ไทยบังคับใช้กฎหมายแรงงานข้ามชาติฯ รุนแรงเกินควร อาจส่งผลแรงงานขาดแคลน

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2017.11.09
กรุงเทพฯ
171109-TH-migrant-labors-1000.jpg แรงงานประมงชาวเมียนมารอตรวจเอกสารแรงงานต่างด้าวที่ตลาดปลามหาชัย สมุทรสาคร วันที่ 9 ธันวาคม 2559
นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์

การบังคับใช้กฎหมายแรงงานต่างด้าวฯรุนแรงเกินไป ในการแก้ปัญหาแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมาย ในประเทศไทย อาจส่งผลให้เกิดการขาดแคลนแรงงานในประเทศได้

การเสวนาเพื่อร่วมหาทางแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย ในวันพฤหัสบดี ใน “การมีส่วนร่วมของแรงงานข้ามชาติ เครือข่ายภาคประชาสังคม และองค์กรภาคธุรกิจ ในการยกระดับการแก้ไขปัญหาแรงงานเด็ก แรงงานบังคับ ค้ามนุษย์ และการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย” ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีตัวแทนภาคประชาสังคม เครือข่ายแรงงาน สมาคมผู้เหมาจ้างแรงงาน ฝ่ายการเมือง และผู้สนใจเข้าร่วมฟังกว่า 20 คน

โดยในการเสวนา ได้มีการหยิบยกปัญหาแรงงานที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ เพื่อหาทางออกร่วมกัน และเสนอให้รัฐบาลช่วยแก้ไข

นายสุรพงษ์ กองจันทึก รองประธานกรรมการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) ยกประเด็นปัญหาแรงงานเด็ก แรงงานบังคับหรือค้ามนุษย์ และการจัดการแรงงานข้ามชาติ เป็นปัญหาใหญ่ที่สุดที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องแก้ไข หากต้องการให้สถานการณ์แรงงานข้ามชาติในประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดี โดยเฉพาะการแก้ไข พ.ร.ก. การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ที่มองว่ารุนแรงเกินไป ซึ่งจะส่งผลให้แรงงานต่างด้าวกลับประเทศ และไทยขาดแคลนแรงงาน

“พ.ร.ก.ประกาศออกมาเพิ่มโทษนายจ้างสูงมาก ถ้าโทษน้อยไป กฎหมายไม่ศักดิ์สิทธิ์ ถ้าโทษหนักไป คนก็แตกตื่น กฎหมายก็บังคับใช้ไม่ได้ โทษต้องกลางๆ หลักการกฎหมายทั่วไป ผู้ที่ควบคุมบังคับต้องปรับมากกว่าผู้ที่อยู่ใต้การควบคุมบังคับ ปัจจุบันนี้ ไปเอาโทษของนายจ้างออก จะให้ลูกจ้างออกติดคุกคนเดียว ไปเพิ่มโทษในการปรับนายจ้างเป็นหลักแสน ผิดหลักเกณฑ์กฎหมายทั้งหมดเลย มันต้องดึงกลับมาให้ตามหลักเกณฑ์ให้สมดุล” นายสุรพงษ์กล่าว

ด้านนายสุรชัย มีนทุน ชาวเมียนมาจากเครือข่ายแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมาในประเทศไทย กล่าวในมุมมองของแรงงานข้ามชาติว่า การนำเข้าแรงงานแบบเอ็มโอยู อาจสร้างความลำบากให้กับแรงงานต่างด้าว หากแรงงานต่างด้าวคนนั้นได้นายจ้างที่ไม่ตรงตามความต้องการ ซึ่งแรงงานจะไม่สามารถเปลี่ยนงานระหว่างที่อยู่ในประเทศไทยได้เอง สร้างความยุ่งยาก เป็นต้นเหตุของปัญหาแรงงานผิดกฎหมาย

“การทำเอ็มโอยูไม่อิสระ ถ้าผมเซ็นสัญญากับคุณสุรชัย 2 ปี ผมออกไม่ได้ จะออกได้เมื่อ นายจ้างตาย บริษัทโดนปิด ทารุณกรรม และผิด พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน มันก็ไม่อิสระ โดยที่ไม่รู้กฎหมายบางคนก็หนีจากที่ไม่ดี หัวหน้าดุด่า จะไปอยู่กับที่อื่นก็ไม่ได้ นายหน้าก็ติดต่อไม่ได้ ทำยังไง ก็ต้องกลับบ้าน กลับไปเอ็มโอยู เซ็นสัญญาใหม่ แล้วก็กลับมา” นายสุรชัยกล่าว

ขณะที่นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพฯ พรรคประชาธิปัตย์ เสนอแนวทางการโดยเน้นที่การผลักดันแรงงานต่างด้าวเข้าสู่การประกันสังคม เพราะเชื่อว่า แนวทางในการเก็บข้อมูลที่มีการแก้ไขให้เป็นปัจจุบันอยู่ตลอด ทำให้ติดตามแรงงาน และดูแลได้ง่ายกว่าการใช้บัตรสีชมพู

“เสนอ 4 แนวทาง คือ 1.การทำเอ็มโอยูเป็นการแก้ไขแรงงานต่างด้าวที่ไม่ตรงจุด 2.ควรหยุดการพึ่งพาต่างชาติ ลดขั้นตอนการพิสูจน์สัญชาติรายบุคคล เปลี่ยนให้มีการลงทะเบียนให้ครบถ้วน แล้วรวบรวมข้อมูลเป็นก้อนเดียวส่งไปยังประเทศต้นทาง เพื่อให้ประเทศต้นทางยืนยันตัวตน หากมีแรงงานไม่ได้รับการยืนยันตัวตน จะต้องหามาตรการผลักดันกลับประเทศ” นายอรรถวิชช์กล่าว

“3.นายจ้างต้องนำแรงงานต่างด้าวเข้าสู่ระบบประกันสังคมทั้งหมด เพื่อให้มีกลไกการตรวจสอบข้อมูลแรงงานต่างด้าว และ 4.การให้สัญชาติลูกของแรงงานต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทย ซึ่งเด็กที่จะเป็นปัญหาหนัก คือกลุ่มที่เกิดจากแรงงานเถื่อน แรงงานชั่วคราว ถึงแม้จะแจ้งเกิดได้ แต่เขาจะเป็นคนพูดภาษาบ้านเกิดไม่ได้ ทำให้กลับประเทศไม่ได้ หากไม่รอบคอบ ต่อไปจะเป็นปัญหาความมั่นคง” นายอรรถวิชช์กล่าวเพิ่มเติม

นายศักดิ์ชัย ธรรมปรีชาถาวร นายกสมาคมการค้าผู้นำเข้า และให้บริการแรงงานต่างด้าว กล่าวว่า การเพ่งเล็งว่า ผู้นำเข้าแรงงาน หรือผู้ทำธุรกิจเหมาจ้างแรงงาน เป็นสาเหตุของปัญหาแรงงานในประเทศไทยไม่ถูกต้องนัก รัฐต้องร่วมกับภาคเอกชนเพื่อหาทางแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ แทนที่จะกล่าวโทษผู้ใด

“กฎหมายล่าสุดที่ออกมา เพราะเขามองพวกผมเป็นจำเลย มองว่าเราเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการค้ามนุษย์ ไปไหนก็เจอต่างด้าว เจอกันหมดแล้ว ถ้าจะต้องโทษ ก็ต้องโทษมาตรการของรัฐเอง ที่หละหลวมเองที่ปล่อยให้เขาทะลักเข้ามา ทำยังไงให้แรงงานที่หลุดมาแล้ว พ้นสภาพจากการเป็นแรงงานบังคับ แรงงานขัดหนี้ การถูกรัฐเอารัดเอาเปรียบให้ได้ นั่นต่างหาก ส่วนวิธีการก็ต้องมาว่ากันใหม่” นายศักดิ์ชัยกล่าว

พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 (พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าวฯ ฉบับใหม่) ถูกประกาศใช้วันที่ 22 มิถุนายน 2560 ส่งผลให้มีแรงงานต่างด้าวจำนวนมากเดินทางกลับประเทศ เนื่องจากเกรงกลัวได้รับโทษ จากบทลงโทษที่มีความรุนแรงมาก ทั้งโทษจำคุก และโทษปรับ เช่น

ผู้ใดรับต่างด้าวทำงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ หรือ รับคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรือ รับคน ต่างด้าวซึ่งไม่มีใบอนุญาตทำงานกับตนเข้าทำงาน มีโทษปรับ 400,000-800,000 บาท ต่อคน หรือ คนต่างด้าวทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงาน หรือทำงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับตั้งแต่ 2,000 -100,000 บาท

หลังจากเกิดปัญหาแรงงานเดินทางกลับประเทศ และการเรียกร้องจากนายจ้าง 5 มกราคม 2560 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จึงใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 44 สั่งผ่อนผันการบังคับใช้ พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าวฯ โดยให้นายจ้างพาแรงงานต่างด้าวไปขึ้นทะเบียนให้ถูกต้อง และจะกลับมาบังคับใช้ใหม่อีกครั้งในวันที่ 1 มกราคม 2561

กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยสถิติล่าสุดถึงปี 2559 ว่ามีคนต่างด้าวชาวเมียนมา กัมพูชา และลาว เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย 1,067,410 คน ในจำนวนนี้ เป็นผู้ติดตามอายุน้อยกว่า 18 ปี จำนวน 22,807 คน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง