1 เดือน บุ้งตายในคุก : ประชาชนร้องปล่อยนักโทษการเมือง-ปฏิรูปยุติธรรม

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2024.06.14
กรุงเทพฯ
1 เดือน บุ้งตายในคุก : ประชาชนร้องปล่อยนักโทษการเมือง-ปฏิรูปยุติธรรม ภาคประชาชนร่วมกันเดินขบวนไปที่สำนักงานประธานศาลฎีกา โดยใช้เส้นทางเดินขบวนจากถนนราชดำเนิน จากนั้นมีพิธีสงฆ์ทำบุญ เพื่อระลึกถึงบุ้ง จากนั้นได้ยื่นหนังสือถึงประธานศาลฎีกา วันที่ 13 มิถุนายน 2567
สุนทร จงเจริญ/เบนาร์นิวส์

ครบรอบหนึ่งเดือนการเสียชีวิตระหว่างถูกคุมขังที่เรือนจำของ น.ส. เนติพร เสน่ห์สังคม หรือบุ้ง นักกิจกรรมกลุ่มทะลุวัง ประชาชน เพื่อน และนักสิทธิมนุษยชนจึงได้เรียกร้องให้มีการปล่อยตัวผู้ต้องขังคดีการเมือง และปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่บุ้งเรียกร้อง ขณะเดียวกันยังเห็นว่า ผู้ชุมนุมอย่างสันติไม่ควรถูกดำเนินคดี และการนิรโทษกรรมให้ผู้ต้องคดีจะเป็นทางออกของปัญหาในประเทศไทย 

“ขณะถูกคุมขังในเรือนจำ เนติพร ได้เสนอข้อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักโทษทางการเมืองทั้งหมด และปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เธอได้ยืนหยัดในแนวทางที่คิดดังกล่าว จึงอดอาหารประท้วงเป็นเวลา 110 วัน จนกระทั่งเสียชีวิตเมื่อ 14 พฤษภาคม 2567” แถลงการณ์ร่วมของเครือข่ายประชาชน ระบุ

ประชาชนในนามองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.), องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.), Thumb rights, สหภาพคนทำงาน, โมกหลวงริมน้ำ, 24 มิถุนาประชาธิปไตย และกลุ่มอื่น ๆ ได้ออกแถลงการณ์ร่วมกัน พร้อมทั้งยังเดินขบวน จัดเสวนา เพื่อรำลึกถึงการเสียชีวิตของบุ้งในวันที่ 13-14 มิถุนายน 2567 

“นักโทษการเมืองในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหรือมาตรา 112 เหล่านี้ ไม่ใช่อาชญากร แต่เป็นประชาชนที่มีความคิดเห็นต่าง พวกเขาเพียงใช้สิทธิการแสดงออกอย่างเสรีตามวิถีประชาธิปไตย ด้วยปรารถนาที่จะปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้มีความก้าวหน้า สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยดังเช่นประเทศที่มีความก้าวหน้า” ตอนหนึ่งของแถลงการณ์ 

ประชาชนกลุ่มดังกล่าว เรียกร้องให้คืนสิทธิเสรีภาพโดยการปล่อยนักโทษการเมืองซึ่งถูกควบคุมตัวอย่างในเรือนจำอย่างน้อย 42 คน 

น.ส. ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ เพื่อนของบุ้งซึ่งร่วมกิจกรรมรำลึกชี้ว่า ข้อเรียกร้องของบุ้งที่ให้ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไม่ใช่เพียงเพื่อนักกิจกรรมทางการเมือง

“ทำไมพี่บุ้งถึงเรียกร้องการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เพราะในระบบกฎหมายนี้ใครก็เป็นเหยื่อได้เสมอ ไม่ใช่เพื่อนักโทษการเมืองแต่เพื่อประชาชนทุกคนในประเทศนี้ ถ้าศาลยังไม่มีพิพากษาเขาถึงที่สุด คุณจะปฏิบัติกับเขาเหมือนเป็นผู้กระทำผิดไม่ได้ แต่ในประเทศเรามีผู้ต้องขังที่อยู่ในระหว่างพิจารณาคดีทั้งหมด 6.4 หมื่นคน ทั้งที่ตามหลักแล้วเราต้องถูกคุ้มครองภายใต้หลักนี้ ไม่ใช่แค่ผู้ต้องขังคดีการเมือง” น.ส. ทานตะวัน กล่าว

บุ้ง คือ ผู้ต้องหาคดี ม. 112 จากการทำสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับขบวนเสด็จฯ ที่ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 กระทั่งถูกศาลอาญาเพิกถอนการประกันตัว ทำให้ถูกคุมขังในเรือนจำตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม 2567 บุ้งจึงตัดสินใจอดอาหารเพื่อประท้วงสิทธิการประกันตัว และกระบวนการยุติธรรม เนื่องจากมีนักกิจกรรมทางการเมืองจำนวนมากที่ไม่ได้รับสิทธิการประกันตัวเช่นเดียวกัน

กระทั่ง 14 พฤษภาคม 2567 บุ้งได้เสียชีวิตในเวลา 11.22 น. ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ หลังจากบุ้งถูกพาตัวมาจากทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ เพราะหมดสติ ไม่มีสัญญาณชีพ ตั้งแต่เวลา 06.23 น. โดย รพ. ธรรมศาสตร์ พยายามฟื้นสัญญาณชีพตั้งแต่เวลา 09.30 แต่ไม่มีการตอบสนอง รพ. ธรรมศาสตร์เปิดเผย

สาเหตุการตายยังไม่คืบ

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พยายามติดต่อหารายละเอียดการเสียชีวิตของบุ้งจากกรมราชทัณฑ์ แต่ยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก 

“ทนายกฤษฎางค์ นุตจรัส บอกว่า ความคืบหน้ายังไม่ได้มีเท่าที่ควร ยังไม่ได้รับเอกสารตามที่ร้องขอ ประวัติการรักษายังไม่ครบถ้วน หลักฐานสำคัญที่ทางทนายความและญาติ ยังไม่ได้เข้าถึงตรงนี้เลย คือ ภาพวงจรปิดของโรงพยาบาลราชทัณฑ์” นายภูริณัฐ ชัยบุญลือ เจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายฯ ระบุ

ขณะเดียวกัน น.ส. ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ หรือใบปอ เพื่อนบุ้งชี้ว่า “ผ่านมา 1 เดือนแล้ว แต่เราก็ยังไม่ได้รับความเป็นธรรมอะไรเลย แม้กระทั่งรัฐมนตรียุติธรรม ที่รับปากกับเราไว้ว่า จะให้หลักฐานกับเราต่าง ๆ นา ๆ ก็ยังทำไม่ได้ รัฐบาลไม่มีปฏิกิริยาที่จะตอบรับอะไรเลย ทั้งที่มีคนเสียชีวิตในเรือนจำขณะพิจารณาคดีด้วย” 

ต่อประเด็นดังกล่าว พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ยืนยันว่า กรมราชทัณฑ์พร้อมเปิดเผยภาพขณะที่บุ้งหมดสติใน รพ.ราชทัณฑ์ แต่ไม่สะดวกในการเปิดเผยไฟล์วิดีโอ

“ยืนยันว่าเปิดไฟล์ภาพให้ดูได้แน่นอน ได้เชิญทนายเข้าดูด้วย แต่หากจะเอาไฟล์ภาพจากกล้องวงจรปิดออกมา ตอนนี้อยู่ในกระบวนการพิจารณาข้อกฎหมายวินิจฉัยกันอาจไม่จบ” พ.ต.อ. ทวี กล่าว

ปล่อยนักโทษการเมือง-นิรโทษกรรม คือ ทางออก

“มีผู้ต้องโทษคดีการเมือง 42 คน จำนวนนี้ 24 คนอยู่ระหว่างขอประกันตัวสู้คดี 17 คนเป็นคดีเรื่อง ม. 112  ในปี 2567 ทนายความพยายามยื่นประกันตัวผู้ต้องขังคดีทางการเมืองไม่น้อยกว่า 60 ครั้ง แต่ล่าสุดศาลให้ประกันตัวเพียง 3 คนเท่านั้น หลังจากบุ้งเสียชีวิต แนวโน้มของการไม่ให้ประกันตัวระหว่างดำเนินคดีมีเพิ่มมากขึ้น” นายนิติธร สุรบัณฑิตย์ เปิดเผยผ่านยูทูบของศูนย์ทนายฯ

ศูนย์ทนายฯ ระบุว่า ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม 2567 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองไปแล้ว อย่างน้อย 1,954 คน จาก 1,296 คดี ในนั้นเป็นคดี ม. 112 อย่างน้อย 272 คน จาก 303 คดี 

น.ส. พูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความจาก ศูนย์ทนายฯ ชี้ว่า การนิรโทษกรรมอาจเป็นการแก้ปัญหาระยะยาว

“นิรโทษกรรมเป็นข้อเสนอที่ต่ำที่สุดแล้ว นิรโทษกรรมไม่ใช่การยกเลิก มาตรา 112 แต่เป็นการบอกว่า คดีต่าง ๆ ที่ผ่านมา พวกเขาเหล่านั้นควรได้รับโอกาสใหม่ ไม่ใช่การยกเลิก หรือแก้ไข ยกเลิกมาตรา 112 อาจเป็นแค่หนึ่งสิ่งที่ต้องกระทำ แต่การทำให้กระบวนการยุติธรรมกลับสู่รูปรอย กลับสู่ประชาธิปไตย ควรต้องมีหลายสิ่ง การนิรโทษเป็นจุดเริ่มต้นในการคลายความขัดแย้ง” น.ส. พูนสุข กล่าว 

ก่อนหน้านี้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนได้นำ ร่าง พรบ.นิรโทษกรรมประชาชนที่มีประชาชนกว่า 3.5 หมื่นรายชื่อร่วมสนับสนุน ยื่นต่อรัฐสภา โดยร่างกฎหมายดังกล่าว จะยกเว้นโทษให้กับประชาชนที่ถูกดำเนินคดีทางการเมืองตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน ทุกข้อหารวมถึงมาตรา 112

ด้าน นายสมชาย หอมละออ ที่ปรึกษาอาวุโสมูลนิธิผสานวัฒนธรรม การวิจารณ์โดยสุจริตไม่ควรทำให้คนติดคุก

“ถ้าเอาหลักเกณฑ์ที่ถูกต้องตามหลักสิทธิมนุษยชนแล้ว ผมเชื่อว่า คนที่ตกเป็นผู้ต้องหา หรือจำเลย กระทั่งนักโทษจำนวนมากในข้อหาคดี ม. 112 นั้นควรจะได้รับการปล่อยตัวโดยไม่มีเงื่อนไข ซึ่งองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน สหประชาชาติก็เรียกร้องเรื่องนี้ ยิ่งเป็นการแสดงออก ความคิด ความเชื่อ ที่ไม่ใช่เป็นการใช้ความรุนแรง หรือยุยงให้ใช้ความรุนแรงโดยหลักสิทธิมนุษยชนก็ไม่ผิดอยู่แล้ว ไม่ว่าข้อหาใดก็ตาม” นายสมชาย กล่าว

หากไม่รวมร่าง พรบ.นิรโทษกรรม ฉบับประชาชน ปัจจุบันมี ร่าง พรบ.นิรโทษกรรม ที่ถูกเสนอต่อรัฐสภาโดยพรรคการเมืองอีก 3 ร่าง คือ ร่าง พรบ.นิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ของพรรคก้าวไกล 

ร่าง พรบ.สร้างสันติสุข ของพรรคครูไทยเพื่อประชาชน และ ร่าง พรบ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข ของพรรครวมไทยสร้างชาติ อย่างไรก็ตามรัฐสภายังไม่ได้มีการอภิปราย หรือลงมติร่างกฎหมายทั้งหมด แต่ยังมีข้อถกเถียงอยู่ว่า จะมีการนิรโทษกรรมให้กับคดีมาตรา 112 หรือไม่

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง