ครบรอบ 40 ปี 6 ตุลาคม 2519
2016.10.06
กรุงเทพฯ

ในวันพฤหัสบดี(6 ตุลาคม 2559)นี้เป็นวันครบรอบ 40 ปีของการล้อมปราบนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่รวมตัวกันต่อต้านการเดินทางกลับประเทศ ของจอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 46 คน และภาพที่ชายนิรนามกำลังใช้เก้าอี้ฟาดร่างชายที่ถูกแขวนอยู่บนต้นมะขาม ซึ่งถ่ายโดยนายนีล ยูเลวิช ช่างภาพสำนักข่าวเอพี กลายเป็นภาพสะเทือนขวัญที่คนทั่วโลกรู้จัก
แม้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะผ่านมาถึง 40 ปีแล้ว แบบเรียนวิชาประวัติศาสตร์ระดับมัธยมศึกษาไม่ได้บรรจุเหตุการณ์ครั้งดังกล่าวลงไป แต่นิสิต-นักศึกษา และคนรุ่นปัจจุบันยังคงตระหนักดีถึงสิ่งที่เกิดขึ้น และมีการจัดกิจกรรมเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ครั้งนั้น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็เช่นกัน
คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้น ได้จัดกิจกรรม '6 ตุลา คนจุฬาฯมองอนาคต' โดยเชิญวิทยากรหลากหลายอาชีพมาเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 โดยได้เชิญ โจชัว หว่อง นักเคลื่อนไหวชาวฮ่องกงมาเป็นผู้พูดหลัก แต่เมื่อถูกห้ามเข้าประเทศไทย นายโจชัวจึงได้ส่งสัญญาณภาพจากเกาะฮ่องกงมาแทน
นายโจชัว หว่อง นักเคลื่อนไหวการเมืองชาวฮ่องกงกล่าวผ่านระบบอินเตอร์เน็ตมายังงานเสวนา โดยเล่าถึงประสบการณ์และระบุว่าเหตุผลที่เขาต้องเคลื่อนไหวทางการเมือง เพราะมีความเชื่อว่า คนรุ่นใหม่จะต้องอยู่กับสังคมไปอีกหลายปี จึงจำเป็นต้องมีส่วนขับเคลื่อนสังคมของพวกเขาเอง ให้ไปในทิศทางที่ดี และเหมาะสม
“คนหนุ่มสาวสามารถเป็นผู้นำการเรียกร้อง และต่อสู้ด้านประชาธิปไตย เสรีภาพและสิทธิมนุษยชนได้ และแม้จะไม่สามารถรู้ว่าไทย หรือฮ่องกงจะกลับคืนสู่ประชาธิปไตยเต็มที่ได้เมื่อใด แต่ด้วยความเป็นคนรุ่นใหม่ของคนหนุ่มสาว เวลาจะเข้าข้างพวกเรา” นายโจชัวกล่าว
“ทุกวันนี้พวกคุณ(ผู้มีอำนาจ-ผู้ใหญ่)เป็นผู้ปกครองประเทศกำหนดอนาคตของเราอยู่ แต่ในอนาคต สักวันเราจะเป็นคนกำหนดอนาคตของพวกคุณ” นายโจชัวระบุ
ก่อนสิ้นสุดการปาฐกถา นายโจชัวได้อวยพรให้ประเทศไทยสามารถกลับสู่เส้นทางของประชาธิปไตยโดยเร็ว
เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 กับสังคมปัจจุบัน
ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในวิทยากรของงานกล่าวว่า ปัจจุบัน เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ยังไม่ถือเป็นมรดกทางประวัติศาสตร์ของประเทศไทย เนื่องจากมองว่า สังคมไทยยังไม่เรียนรู้จากสิ่งที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์นี้ และเชื่อว่าเหตุการณ์ลักษณะคล้ายกันอาจวนกลับมาเกิดอีกครั้ง
“คำถามว่า(เหตุการณ์แบบ 6 ตุลาคม 2519 )จะเกิดขึ้นอีกไหม ผมว่าเกิด เพราะปัจจุบัน เหตุการณ์ทุกอย่างเหมือน 40 ปีที่แล้ว ประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ยังใช้คำเดียวกับตอนนั้น เพลงก็เพลงเดิม ทุกอย่างมันเดิมหมดเลย วันนี้เรื่องของ 6 ตุลา คนไม่รู้เยอะมาก คนที่เริ่มรู้ แต่ไม่เชื่อว่าจริงก็มี ของแบบนี้มันเกิดขึ้นได้ เราไม่รู้ว่าฝ่ายอำนาจนิยมกับฝ่ายประชาธิปไตยจะตีกันอีกกี่ครั้ง ในอดีตฝ่ายอำนาจนิยมยังปฏิวัติกันเองมาแล้ว” ดร.เจษฎากล่าว
ดร.เจษฎาเพิ่มเติมว่า หากสังคมเรียนรู้และเข้าใจสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์อย่างเต็มที่ 6 ตุลาคม 2519 จะกลายเป็นบทเรียนอันยิ่งใหญ่ที่สังคมจะเรียนรู้จากมัน และเชื่อว่าการวิพากษ์-วิจารณ์การเมืองควรเป็นเรื่องที่คนทุกคนสามารถทำได้ เพื่อเรียนรู้และทำความเข้าใจกันและกัน
นายวิญญ วงศ์สุรวัฒน์ พิธีกรและผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ออนไลน์กล่าวว่า ถ้าหากไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบเดียวกับ 6 ตุลาคม 2519 อีก สังคมหรือรัฐบาลจำเป็นต้องมอบความยุติธรรมให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ทางการเมือง
“ไม่ว่าจะกับคนตุลา พฤษภาทมิฬ คนเสื้อแดงหรือ กปปส. ก็ตามมันต้องมีความยุติธรรมและต้องมีคนที่ออกมารับผิดชอบ แต่เท่าที่ผ่านมาผมก็ไม่ค่อยเห็นความยุติธรรมที่คนส่วนใหญ่รู้สึกว่ามันแฟร์ แล้วถ้าถามว่าเหตุการณ์นั้นจะเกิดขึ้นอีกไหมมันก็น่าจะมี ตราบใดที่ความยุติธรรมไม่เกิดขึ้น มาตรฐานเดียวกันไม่ถูกใช้กับคนทุกคน” นายวิญญูกล่าว
นายวิญญูเพิ่มเติมว่า การที่คนบางกลุ่มสามารถยอมรับกับการใช้ความรุนแรงกับผู้ที่เห็นต่างได้ เป็นเรื่องที่น่ากลัวกับสังคม และรุนแรงพอๆกับการลงมือด้วยตนเองเพื่อฆ่าผู้ที่เห็นต่างในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519
นายโตมร สุขปรีชา บรรณาธิการนิตยสารจีเอ็มกล่าวว่า การป้องกันไม่ให้เกิดการทำร้าย-ฆ่ากันด้วยความเห็นต่างนั้น สังคมจำเป็นต้องทำความเข้าใจกันและกัน และไม่พยายามผลักผู้ที่เห็นต่างเป็นฝ่ายตรงข้ามของตน
“... มันก็ง่ายมากที่จะเกิดความรุนแรง เพราะมันเกิดความเป็นอื่น หรือว่าลดความเป็นมนุษย์ของคนที่คิดไม่เหมือนเรา เราจะเห็นว่าอีกฝั่งมีผี สิ่งที่เรายึดถือเป็นความดี อีกฝั่งนึงเป็นความชั่ว มันก็ง่ายมากที่จะเกิดความเกลียดชัง” นายโตมรกล่าว
นายโตมรยังระบุอีกว่า สื่อมวลชนมีส่วนสำคัญมากกับการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับสังคม และทำให้สังคมมีความเข้าใจซึ่งกันและกัน
เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2019
เหตุการณ์เดินขบวนเรียกร้องรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของกลุ่มนักศึกษาเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516 และกระแสสังคมที่ไม่ต้องการรัฐบาลทหารในขณะนั้นส่งผลให้จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีขณะนั้น จอมพลประภาส จารุเสถียร และพันเอกณรงค์ กิตติขจรต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ
ในเวลาไล่เลี่ยกันเกิดการเคลื่อนไหวของลัทธิคอมมิวนิสต์ในประเทศลาว เวียดนาม และกัมพูชา เริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น และความรู้เรื่องระบบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์เริ่มเป็นที่รับรู้ของสังคมไทย เกิดการจัดตั้งกลุ่มต่อต้านคอมมิวนิสต์หลายกลุ่มในประเทศไทย
ในต้นปี 2519 ประเทศไทยเริ่มเกิดการนัดหยุดงาน การชุมนุมใหญ่หลายครั้งเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และสินค้าราคาแพง รัฐบาลหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมชเผชิญหน้ากับการเคลื่อนไหวโดยประชาชนหลายครั้ง
การวางแผนเดินทางกลับประเทศไทยของจอมพลประภาส จารุเสถียรในเดือนสิงหาคม 2519 นำไปสู่การชุมนุมคัดค้านและเกิดการปะทะกันของฝ่ายรัฐและประชาชนจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 2 คน บาดเจ็บกว่า 60 คน
19 กันยายน 2519 จอมพลถนอม กิตติขจรได้เดินทางกลับเข้าประเทศไทย ทำให้เกิดการประท้วงต่อต้านครั้งใหญ่ที่สนามหลวงโดยนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ธรรมศาสตร์ มหิดล ม.กรุงเทพ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมถึงนักเรียนโรงเรียนเพาะช่าง และประชาชนทั่วไป ในขณะเดียวกันมีประชาชนบางกลุ่ม ที่มองว่าการที่นักศึกษารวมตัวประท้วงนั้นเป็นเพราะมีความเชื่อลัทธิคอมมิวนิสต์
ความเห็นที่แตกต่างนำไปสู่คดีฆาตกรรมพนักงานการไฟฟ้า 2 ราย ซึ่งร่วมปิดโปสเตอร์ประท้วงฯที่ตำบลพระประโทน จังหวัดนครปฐม โดยคนร้ายได้ทำร้ายพนักงานทั้ง 2 จนเสียชีวิต และนำศพไปแขวนคอไว้หน้าประตูทางเข้าที่ดินจัดสรรแห่งหนึ่ง แต่ตำรวจไม่สามารถจับกุมผู้กระทำความผิดได้
4 ตุลาคม 2519 การประท้วงของนักศึกษาถูกย้ายเข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมีการเล่นละครล้อเลียนเหตุการณ์แขวนคอ 2 พนักงานการไฟฟ้าที่จังหวัดนครปฐม
5 ตุลาคม 2519 หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ และดาวสยามตีพิมพ์ภาพการเล่นละครล้อเลียนดังกล่าว เกิดการปลุกระดมประชาชนว่า นักศึกษาแขวนคอรูปจำลองพระบรมวงศานุวงศ์ และกล่าวหาว่านักศึกษาเป็นคอมมิวนิสต์ ในขณะเดียวกันการประท้วงของฝ่ายคัดค้านการเข้าประเทศของ จอมพลถนอมขยายไปสู่ จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดขอนแก่น จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดสงขลา เป็นต้น
6 ตุลาคม 2519 พลตรี ประมาณ อดิเรกสาร หัวหน้าพรรคชาติไทยและรองนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ถึงเวลาที่ควรจัดการกับขบวนการนักศึกษาเป็นครั้งสุดท้าย และเช้าตรู่วันนั้นกำลังทหาร-ตำรวจ ร่วมด้วยกลุ่มนวพล กระทิงแดง และลูกเสือชาวบ้านเริ่มโจมตีเข้าใส่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมีนักศึกษาชุมนุมประท้วงอยู่ภายในกว่าหนึ่งพันคน
เย็นวันเดียวกันพลเรือเอก สงัด ชลออยู่ทำการรัฐประหารรัฐบาลหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช และประกาศกฎอัยการศึกในค่ำวันนั้น การโจมตีนักศึกษาจึงจบลง พบผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 46 คน และได้รับบาดเจ็บ 167 คน