ผบ.สูงสุด ยืนยัน ปฏิวัติไม่อยู่ในความคิดทหาร และพร้อมปกป้องสถาบันฯ
2020.10.05
กรุงเทพฯ

ในวันจันทร์นี้ พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) แถลงภายหลังการประชุมผู้บัญชาการเหล่าทัพ ครั้งแรกของปี 2563 ว่า การปฏิวัติไม่อยู่ในความคิดของทหาร และยืนยันว่า กองทัพพร้อมจะปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ อย่างไรก็ตาม นักวิชาการ และนักศึกษาที่เคลื่อนไหวทางการเมือง ระบุว่า ไม่เชื่อมั่นกับคำพูดของทหารเรื่องที่ว่าจะไม่มีการปฏิวัติ
พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผบ.ทสส. คนใหม่ กล่าวที่กองบัญชาการกองทัพไทย (บก.ทท.) ในเวลา 12.30 น. หลังการประชุมร่วมกับ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) พล.ร.อ.ชาติชาย ศรีวรขาน ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) พล.อ.อ.แอร์บูล สุทธิวรรณ ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) และ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ว่า จะทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง เพราะไม่ใช่หน้าที่ของทหาร
ต่อมาสื่อมวลชนได้ถาม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ถึงการปฏิวัติ-รัฐประหาร
“ในเรื่องดังกล่าว (การปฏิวัติ-รัฐประหาร) ไม่ได้อยู่ในแนวทางการดำเนินการอยู่แล้ว ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ เรามีการปกครองแบบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทหารก็คือประชาชน… เราเชื่อมั่นเหมือนที่ประชาชนเชื่อมั่น ว่าการปกครองประชาธิปไตย น่าจะเป็นการปกครองที่แย่น้อยที่สุดในภาพของสังคมโลก” พล.อ.เฉลิมพล กล่าว
“ในรัฐธรรมนูญที่เราใช้กันอยู่ มาตรา 52 ผมขออนุญาตอ่านให้ฟังว่า รัฐต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช อธิปไตย บูรณภาพแห่งอาณาเขต ที่ประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย เกียรติภูมิ และผลประโยชน์ของชาติ ความมั่นคงของรัฐ และความสงบเรียบร้อยของประชาชน เพื่อประโยชน์แห่งการนี้ รัฐต้องจัดให้มีการทหาร การทูต และการข่าวกรองที่มีประสิทธิภาพ… บทบาททหาร เราไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเมือง.. แต่สิ่งที่จะมาเกี่ยวพันหรือทาบทับกัน คือเรื่องความมั่นคงของรัฐ” พล.อ.เฉลิมพล กล่าวเพิ่มเติม
ทั้งนี้ พล.อ.เฉลิมพล เข้ารับตำแหน่ง ผบ.สส. แทน พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผบ.สส. คนเก่าที่เพิ่งเกษียณอายุราชการไป เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2563 โดยในอดีต พล.อ.เฉลิมพล เคยปฏิบัติหน้าที่ใน ม.พัน1 รอ., ม.พัน 25 รอ., พล.ม.2 รอ. เคยดำรงตำแหน่งเป็น ผู้บัญชาการกองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์, เจ้ากรมยุทธการทหารบก และ เสนาธิการทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย ก่อนขึ้นเป็น ผบ.สส. คนปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม ต่อการให้สัมภาษณ์ของ ผบ.สส. นายฐิติพล ภักดีวานิช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีระบุว่า คำพูดของ พล.อ.เฉลิมพล ไม่สามารถเชื่อถือได้ทั้งหมด เนื่องจากในอดีตที่ผ่านมา ทหารระดับสูงหลายนายเคยให้สัญญาว่า จะไม่รัฐประหาร แต่ท้ายที่สุดก็กลับคำพูด
“การที่ทหารบอกว่า จะไม่ปฏิวัติ ไม่ใช่หลักประกันว่าจะไม่มีการปฏิวัติจริง ๆ เพราะ รัฐประหารสองครั้งล่าสุดที่ผ่านมาก็บอกว่าจะ ไม่มีการปฏิวัติ ผมเชื่อว่า กองทัพเองก็ยังไม่ได้คิดจริงๆว่า ทหารควรเลิกยุ่งเกี่ยวกับการเมือง เชื่อว่าเขายังมองว่าเป็นหน้าที่ แต่ในปัจจุบัน ผมก็เชื่อว่า การรัฐประหารทำได้ไม่ง่าย เพราะ มีแรงกดดัน และแรงต้านจากสังคมที่ไม่ต้องการให้เกิดการรัฐประหาร ดังนั้น ปัจจัย ที่จะทำให้การรัฐประหารเกิดได้ยาก ไม่ได้มาจากแค่เฉพาะความคิดของกองทัพเอง” นายฐิติพล กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ผ่านโทรศัพท์
ขณะเดียวกัน น.ส. ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง แกนนำแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เชื่อว่า ท่าทีของกองทัพที่ระบุว่า จะปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นการส่งสัญญาณถึงการชุมนุมของนักศึกษา
“ดูท่าทีของฝ่ายขวาไทยแล้ว การออกมาพูดถึงการปกป้องสถาบันฯ ตั้งแต่การก่อตั้งกลุ่มไทยภักดี ท่าทีต่าง ๆ น่าจะต้องการสื่อสาร หรือส่งถึงเราด้วย แต่เราก็ต้องยืนยันว่า ข้อเรียกร้องของเราไม่ใช่การทำร้าย ทำลาย สถาบันพระมหากษัตริย์ แต่เป็นความต้องการให้สถาบันฯ ปรับปรุง อย่างไรก็ตาม การที่ทหารบอกว่าจะไม่ปฏิวัติ เราก็ไม่ได้เชื่อ 100 เปอร์เซ็นต์ว่า ทหารจะไม่ทำจริงๆ เพราะ สิ่งที่เคยเกิดขึ้นในอดีตมันก็ไม่เป็นเช่นนั้น” น.ส. ปนัสยา กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ผ่านโทรศัพท์
ในวันอังคารที่จะถึงนี้ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) คนใหม่ จะแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนอย่างเป็นทางการครั้งแรก หลังการรับตำแหน่ง ขณะเดียวกัน ฝ่ายประชาชนที่เห็นต่างจากรัฐบาลก็ประกาศว่าจะมีการชุมนุมใหญ่อีกครั้ง ในวันที่ 14 ตุลาคม 2563 เพื่อเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ อย่างไรก็ตาม น.ส. ปนัสยา ระบุว่า ปัจจุบัน ยังไม่มีข้อสรุปในเรื่องรูปแบบและแนวทางการชุมนุม
โปรดเกล้าฯ อาคม เติมพิทยาไพสิฐ เป็น รมว. กระทรวงการคลัง
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่แล้ว ตามการเปิดเผยของเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา
“นายกรัฐมนตรีได้กราบบังคมทูลว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ลาออกจากตำแหน่ง สมควรแต่งตั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแทนตำแหน่งที่ว่าง เพื่อความเหมาะสมและบังเกิดประโยชน์ต่อการบริหารราชการแผ่นดิน อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 158 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป” ตอนหนึ่งของประกาศแต่งตั้ง ลงวันที่ 1 ตุลาคม 2563 ระบุ
ทั้งนี้ นายฐิติพล มองว่า การแต่งตั้ง นายอาคม อดีตรัฐมนตรีว่าการ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทวงคมนาคมในยุครัฐบาล คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นการแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลปัจจุบันยังต้องการจะทำงานร่วมกับเฉพาะคนที่ คสช. ไว้ใจเท่านั้น
“การเลือกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ ซึ่งเป็นอดีตรัฐมนตรีจากยุค คสช. แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลนี้ไม่แตกต่างจาก คสช. ยิ่งตอบย้ำว่า การเลือกตั้งที่ผ่านมาเป็นแค่กระบวนการสร้างความชอบธรรมให้กับทหาร ทั้งการให้ประวิตร (วงษ์สุวรรณ-รองนายกรัฐมนตรี) ไปเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และกรณีนี้ ซึ่งผมมองว่ามีคนที่มีคุณสมบัติอีกมากมายที่สามารถมาเป็นรัฐมนตรีคลังได้ แต่เหมือนกับว่า คสช. เลือกคนที่ตัวเองไว้ใจมากกว่าจะเลือกจากความสามารถ” นายฐิติพล กล่าว