รองผู้ว่าฯ นราธิวาส ร่วมพูดคุยกับผู้นำศาสนา แก้ปัญหาความไม่เข้าใจ กรณีบูรณะมัสยิดโบราณ

รพี มามะ
2016.02.01
TH-mosque-620 มัสยิดตะโละมาเนาะ อายุ 392 ปี ในอำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส 30 ม.ค. 2559
เบนาร์นิวส์

ปรับปรุงข้อมูล 12:38 p.m. ET 2016-02-02

ในวันจันทร์ (1 ก.พ. 2559) ณ ห้องทำงานคณะกรรมการอิสลาม จังหวัดนราธิวาส นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส และคณะได้เข้าร่วมพูดคุยกับผู้นำศาสนาอิสลาม เพื่อไกล่เกลี่ยปัญหาข้อเรียกร้องของชมรมศาสนาอิสลามที่ต้องการให้ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภายใต้ (ศอ.บต.) เปิดโอกาสให้ตัวแทนทางศาสนา และประชาชนมีส่วนร่วมในโครงการบูรณะมัสยิดตะโละมาเนาะ และการพัฒนาเป็นศูนย์การเรียนรู้ มัสยิดเก่าแก่อายุร่วม 400 ปี ในอำเภอบาเจาะ

การประชุมครั้งนี้ใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมง โดยนายซาฟีอี เจะเลาะ ประธานคณะกรรมการอิสลาม จังหวัดนราธิวาส ได้แสดงจุดยืนชัดเจนว่า ผู้นำศาสนาไม่มีเจตนาคัดค้านโครงการแต่อย่างใด เพียงแค่ต้องการเรียกร้องให้ ศอ.บต. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการโดยตรง ดำเนินการบูรณะมัสยิดโดยเปิดโอกาสให้ตัวแทนศาสนาอิสลาม และคนในพื้นที่มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น เพราะโครงการดังกล่าว ชมรมอิหม่าม คอเต็บ บิหลั่น และคณะกรรมการอิสลาม จังหวัดนราธิวาส ถือเป็นหน่วยงานที่ดำริริเริ่มโครงการนี้เอง

เนื่องจากเมื่อวันเสาร์ (30 ม.ค. 2559) ที่ผ่านมา นายแวสะมะแอ แลแตบาตู รองประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส ในฐานะประธานชมรมอิหม่าม คอเต็บ บิหลั่น อ. บาเจาะ จ. นราธิวาส ได้อธิบายว่า โครงการแหล่งเรียนรู้ตะโละมาเนาะ เกิดจากประชาชนในพื้นที่บ้านตะโละมาเนาะ ได้เสนอขอโครงการนี้ต่อ องค์การความร่วมมืออิสลาม หรือ โอไอซี เมื่อครั้งตัวแทนโอไอซี เดินทางมาเยี่ยมมัสยิดนี้ เมื่อปี 2555 แต่ต่อมาทาง ศอ.บต.เสนอให้ใช้งบประมาณของรัฐ โดยศอ.บต. อนุมัติเงินอุดหนุนให้กับชมรมอิหม่ามฯ จัดทำแบบก่อสร้าง ต่อมาในปี 2556 รัฐบาลก็ได้อนุมัติงบประมาณ 200 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการนี้

นายแวสะมะแอ กล่าวถึงล่าสุดเมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2559 ว่าทางชมรมฯได้ทำหนังสือแสดงเจตนารมณ์สนับสนุนโครงการนี้ต่อ ศอ.บต.อีกครั้ง โดยให้สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส ในฐานะองค์กรนิติบุคคลเป็นผู้ดำเนินการแทนชมรมอิหม่ามฯ โดย ศอ.บต.เป็นผู้สนับสนุนงบประมาณ

"แต่ต่อมาเมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2559 ศอ.บต.กลับทำหนังสือเชิญประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส ประธานชมรมอิหม่ามฯ ไปเป็นสักขีพยานในการลงนามสัญญาระหว่าง ศอ.บต กับ บริษัทผู้รับเหมาโครงการ แต่ไม่มีใครไป" นายแวสะมะแอ กล่าว

นายแวสะมะแอ กล่าวว่า จากลำดับเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นทางภาคประชาชนในพื้นที่ได้มาหารือกัน และได้ข้อสรุปว่าเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความไม่จริงใจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และแสดงถึงการขัดขวางกีดกันการมีส่วนร่วมขององค์กรทางศาสนาและภาคประชาชน

ผู้สื่อข่าวเบนาร์นิวส์ ได้ติดต่อขอสัมภาษณ์ นายภานุ อุทัยรัตน์ เลขาธิการ ศอ.บต. ทางโทรศัพท์ในเรื่องนี้ แต่นายภานุปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ โดยระบุเพียงว่า โครงการนี้ทางจังหวัดนราธิวาส และนายอำเภอบาเจาะเป็นผู้ดำเนินการ แม้ศอ.บต.เป็นเจ้าของงบประมาณและเป็นคู่สัญญาจ้าง ซึ่งต้องทำตามระเบียบราชการ แต่การตันสินใจอยู่ที่จังหวัด ไม่เกี่ยวกับศอ.บต.

สำหรับรูปแบบการบูรณะและขยายสิ่งปลูกสร้างเพิ่มเติมนั้น ในการประชุมของ ศอ.บต. ที่สำนักงานองค์การบริหารส่วนตำบลลุโบะสาวอ อ. บาเจาะ จ. นราธิวาส พร้อมอนุมัติงบประมาณ 200 ล้านนั้น มีรายละเอียดการปรับปรุงภูมิทัศน์ และทัศนียภาพมัสยิดตะโละมาเนาะ ดังนี้ โซน 1 ซ่อมแซมดูแลรักษามัสยิด และปรับปรุงในส่วนที่ชำรุดให้คงตามสภาพเดิม เวนคืนบ้านของชาวบ้านที่บดบังทัศนียภาพมัสยิด 5 หลัง ย้ายสร้างใหม่ในบริเวณใกล้เคียง สร้างห้องประชุม หอจดหมายเหตุ ย้ายโรงเรียนตาดีกาที่อยู่ด้านข้างมัสยิด และสร้างอาคารใหม่สองชั้น โซน 2 บริเวณภายนอกมัสยิดเนื้อที่ 10 ไร่ ขององค์การบริหารส่วนตำบลลุโบะสาวอ สร้างอาคารแหล่งพัฒนาวิทยาลัยอีหม่าม แหล่งเรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่น พิพิธภัณฑ์ตะโละมาเนาะ โซน 3 บริเวณทางเข้าด้านหน้า มีประตูทางเข้า (ปินตูกรือบัง) อาคารสำนักงานบริหารจัดการโครงการ สร้างอาคารที่พัก 12 ห้อง ไว้รองรับแขกจากต่างถิ่นมาเยือนและศูนย์อาหารและสินค้าพื้นเมือง

ด้านนายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ รอง ผวจ. นราธิวาสได้สรุปประเด็นการประชุมในวันจันทร์นี้ว่า ศอ.บต. บริษัทคู่สัญญา ประชาชนในพื้นที่ และชมรมประธานชมรมอิหม่าม คอเต็บ บิหลั่น ทุกฝ่ายไม่ได้คัดค้านโครงการบรูณะมัสยิดแห่งนี้ เพียงแต่ผู้นำทางศาสนาข้องใจในความไม่ชัดเจนของรูปแบบการจัดการโครงการที่ผิดข้อตกลงในระยะแรก ซึ่ง ศอ.บต. เคยลงลายลักษณ์อักษรร่วมกับชมรมประธานชมรมอิหม่าม คอเต็บ บิหลั่น และคณะกรรมการอิสลามว่าจะให้ทั้ง 2 องค์กรนี้ เป็นผู้ร่วมดูแลงานก่อสร้าง-บูรณะมัสยิด และยังข้องใจในกรณีที่ ศอ.บต.ทำการลงนามคู่สัญญาโครงการ โดยไม่มีตัวแทนของทั้ง 2 องค์กรมีส่วนร่วมจัดทำ

โดยกล่าวสรุปได้ว่า ข้อข้องใจของผู้นำศาสนาอิสลามมี 3 ข้อ คือ 1. ความชัดเจนในที่ดินการก่อสร้าง 2. การมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ และ 3. หน่วยงานที่รับผิดชอบเมื่อโครงการดำเนินแล้วเสร็จ

เมื่อเสร็จสิ้นการประชุม รอง ผวจ.นราธิวาส ได้รับปากว่า จะนำรายละเอียดการประชุม และข้อข้องใจของผู้นำทางศาสนาทุกข้อไปพูดคุยกับนายภานุ อุทัยรัตน์ เพื่อให้เกิดความชัดเจนในแนวทางการแก้ปัญหาต่อไป

มัสยิดตะโละมาเนาะ ตั้งอยู่บนถนนสายปัตตานี-นราธิวาส ในอำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส ถูกสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2167 ปัจจุบันมีอายุ 392 ปี มีความเก่าแก่ระดับเดียวกับมัสยิดรัฐตรังกานู ประเทศมาเลเซีย และเกาะชวา ประเทศอินโดนิเซีย โครงสร้างหลักของมัสยิดทำจากไม้ แต่มีลักษณะคล้ายคลึงกับมัสยิดโลหะ สิ่งสำคัญที่ทำให้มัสยิดแห่งนี้มีชื่อเสียงและเป็นที่เคารพศรัทธาของชาวบ้าน นั่นเพราะมัสยิดแห่งนี้เป็นที่เก็บคัมภีร์กุรอ่านที่เขียนด้วยลายมือของท่านวันฮุเซน นอกจากนี้ ภายในยังมีเครื่องใช้ ถ้วยชามโบราณจำนวนมากเก็บรักษาอยู่ด้วย

* เพิ่มเติมข้อมูล - รูปแบบการบูรณะและขยายสิ่งปลูกสร้าง บริเวณมัสยิดตะโละมาเนาะ

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง