ไทยเข้มงวดการเข้าเมืองผิดกฎหมาย ส่งแรงงานเขมรและเวียดนามหลายพันคนกลับประเทศ
2016.09.16

เรดิโอฟรีเอเชีย บริษัทในเครือเดียวกับเบนาร์นิวส์ ได้รับรายงานมาว่า ทางการไทยทำตามคำสัญญาที่ให้ไว้ในการปราบปรามผู้อพยพเข้าเมืองผิดกฎหมาย โดยแต่ละวัน มีการส่งตัวแรงงานอพยพหลายพันคนกลับประเทศกัมพูชาและเวียดนาม
สิม นาม ยัง ข้าราชการคนหนึ่งของจังหวัดบันเตียเมียนเจย บอกแก่เรดิโอฟรีเอเชียเมื่อวันพฤหัสบดีว่า ในเดือนสิงหาคมเพียงเดือนเดียว ไทยได้ส่งตัวแรงงานกัมพูชาจำนวนกว่า 4,000 คน กลับไปยังบ้านเกิด
ในแต่ละวัน มีชาวกัมพูชาอย่างน้อย 300 คน ที่กำลังถูกส่งตัวกลับประเทศ สิม นาม ยัง บอกแก่เรดิโอฟรีเอเชีย
“พวกเขามาจากที่ต่าง ๆ ของกัมพูชา” เธอกล่าว “บางคนเดินทางไปเมืองไทยด้วยตัวเองเพื่อหางานทำ แต่บางคนถูกนายหน้าโกงอย่างผิดกฎหมาย"
แม้ สิม นาม ยัง จะกล่าวว่า ชาวกัมพูชาส่วนใหญ่เหล่านี้ทำงานก่อสร้างและอาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลาตั้งแต่สามเดือนถึงหนึ่งปี และบางคนยังเพิ่งถูกปล่อยตัวจากคุก
ชาวกัมพูชาที่ถูกส่งตัวกลับประเทศเหล่านั้น ถูกอัด “เหมือนปลากระป๋อง” ในรถตู้ที่หน้าต่างติดกรงเหล็ก สัม ชันเกีย เจ้าหน้าที่ที่ทำงานกับ ADHOC องค์กรสิทธิมนุษยชนกัมพูชา บอกแก่เรดิโอฟรีเอเชีย
หลังจากเดินทางถึงด่านตรวจปอยเปต ในจังหวัดบันเตียเมียนเจยแล้ว ทางการกัมพูชาจะ “อบรม” คนเหล่านั้นเกี่ยวกับการอพยพอย่างผิดกฎหมายเป็นเวลา 15-20 นาที ก่อนที่จะปล่อยให้คนเหล่านั้น กลับไปยังหมู่บ้านของตน
“เจ้าหน้าที่ของกัมพูชาที่มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับคนงานเหล่านั้น ดูเหมือนจะไม่สนใจกับปัญหา” สัม ชันเกีย กล่าว “ทางการยังไม่พยายามจับกุมและลงโทษนายหน้าที่พาคนงานไปยังประเทศไทยอย่างผิดกฎหมายด้วย”
นายหน้าค้ามนุษย์เก็บค่านายหน้าจากชาวกัมพูชาเป็นเงินจำนวนถึง 3,500 บาทต่อคน เพื่อพาลักลอบข้ามชายแดนอย่างผิดกฎหมาย ทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือของกัมพูชา องค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชนบอกแก่เรดิโอฟรีเอเชีย เมื่อเดือนเมษายน
คนงานที่ไม่มีหนังสือเดินทาง จ่ายเงินจำนวน 300,000 - 400,000 เรียล (2,600 - 3,500 บาท) ต่อหัว ให้แก่นายหน้า เพื่อให้ช่วยพาตนข้ามชายแดนในจังหวัดบันเตียเมียนเจย และพระตะบอง สัม ชันเกีย บอกแก่เรดิโอฟรีเอเชีย
“คนงานจำนวนมากได้เดินทางไปยังประเทศไทย” สัม ชันเกีย กล่าวในเดือนเมษายน
ชาวเวียดนามก็ถูกส่งตัวกลับเช่นกัน
รัฐบาลไทยก็กำลังส่งชาวเวียดนามกลับประเทศด้วยเช่นกัน
ชาวเวียดนามส่วนใหญ่จะทำงานเป็นพ่อค้าแม่ค้าแผงลอย ซึ่งทำธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือที่ทำขึ้นเมื่อปี 2558
แม้บันทึกข้อตกลงดังกล่าวจะอนุญาตให้ชาวเวียดนามทำงานในประเทศไทยได้ก็ตาม แต่ก็จำกัดอาชีพที่ทำได้เพียงกรรมกร กับรับใช้ในบ้านเท่านั้น
พ่อค้าคนหนึ่งในเขตรังสิต จังหวัดปทุมธานี บอกแก่เรดิโอฟรีเอเชียว่า การที่รัฐบาลกวาดล้างแรงงานต่างด้าวทำให้เขาต้องการกลับไปยังเวียดนาม
“ผมอยู่ที่นี่มาห้าหกปีแล้ว และผมรู้ว่าผมอาจถูกส่งตัวเข้าคุกเมื่อไหร่ก็ได้” เขากล่าว “ดังนั้น ผมถึงกำลังคิดที่จะกลับบ้าน ผมบอกพ่อค้าแม่ค้าชาวเวียดนามคนอื่นในรังสิตว่า เราไม่ควรออกไปข้างนอกมากเกินไป เพราะเราอาจถูกจับก็ได้”
ปัญหาเรื่องผู้อพยพในประเทศไทยมีมานานหลายทศวรรษแล้ว หรืออาจนานเป็นศตวรรษแล้ว เพราะไทยเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญสำหรับแรงงานอพยพ และผู้ที่ต้องการลี้ภัยจากบริเวณลุ่มแม่น้ำโขง ตลอดจนส่วนอื่น ๆ ของเอเชีย
Thaivisa.com รายงานว่า เมื่อวันที่ 9 กันยายน พล.ต.ท. ณัฐธร เพราะสุนทร ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ประชุมทางไกลผ่านจอ โดยประกาศว่าจะกวาดล้างแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายทั่วประเทศ
งานที่เป็นประเด็นถกเถียงกัน
ตามรายงานดังกล่าว เขาหมายถึงผู้อพยพที่ทำงานในธุรกิจร้านอาหารและหาบเร่
ไทยถูกวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการปฏิบัติต่อแรงงานอพยพ ผู้ซึ่งมักจะถูกเอาเปรียบจากบรรดานายจ้างและนายหน้าค้าแรงงานที่ไม่เป็นธรรม
“ไทยเป็นต้นทาง จุดหมายปลายทาง และประเทศทางผ่าน สำหรับชาย หญิง และเด็กที่ถูกบังคับค้าแรงงานและค้าเพศ” กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เขียนไว้ในรายงานการค้ามนุษย์ประจำปี 2559
แม้แรงงานอพยพจะตกอยู่ในอันตราย แต่คนเหล่านั้นก็ยังคงต้องการเดินทางมาประเทศไทย เพราะไทยเป็นชาติที่มั่งคั่งกว่า เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ
ในช่วงยี่สิบถึงยี่สิบห้าปีที่แล้ว เศรษฐกิจของไทยเติบโตในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ซึ่งทำให้เกิดงานจำนวนมาก และช่วยให้คนหลายล้านคนหลุดพ้นจากความยากจน ตามรายงานของธนาคารโลก
การเติบโตดังกล่าวได้ชะลอตัวลงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยธนาคารโลกรายงานการเติบโตทางเศรษฐกิจเพียงร้อยละ 2.8 ในปี 2558 หลังจากปี 2557 ซึ่งเติบโตเพียงร้อยละ 0.9 คาดว่าอัตราการเติบโตจะอยู่ที่ร้อยละ 2.5 สำหรับปี 2559
ตามรายงานของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แรงงานจากพม่า กัมพูชา ลาว เวียดนาม จีน และชนกลุ่มน้อยจากประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้เข้ามาทำงานที่สงวนไว้สำหรับคนไทยเท่านั้น
‘ตรวจและจับกุม’
“มาตราการแก้ไข คือ ตรวจและจับกุม” นายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน บอกแก่เบนาร์นิวส์ “งานขายของแผงลอยและหาบเร่เป็นงานที่สงวนไว้สำหรับคนไทย”
เขากล่าวว่า รัฐบาลทหารของไทยซึ่งเข้ายึดอำนาจการบริหารประเทศในปี 2557 จากรัฐบาลพลเรือนที่ถูกคนจำนวนมากมองว่าทุจริต ได้ออกคำสั่งสองฉบับให้ “กวาดล้าง” แรงงานอพยพที่ผิดกฎหมายในกรุงเทพฯ และทั่วประเทศในปี 2558 และ 2559
นายอารักษ์ พรหมณี ได้แบ่งผู้กระทำผิดออกเป็นสามกลุ่ม คือ ผู้อพยพที่ผิดกฎหมาย แรงงานอพยพที่ถูกกฎหมายแต่ประกอบอาชีพที่สงวนไว้สำหรับคนไทย และผู้อพยพที่อยู่เกินเวลาที่กำหนด
แต่ปัญหาเรื่องการทำงานไม่ใช่เหตุผลเดียวที่ไทยกำลังส่งแรงงานอพยพกลับประเทศ นายอารักษ์กล่าว
“เราเริ่มจัดการกับปัญหานี้ เมื่อมีข่าวว่ามีแรงงานต่างด้าวมาประกอบอาชีพเกี่ยวกับการค้าขายที่เกี่ยวกับการบริโภคหรือสุขอนามัยที่ไม่ถูกต้อง(ขายสินค้าปลอมหรือปนเปื้อน)” นายอารักษ์บอกแก่เบนาร์นิวส์
เมื่อเดือนพฤษภาคม เจ้าหน้าที่ตำรวจในอำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี ห่างจากกรุงเทพฯ ไปทางตอนเหนือเป็นระยะทางประมาณ 170 กิโลเมตร ได้จับกุมหญิงชายชาวเวียดนามคู่หนึ่งที่ขายน้ำส้มคั้นปลอมที่ผสมน้ำสกปรก หลังจากที่รูปถ่ายและเรื่องราวเกี่ยวกับคนคู่นี้ถูกแชร์ในสื่อสังคม และรายงานในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น
“คนกลุ่มเหล่านี้เข้ามาแล้วมาค้าขายของกินอะไรต่างๆ น้ำส้มเอย ลูกชิ้นปิ้งเอย พวกผลไม้ดอง ก็เกิดการตระหนักว่า พวกเราจะได้รับการคุ้มครองสุขอนามัยยังไง”