ตำรวจคุมตัวชาวมองตานญาด 68 คน หลังบุกตรวจค้นในพิธีสวดศพ

เรดิโอฟรีเอเชีย เวียดนาม
2025.02.26
ตำรวจคุมตัวชาวมองตานญาด 68 คน หลังบุกตรวจค้นในพิธีสวดศพ เจ้าหน่าที่ตำรวจไทยควบคุมตัวชาวมองตานญาด ระหว่างพิธีสวดศพ วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2568
อี มิซิน นัล/เรดิโอฟรีเอเชีย

ผู้ลี้ภัยชาวมองตานญาดกว่า 60 คน เสี่ยงต่อการถูกเนรเทศกลับเวียดนาม หลังจากตำรวจบุกเข้าตรวจค้นพิธีศพในพื้นที่ใกล้กรุงเทพฯ และส่งตัวผู้ถูกควบคุมส่วนใหญ่ไปยังหน่วยงานตรวจคนเข้าเมือง ตามรายงานขององค์กรช่วยเหลือผู้ลี้ภัย Boat People SOS (BPSOS) 

ในเวลาต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจไทยยืนยันว่ามีชาวเวียดนามกว่า 40 คน ถูกควบคุมตัวในข้อหาเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย แต่ระบุว่าพวกเขายังไม่ถูกส่งตัวกลับในทันที 

การจับกุมครั้งนี้เกิดขึ้นระหว่างการบุกเข้าตรวจค้นในงานพิธีสวดศพ ที่ศาลาประชาคม จังหวัดนนทบุรี ทางตอนเหนือของกรุงเทพฯ เมื่อวันอาทิตย์ ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงที่คดีส่งผู้ร้ายข้ามแดนของนักเคลื่อนไหวชาวมองตานญาด อี ควิน เบอดั๊บ (Y Quynh Bdap) ซึ่งเป็นข่าวโด่งดัง กำลังเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีของศาลไทย 

อี ควิน เบอดั๊บ หลบหนีพร้อมครอบครัวมายังประเทศไทย ในปี 2561 โดยร้องเรียนว่าเขาถูกข่มเหงทางศาสนาในเวียดนาม เขาได้รับสถานะผู้ลี้ภัยจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) แต่ถูกตำรวจไทยจับกุมในช่วงกลางปี 2567 ตามคำร้องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนจากเวียดนาม ประเทศไทยยังไม่ได้ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัยปี 2494 ซึ่งกำหนดถึงการคุ้มครองทางกฎหมาย สิทธิ และความช่วยเหลือที่ผู้ลี้ภัยควรได้รับ

เนื่องจากเขาเป็นคนที่มาจากกลุ่มชาติ พันธุ์อีเด โดยจัดอยู่ในกลุ่มชาวมองตานญาด ซึ่งเป็นคำที่ใช้เรียกสมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ที่ส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์และอาศัยอยู่ในที่ราบสูงตอนกลางของเวียดนาม

2-vietnam-thailand-montagnards-arrested.jpeg
ชาวมอนตานญาด ขณะอยู่ในกระบวนการตรวจเช็คเอกสารโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ หลังเข้าควบคุมตัว วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2568 (มัค ซอง มีเดีย)

พิธีการสวดศพเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาถูกจัดขึ้น โดยภรรยาของ อี ควิน เบอดั๊บ เพื่อไว้อาลัยให้กับแม่ของเธอที่เพิ่งเสียชีวิตในเวียดนาม 

ผู้เข้าร่วมพิธีส่วนใหญ่เป็นชาวอีเดที่ลี้ภัยมาอยู่ในประเทศไทยเนื่องจากถูกข่มเหงทางศาสนา ตามรายงานของ BPSOS ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในสหรัฐฯ

“พวกเขาปฏิบัติการอย่างรวดเร็วมาก” อี มิซิน นัล (Y Misin Knul) หนึ่งในผู้ถูกจับกุมกล่าวถึงเจ้าหน้าที่ไทย “เราร้องขอให้มีทนายความมาช่วยเจรจา แต่พวกเขารีบเร่งกระบวนการเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เราติดต่อทนาย”  

“พวกเขาเก็บลายนิ้วมือของเราและบันทึกวันที่” เขาให้สัมภาษณ์กับเรดิโอฟรีเอเชียเมื่อวันจันทร์ “พวกเขาทำงานจนถึงประมาณตี 1 หรือ 2 เพื่อส่งตัวพวกเราให้กับตำรวจตรวจคนเข้าเมือง” 

มีนักเคลื่อนไหวมองตานญาดอยู่ในกลุ่มที่โดนควบคุมตัว 

จากผู้ถูกควบคุมตัวทั้งหมด 68 คน ในข้อหาเข้าเมืองและพำนักอาศัยโดยผิดกฎหมาย ในจำนวนนั้นมี 43 คน ที่ถือบัตรผู้ลี้ภัยที่ออกโดย UNHCR ในประเทศไทย ตามรายงานของ BPSOS อย่างไรก็ตาม  

ยังไม่ชัดเจนว่าทั้ง 43 คน นี้จะถูกส่งตัวกลับเวียดนามหรือไม่ หากรัฐบาลเวียดนามร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดน 

องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระบุว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยแสดงให้เห็นถึงความเต็มใจในการร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีรัฐบาลเผด็จการ ซึ่งพยายามปราบปรามผู้เห็นต่างที่ลี้ภัยอยู่ในไทย อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูงรายหนึ่งบอกกับเรดิโอฟรีเอเชีย ว่าทางการไทยไม่มีแผนจะส่งตัวพวกเขากลับเวียดนามในเร็ว ๆ นี้ 

“พวกเขาถูกดำเนินคดีในข้อหาเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย และถูกปรับคนละ 4,000 บาท (ประมาณ 120 ดอลลาร์สหรัฐ) แต่พวกเขาไม่มีเงินจ่ายค่าปรับ จึงถูกจำคุกแทนเป็นเวลา 8 วัน” พ.ต.อ.  รณภัฎ ทับทิมธงไชย ผู้กำกับการสถานีตำรวจบางใหญ่ กล่าวเมื่อวันพุธ 

“พวกเขาไม่ใช่แรงงาน พวกเขาถือบัตรผู้ลี้ภัย หลังจากรับโทษแล้ว พวกเขาจะถูกควบคุมตัวที่สถานกักตัวคนต่างด้าว สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองสวนพลู โดยปกติแล้วองค์กรเอ็นจีโอจะขอยื่นประกันตัวให้พวกเขา และพวกเขาจะไม่ถูกส่งตัวกลับทันที” 

พ.ต.อ. รณภัฎ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในจำนวนผู้ถูกควบคุมตัว 68 คน ในเบื้องต้นบางคนมีสิทธิ์ตามกฎหมายที่จะอยู่ในประเทศไทยและได้รับการปล่อยตัวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ในกลุ่มผู้ถูกจับกุม มีสมาชิก 27 คน ขององค์กรมองตานญาดเพื่อความยุติธรรม (Montagnard Stand for Justice - MSFJ) ซึ่งเป็นองค์กรเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของชนชาติพันธ์กลุ่มน้อย ราว 30 กลุ่ม จากที่ราบสูงตอนกลางของเวียดนาม กลุ่มเหล่านี้อ้างว่าถูกเลือกปฏิบัติมาเป็นเวลาหลายปีโดยรัฐบาลเวียดนาม

สมาชิกบางคนของ MSFJ ก็ถือบัตรผู้ลี้ภัยเช่นกัน โดยเบอดั๊บ เป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มนี้

เมื่อปีที่แล้ว กระทรวงความมั่นคงสาธารณะของเวียดนามได้ประกาศให้ MSFJ เป็นองค์กรก่อการร้าย โดยกล่าวหาว่ากลุ่มนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการโจมตีหน่วยงานรัฐสองแห่ง ในจังหวัดดั๊กลัก เมื่อเดือนมิถุนายน 2567 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 9 ราย

อย่างไรก็ตาม MSFJ และเบอดั๊บ ปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว หากเขาถูกส่งตัวกลับเวียดนาม เขาจะต้องเผชิญกับโทษจำคุก 10 ปี ในข้อหา “ก่อการร้าย” ซึ่งเป็นคำตัดสินที่ศาลประชาชนจังหวัดดั๊กลักตัดสิน โดยไม่มีตัวจำเลยไปให้การในเดือนมกราคมปี 2567 จากเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในปี 2566

ในเดือนกันยายน 2567 ศาลอาญากรุงเทพฯ มีคำตัดสินให้ส่งตัวเขากลับเวียดนาม อย่างไรก็ตาม ในเดือนนี้ ทนายความของเขาได้ยื่นอุทธรณ์ต่อคำตัดสินดังกล่าว

“เราได้ยื่นอุทธรณ์เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ และโทรหาศาลอุทธรณ์ทุกวันเพื่อตรวจสอบว่าศาลรับเรื่องหรือยัง แต่ยังไม่มีคำตัดสินใด ๆ ออกมา” ณัฐาศิริ เบิร์กแมน ทนายความของเบอดั๊บกล่าวกับเรดิโอฟรีเอเชียเมื่อวันอังคาร

“การส่งผู้ร้ายข้ามแดนในกรณีนี้ต้องพิจารณากฎหมายใหม่ของไทย นั่นคือพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565” เธอกล่าว พร้อมเสริมว่ายังไม่มีกรอบเวลาสำหรับการตัดสินของศาล

ประเทศไทย ‘ยิ่งเปราะบางมากขึ้น’ 

อี พิก ฮด็อก (Y Phic Hdok) สมาชิกผู้ก่อตั้ง MSFJ กล่าวกับเรดิโอฟรีเอเชียว่า สมาชิก 27 คน ของกลุ่มที่ถูกจับกุมเมื่อวันอาทิตย์ก็เสี่ยงต่อการถูกส่งตัวกลับเวียดนามเช่นกัน

“นับตั้งแต่รัฐบาลเวียดนามร้องขอให้ไทยจับกุมและส่งตัวเบอดั๊บ สถานการณ์ของผู้ลี้ภัยชาวมองตานญาดในไทยก็ยิ่งเปราะบางมากขึ้น” เขากล่าว

“แม้ว่าจะไม่มีหลักฐานชัดเจนเกี่ยวกับการแทรกแซงของเวียดนามในเหตุการณ์นี้ แต่ก็แสดงให้เห็นว่าระดับความเสี่ยงกำลังเพิ่มขึ้น” เขากล่าวเสริม


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไทยสมัครร่วมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน ท่ามกลางความกังวลด้านสิทธิมนุษยชน

ศาลอาญาตัดสินส่งตัว อี ควิน เบอดั๊บ ผู้ลี้ภัยชาวเวียดนามกลับประเทศ

นักสิทธิส่งเสียง ร้องรัฐไทยไม่ส่งกลับนักกิจกรรมเวียดนาม


ผู้อำนวยการ BPSOS เหงียน ดินห์ ทัง (Nguyen Dinh Thang) กล่าวว่า สมาชิกบางคนของ MSFJ เผชิญกับความเสี่ยงในการถูกส่งตัวกลับเวียดนามมากกว่าคนอื่น ๆ พร้อมระบุว่า องค์กรของเขา สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) และสำนักงานสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในประเทศไทย กำลังจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

รัฐบาลเวียดนามยังไม่ได้ส่งรายชื่อผู้ถูกจับกุมในกลุ่มมองตานญาดที่ต้องการให้ไทยส่งตัวกลับ “อาจเป็นเพราะคดีของเบอดั๊บ กำลังได้รับความสนใจจากนานาชาติมากขึ้น” เขากล่าว

หากเวียดนามต้องการให้ไทยส่งตัวชาวมอนตานญาดที่ถูกจับกุมเมื่อวันอาทิตย์กลับประเทศ ก็คงต้องขึ้นศาลถูกดำเนินคดีโดยไม่มีตัวจำเลย เช่นเดียวกับคดีเบอดั๊บ 

“คำร้องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนครั้งต่อไปจะต้องเผชิญกับความท้าทายเป็นอย่างมาก” เขากล่าว

ภิมุข รักขนาม ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง