นายกรัฐมนตรีรับดูแล พ.ร.บ.คุมสื่อฯ
2017.05.02
กรุงเทพฯ

ในวันอังคาร (2 พฤษภาคม 2560) นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรียืนยันกับตัวแทนสมาคมสื่อมวลชนที่มามอบหนังสือคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. ... (พ.ร.บ.คุมสื่อฯ) ที่ทำเนียบรัฐบาลว่า จะนำประเด็นที่สื่อกังวลนี้เข้าหารือในการประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อหาทางปรับแก้ให้เหมาะสม โดยเบื้องต้นมอบหมายให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบดูแล และระบุว่า รัฐบาลไม่มีเจตนาครอบงำหรือปิดกั้นการทำงานของสื่อมวลชน
“อย่าคิดว่าผมต้องไปครอบงำ ผมยึดหลักการว่ารัฐบาลไม่ต้องการไปปิดสื่อ หรือก้าวล่วงต่างๆ เพราะรัฐบาลจำเป็นต้องสนับสนุนการทำงานของสื่อ สื่อก็มีหน้าที่ติดตามการทำงานของรัฐบาล” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
“ไม่อยากให้ทุกคนมาทะเลาะเบาะแว้งกัน ขัดแย้งกันในเวลานี้ เพราะฉะนั้นจะต้องพูดคุยกันรับฟังทั้งสองด้าน หาทางออกให้ได้ว่าจะทำอย่างไรให้สื่อทุกสื่อเป็นสื่อมีคุณภาพดีมากยิ่งขึ้น ด้วยความรับผิดชอบของสมาคมสื่อ ของผู้ประกอบการ ของผู้รายงานข่าวทั้งหมด รีไรท์เตอร์ บรรณาธิการ ทั้งหมด ต้องไปหารือกันว่าจะดูแลกันอย่างไร เชื่อมต่อกับรัฐได้ตรงไหน ถ้าคิดว่าคุมกันเองได้ ก็ลองเสนอมาว่าจะคุมกันอย่างไร ยึดโยงกับทางรัฐได้อย่างไร สื่อก็เป็นกระบอกเสียงให้รัฐบาล ให้รัฐบาลในสิ่งที่ถูก” นายกรัฐมนตรีเพิ่มเติม
ด้านนายปราเมศ เหล็กเพ็ชร์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ในฐานะตัวแทน 30 องค์กรสื่อมวลชนกล่าว หลังจากยื่นหนังสือคัดค้านร่าง พ.ร.บ.คุมสื่อฯให้กับนายกรัฐมนตรีว่า ต้องการให้รัฐบาลยับยั้งกระบวนการออกกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งสื่อมวลชนเชื่อว่าเป็นกฎหมายที่ต้องการควบคุมสื่อมวลชน
“เห็นว่าเจตนาของร่างกฎหมายนี้ยังเหมือนเดิม ที่ว่าคุ้มครองสื่อมันไม่เป็นความจริง แต่ต้องการคุมสื่อมากกว่า องค์กรสื่อเห็นว่ายังต้องติดตามต่อไปห้ามกะพริบตา ซึ่งกฎหมายกำลังจะไหลเข้าสู่รัฐบาลและไปสู่ สนช. เชื่อว่าถ้ารัฐบาลไม่ยับยั้งอะไร มันก็จะเกิดผลกระทบต่อรัฐบาลเองด้วย” นายปราเมศกล่าว
เหตุผลที่องค์กรสื่อมวลชน 30 องค์กรระบุไว้ใน หนังสือคัดค้านร่าง พ.ร.บ.คุมสื่อฯ ที่ยื่นต่อนายกรัฐมนตรี สามารถสรุปเด็นประเด็นได้ดังนี้ หนึ่ง การตีความหมายของคำว่า “สื่อมวลชน” ในกฎหมายฉบับนี้กว้างขวาง จนอาจทำให้การแสดงความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปถูกตีความเป็นการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ซึ่งจะทำให้ประชาชนถูกควบคุมโดยกฎหมายสื่อมวลชนฉบับนี้ด้วย
สอง การระบุให้มีตัวแทนรัฐในคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ อาจกระทบต่อการตรวจสอบการทำหน้าที่เจ้าหน้าที่รัฐของสื่อมวลชน
สาม กฎหมายเกี่ยวกับสื่อมวลชนควรมีเจตนารมย์ในการคุ้มครองการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน และรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ระบุให้ การออกกฎหมายต้องฟังความคิดเห็นผู้เกี่ยวข้อง แต่กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้รับฟังความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ
และสี่ สื่อมวลชนเชื่อในกระบวนการกำกับดูแลกันเอง และเชื่อว่าการออกกฎหมายเกี่ยวกับสื่อมวลชนจำเป็นต้องรับฟังความคิดเห็นให้รอบด้านกว่านี้
ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีแสดงความคิดเห็นต่อ การคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.คุมสื่อฯ ที่อ้างว่า กฎหมายฉบับนี้อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ในบางมาตราว่า ตนเองเชื่อว่า ผู้มีหน้าที่จัดทำกฎหมายฉบับนี้ไม่น่าจะทำกฎหมายที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ ดังนั้น หากต้องการแก้ไขหรือคัดค้านการออกกฎหมาย ควรพิจารณากันในประเด็นอื่นๆ เช่น ความเหมาะสมของกฎหมายต่อการตรวจสอบรัฐบาล เป็นต้น
“สื่อนั้นมีสิทธิเสรีภาพอยู่แล้วตามมาตรา 35 (รัฐธรรมนูญ) ผมไม่คิดว่า คนที่ทำกฎหมายนี้เขาจะทำจนให้มันขัดกับมาตรา 35 ถ้ามันไม่ขัด ด่านที่หนึ่งคือเจอรัฐธรรมนูญห้าม ก็จบ พอพ้นจากด่านนี้ไปก็ไปดูวิถีชีวิตคนไทย พูดถึงเรื่องเสรีภาพ พูดถึงความเป็นจริงว่า มันไม่มีปัญหาทางกฎหมาย แต่เกรงว่ารัฐบาลจะใช้เป็นเครื่องมือ อย่างนั้นพูดกันต่อไปอีกประเด็นหนึ่ง” นายวิษณุระบุ
ร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. ... (พ.ร.บ.คุมสื่อฯ) จัดทำโดยคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และในวันที่ 1 พฤษภาคม 2560 ผ่านความเห็นชอบของสภาขับเคลื่อนการปฎิรูปประเทศ (สปท.) ด้วยคะแนน 141 ต่อ 13 เสียง และงดออกเสียง 17 เสียง โดยหลังจากนี้จะ กมธ.ด้านการสื่อสารมวลชนจะได้นำ ร่าง พ.ร.บ.คุมสื่อฯไปปรับแก้ตามความเห็นของ สปท. และส่งต่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา ก่อนจะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติ (สนช.) พิจารณาตามลำดับ