทราบ สหรัฐและไทยได้เฉลิมฉลองความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการครบรอบ 200 ปี ในปีนี้ ประเทศไทย เป็นคู่มิตรและพันธมิตรที่ยาวนานที่สุดในเอเชีย การมีความร่วมมืออย่างกว้างขวางในทุกด้าน มีประโยชน์ต่อทั้งสองประเทศ ต่อภูมิภาค และนอกเหนือภูมิภาค ความสัมพันธ์กับพระราชอาณาจักรไทย ยังเป็นความสัมพันธ์ที่สำคัญอันหนึ่งของเราในย่านเอเชีย สหรัฐอเมริกา ในฐานะมิตรประเทศและพันธมิตร ยังคงผูกพันธะกับบทบาทของประเทศไทย ในการนำพาภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ กลุ่มอาเซียน และเอเชียแปซิฟิค สู่ความมั่นคงและความก้าวหน้า” นางจิลเลี่ยน กล่าว

เบนาร์นิวส์ ได้สอบถามเจ้าหน้าที่กองบังคับการการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ถึงการดำเนินการต่อรายการดังกล่าว ซึ่งเจ้าหน้าที่ท่านหนึ่งกล่าวเพียงว่า ยังไม่ได้รับการสั่งการให้ดำเนินการใดๆ ขณะเดียวกันเบนาร์นิวส์ไม่สามารถติดต่อรัฐมนตรีกระทรวงดิจิตัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อขอข้อมูลได้

ทั้งนี้ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ายึดอำนาจการปกครองในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 จนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2561 มีผู้ถูกตั้งข้อหามาตรา 112 อย่างน้อย 94 คน และมีผู้ถูกตัดสินให้รับโทษจำคุก และถูกควบคุมตัวระหว่างกระบวนการพิสูจน์ความผิด 36 คน และมีผู้ที่ได้รับการปล่อยตัวระหว่างการพิจารณาคดี 13 คน

ในเรื่องการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้น พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด ได้กล่าวต่อเบนาร์นิวส์ ในครั้งที่ยังทำหน้าที่เป็นโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อ ปี 2560 ว่า รัฐบาลไทยไม่เห็นว่ากฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นปัญหาตามที่ชาวต่างชาติกังวล

“หลักการของมาตรา 112 ไม่ได้มีอะไรพิเศษไปกว่ากฎหมายเรื่องของการหมิ่นประมาท คือใครพูดจาให้ร้าย กล่าวเท็จ ใส่ความ ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ได้ ด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์ พระองค์ท่านทุกพระองค์ไม่เคยลงมาฟ้องร้องว่ามีใครกล่าวร้าย กล่าวเท็จทำให้ท่านเสียหาย ในฐานะคนไทยก็ต้องมีอะไรที่ปกป้องท่าน” พล.ท.สรรเสริญ กล่าว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง