ศาลสั่งจำคุก 6 ปี อดีตพระพรหมดิลก วัดสามพระยา คดีเงินทอนวัด
2019.05.16
กรุงเทพฯ

ในวันพฤหัสบดีนี้ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำพิพากษาให้จำคุกอดีตพระพรหมดิลก อดีตเจ้าอาวาสวัดสามพระยา และกรรมการมหาเถรสมาคม 6 ปี และอดีตพระอรรถกิจโสภณ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสามพระยา 3 ปี ในความผิดฐานฟอกเงิน ทุจริตการจัดสรรงบประมาณ สำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ซึ่งสนับสนุนโครงการโรงเรียนพระปริยัติธรรม แต่วัดสามพระยาไม่มีโครงการโรงเรียนพระปริยัติธรรมแล้วกลับนำเงินดังกล่าวไปใช้สร้างอาคารอื่นแทน ซึ่งผิดวัตถุประสงค์ของงบประมาณ
คดีนี้ พนักงานอัยการ สำนักงานคดีปราบปรามการทุจริต 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายเอื้อน กลิ่นสาลี หรือ อดีตพระพรหมดิลก อดีตเจ้าอาวาสวัดสามพระยา และกรรมการมหาเถรสมาคม เป็นจำเลยที่ 1 และนายสมทรง อรรถกฤษณ์ หรือ อดีตพระอรรถกิจโสภณ อดีตผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสามพระยา เป็นจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือโดยทุจริต เพื่อให้ความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานฯ ร่วมกันฟอกเงินอันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 จากกรณีร่วมกันฟอกเงินจัดสรรงบประมาณสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ปี 2557 ให้กับวัดสามพระยา 5 ล้านบาท เพื่ออุดหนุนการศึกษาโรงเรียนพระปริยัติธรรม แต่วัดสามพระยาไม่มีการดำเนินโครงการโรงเรียนพระปริยัติธรรม และเงินดังกล่าวถูกนำมาใช้ก่อสร้างอาคารร่มธรรมแทน โดยจำเลยทั้งสองอ้างว่า การใช้เงินดังกล่าวเป็นความเข้าใจผิดเรื่องงบประมาณ
“จำเลยที่ 1 และ 2 ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิ์ร่วมเบิกเงินจากบัญชีวัด ได้มอบอำนาจให้ฆราวาสเบิกงบสนับสนุนโครงการโรงเรียนพระปริยัติธรรม 5 ล้านบาท ซึ่งอนุมัติโดย นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผอ.พศ. ทั้งที่ความจริงแล้ววัดสามพระยาไม่มีโรงเรียนพระปริยัติธรรมฯ และนำเงินดังกล่าวไปใช้ก่อสร้างอาคารร่มธรรม และอาคารพักสงฆ์” คำพิพากษาโดยสรุป
ศาลระบุว่า จำเลยทั้งสองอ้างว่า ที่ใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ครั้งนี้ เพราะเข้าใจผิดว่า เงินดังกล่าวได้รับอนุมัติตามที่เคยมีหนังสือ 2 ฉบับ ขอสนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้างอาคารร่มธรรม และอาคารพักสงฆ์ จากการตรวจสอบเลขรับหนังสือหน้าห้องนายนพรัตน์ อดีต ผอ.พศ. พบมีเพียงหนังสือของบก่อสร้างอาคารพักสงฆ์ ฉบับเดียวที่ถูกต้อง
“พยานหลักฐานทำให้เชื่อว่า เงินจัดสรรดังกล่าวมาจากการทุจริตจัดสรรงบของ พศ. ซึ่งจำเลยทั้งสองรู้ดี พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และ 2 มีความผิดจริง ให้ลงโทษจำคุก 3 ปี แต่จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานปกครองวัดจึงจะต้องได้รับโทษเป็นสองเท่า ให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 เป็นเวลา 6 ปี”
ทั้งนี้ จำเลยทั้งสอง ถูกสึกจากความเป็นพระ และถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ตั้งแต่การฝากขังในชั้นพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2561 เนื่องจากไม่ได้ยื่นคำร้องและหลักทรัพย์ในการขอปล่อยตัวชั่วคราว
ด้าน นายอรรณภพ บุญสว่าง ทนายความฝ่ายจำเลย เปิดเผยต่อสื่อมวลชน หลังเสร็จสิ้นการอ่านคำพิพากษาว่า จะยื่นประกันตัวจำเลยทั้ง 2 ราย ภายใน 2 วัน แต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าต้องใช้หลักทรัพย์เท่าใด และเตรียมยื่นอุทธรณ์ในคดีดังกล่าวภายในระยะเวลา 30 วัน แต่หากไม่สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ทันจะขอขยายเวลา 1 ครั้ง
“มีประเด็นที่จะต้องอุทธรณ์ คือเรื่องการของบประมาณอุดหนุนสร้างอาคารร่มธรรม วัดสามพระยาได้มีการขอเข้าไปพร้อมกับอาคารพักสงฆ์เป็นหนังสือสองฉบับ แต่มีปรากฎลงรับ ที่ พศ. ฉบับเดียว ทั้งที่หนังสือสองฉบับ ออกเลขเรียงกัน สำนวนคดีของตำรวจก็มีพิรุธ น่าสงสัยว่าภายใน พศ. มีการจัดการอย่างไร พยานหลักฐานทำให้ผมยังเชื่อว่าพระไม่มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้องกับกระบวนการของ พศ.” นายอรรณภพ กล่าว
“งบที่ขอเป็นงบก่อสร้าง แต่งบที่รับเราไม่ทราบว่า เจ้าหน้าที่จัดสรรหรือเปลี่ยนแปลงยังไงแล้วจึงเอามาให้วัด เงินที่รับเป็นเช็คสั่งจ่ายเข้าบัญชีวัด” นายอรรณภพ กล่าวเพิ่มเติม
ด้านนายกรณ์ มีดี เลขาธิการสมาพันธ์ชาวพุทธแห่งประเทศไทย กล่าวแก่เบนาร์นิวส์หลังทราบคำพิพากษาว่า ตนเองเชื่อว่าอดีตพระผู้ใหญ่ทั้ง 2 ท่าน ไม่รู้เห็นกับการทุจริตของ พศ. และเงินที่ได้รับสนับสนุนไม่ได้นำมาใช้เพื่อประโยชน์ในส่วนตัวของพระทั้ง 2 รูป
“เป็นเรื่องกฎหมายกับข้อเท็จจริงหรือประเพณีของพระ สิ่งที่ท่านปฏิบัติมาเป็นสิ่งที่ทำสืบๆ กันมา ทุกวัดทำแบบนี้ พระท่านไม่มีทางรู้หรอกว่า งบมาจากไหน จะบอกว่าเป็นการสมรู้ร่วมคิดกันเป็นไปไม่ได้ ที่ไหนก็เหมือนกันหมด ที่สำคัญท่านไม่ได้ทุจริต ทุกบาททุกสตางค์ท่านก็เอาไปก่อสร้างทั้งหมด มันไม่ควรจะลงโทษขนาดนี้ ท่านไม่รู้ก็พยายามตัดสินว่าท่านรู้” นายกรณ์ กล่าว
กวาดล้างเงินทอนวัดครั้งใหญ่
ในปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้กวาดล้างการทุจริตในวงการสงฆ์อย่างหนักหน่วง เช่น กรณีการร่วมฟอกเงินการทุจริตงบประมาณของสำนักงานพระพุทธศาสนา ราว 150 ล้านบาท ที่เป็นเงินอุดหนุนการศึกษาโรงเรียนพระปริยัติธรรม ตั้งแต่ปี 2557 และโครงการศูนย์กลางเผยแพร่พระพุทธศาสนา และโครงการของสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงฯ ของวัดสระเกศฯ จำนวน 63,700,000 บาท
มีคดีที่อัยการสำนักงานคดีปราบปราบการทุจริต ได้ยื่นฟ้อง อดีตพระเถระชั้นผู้ใหญ่ในวัดเขต กทม. อย่างวัดสามพระยา วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร กับกลุ่มฆราวาสชาย-หญิง รวม 10 ราย ที่ร่วมรับเงิน ฐานฟอกเงินและปฏิบัติหน้าที่่มิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ไว้แล้วต่อศาลอาญาคดีทุจริตฯ กลาง รวม 3 สำนวน คดีหมายเลขดำ อท.196/2561 อท.197/2561 อท.205/2561 โดยทั้งหมดถูกขังในเรือนจำไม่ได้รับการประกันตัวชั้นพิจารณา ซึ่งคดีอยู่ระหว่างรอไต่สวนพยาน
ส่วนกลุ่มอดีตข้าราชการ พศ. ระดับบริหารนั้น ได้แก่ นายพนม ศรศิลป์ อดีต ผอ.พศ. กับพวก รวม 4 คน อัยการก็ได้ยื่นฟ้องคดีไว้แล้วต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 7 เป็นคดีหมายเลขดำ อท.3/2562 ซึ่งคดีอยู่ระหว่างรอไต่สวนพยานเช่นกัน ขณะที่มีอดีตข้าราชการ พศ. บางรายได้หนีการดำเนินคดีออกไปนอกประเทศด้วยเช่นกัน
ก่อนหน้านี้ ศาลอาญาคดีทุจริตฯ ได้มีคำพิพากษาคดีเงินทอนวัด สำนวนแรกไปเมื่อวันที่ 18 เม.ย. 62 โดยพิพากษาจำคุก 26 ปี โดยไม่รอลงอาญา นายสมเกียรติ ขันทอง อายุ 55 ปี อดีตพระครูกิตติ พัชรคุณ และอดีตเจ้าคณะอำเภอชนแดน จ.เพชรบูรณ์ และเจ้าอาวาสวัดลาดแค ในความผิดฐานฟอกเงิน
สำหรับกรณีทุจริตการจัดสรรงบประมาณ พศ. นับตั้งแต่ปี 2557 ให้กับวัดต่างๆ ทั้งในพื้นที่ต่างจังหวัดและวัดในพื้นที่ กทม. มูลค่านับ 150 ล้านบาทนั้น พนักงานสอบสวนได้กล่าวหา อดีตพระเถระชั้นผู้ใหญ่ทั้งวัดสามพระยา วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร กับกลุ่มฆราวาส และกลุ่มข้าราชการสำนัก พศ. รวมกว่า 20 ราย ส่วนกรณีที่ยังมีการกล่าวหาอดีตพระเถระชั้นผู้ใหญ่ต่างจังหวัด ร่วมกับข้าราชการสำนัก พศ. ฟอกเงินที่ได้จากฉ้อฉลจูงใจให้วัดพื้นที่ต่างจังหวัดมาร่วมรับการจัดสรรงบประมาณ พศ. ในส่วนที่เป็นเงินอุดหนุนให้ 12 วัด 13 รายการ จำนวน 28 ล้านบาท ที่กำหนดให้ใช้ในการบูรณะซ่อมแซมวัด หรือเพื่อโครงการศึกษาพระปริยัติธรรม หรือโครงการเผยแผ่กิจกรรมทางศาสนานั้น แล้วภายหลังได้เรียกเงินคืนไปเป็นประโยชน์พวกตัวเอง