บีอาร์เอ็น-จนท.ไทยโต้แย้งอัตลักษณ์ศพยาห์รี

มารียัม อัฮหมัด และมุซลิซา มุสตาฟา
2022.10.27
ปัตตานี และกัวลาลัมเปอร์
บีอาร์เอ็น-จนท.ไทยโต้แย้งอัตลักษณ์ศพยาห์รี เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นตรวจสถานที่เกิดเหตุวางระเบิด ที่ทำให้เจ้าหน้าที่ทหารพรานบาดเจ็บ 5 นาย ในอำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส วันที่ 21 ตุลาคม 2565
เบนาร์นิวส์

ขบวนการบีอาร์เอ็น ยืนยันว่าศพชายที่พบในแม่น้ำโกลก จังหวัดนราธิวาส เป็นหนึ่งในระดับแกนนำกองกำลังปฏิบัติการ แม้ว่าจะไม่ได้มีผลการตรวจดีเอ็นเอยืนยันอย่างชัดเจนก็ตาม ขณะที่เจ้าหน้าที่ไทยปฏิเสธข้อกล่าวหาการอุ้มฆ่า

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วขบวนการบีอาร์เอ็น ได้ส่งอีเมลแถลงการณ์ที่ใช้ถ้อยคำรุนแรงเกี่ยวกับการฆาตกรรมครั้งนี้มาให้เบนาร์นิวส์

“บีอาร์เอ็น ขอประณามอย่างรุนแรงต่อการวิสามัญฆาตกรรมประชาชนที่ต้องสงสัยว่ามีความสัมพันธ์กับบีอาร์เอ็น การกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดอนุสัญญาเจนีวา” ขบวนการบีอาร์เอ็นกล่าว

ขณะเดียวกัน นักเคลื่อนไหวในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า มีการลักพาตัวในลักษณะเดียวกันอย่างน้อย 6 ครั้ง ในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งคดีนายยาห์รี ดือเลาะ อายุ 42 ปี ซึ่งกลายเป็นศพลอยมาติดฝั่งไทย เมื่อปลายเดือนกันยายน ผ่านมานี้

พล.ท. ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวกับเบนาร์นิวส์เมื่อวันศุกร์ที่แล้วว่า ศพที่พบ ไม่ใช่นายยาห์รี สมาชิกบีอาร์เอ็น

“ตรวจสอบลายนิ้วมือของศพแล้วไม่ใช่ญาติหรือครอบครัวของเขาเลย เป็นคนละคนกัน... เนื้อเยื่อของศพที่เราตรวจ ไม่สามารถตรวจได้ แต่มันมีกลุ่มขบวนการบิดเบือนในความเป็นจริง เป็นการบิดเบือน” พล.ท. ศานติ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ผ่านทางเมสเสจ

จากข้อมูลของแหล่งข่าวใกล้ชิดขบวนการบีอาร์เอ็น นายยาห์รี เป็นระดับหัวหน้ากองกำลังเยาวชนในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ซึ่งได้หลบหนีไปอยู่ในรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย ซึ่งมีพรมแดนติดกับประเทศไทย 

“เนื้อเยื่อของศพที่เราตรวจ ไม่สามารถตรวจได้ จะต้องขุดศพออกมาเพื่อจะตรวจสอบอีกครั้งว่าเป็นศพของใคร แต่ทางเจ้าหน้าที่ยืนยันว่า ไม่ใช่ศพของนายยาห์รีแน่นอน ทั้งนี้ทั้งนั้น รอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจยืนยันชัดเจนดีกว่า” พล.ท. ศานติ กล่าว

ด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่ ไม่ได้ตอบคำถามเบนาร์นิวส์ ว่ามีการระบุอัตลักษณ์ของผู้ตายหรือไม่ นับตั้งแต่ พล.ท. ศานติ กล่าวความเห็นกับเบนาร์นิวส์ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

นายอาร์ฟาน วัฒนะ เลขาธิการกลุ่ม เดอะ ปาตานี ภูมิภาคนราธิวาส ซึ่งเป็นกลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิในการกำหนดชะตาของพื้นที่ชายแดนใต้ กล่าวว่า มีผู้พบศพนายยาห์รี ลอยในแม่น้ำโกลกใกล้ฝั่งไทย เมื่อวันที่ 29 กันยายน สภาพศพบวม หน้าดำ เมื่อญาติไปดูศพที่โรงพยาบาลสุไหงโกลก ปรากฏว่าภรรยาสามารถระบุตัวสามีได้จากรอยแผลเป็นที่ขาศพ จึงสันนิษฐานไปว่า ศพนี้ คือนายยาห์รี ดือเลาะ

นางนูไรนิง ดือรอแม ภรรยานายยาห์รี ดือเลาะ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ ในวันพฤหัสบดีนี้ว่า

“วันสองวันนี้ ก็ได้มีทางเจ้าหน้าที่มาที่บ้านบอกว่าให้ไปที่โรงพัก บอกจะขอขุดศพ เขาบอกว่าศพกับสามีเป็นคนละคนกัน แต่ฉันก็ยืนยันยังไง ๆ ไม่ยอมขุด ยืนยันว่าเป็นคนเดียวกัน เพราะจำได้ว่าเขาคือสามี จำได้จากแผลที่ขา”

นายอาร์ฟานและนางนูไรนิง กล่าวอีกว่า ได้ส่งเลือดจากศพไปตรวจสอบที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ แต่ไม่ผลการตรวจออกมา

ในวันนี้ เบนาร์นิวส์ได้ติดต่อโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เพื่อสอบถามถึงผลการตรวจดีเอ็นเอ แต่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถให้ข้อมูลได้

ตอนนี้เขาอยู่ที่ไหน

ขณะเดียวกัน อุสตาซ อานัส อับดุลเราะห์มาน หัวหน้าคณะของบีอาร์เอ็น ที่เข้าร่วมในการเจรจาสันติภาพที่มีมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก ยังยืนยันตามแถลงการณ์ของตนที่มีออกมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ผู้ถูกอุ้มฆ่าเป็นสมาชิกของบีอาร์เอ็น

โดยอุสตาซ อานัส กล่าวว่า มีการระบุศพนายยาห์รี จากการตรวจดีเอ็นเอ โดยอาศัย “ข้อมูลจากครอบครัว ในขณะนั้น”

อุสตาซ อานัส กล่าวว่า กลุ่มบีอาร์เอ็นเชื่อถือข้อมูลจากทางครอบครัวผู้เสียชีวิตมากกว่าจากแหล่งอื่น ๆ แต่ไม่ได้กล่าวในรายละเอียดเพิ่มเติม

“เขาแน่ใจว่าศพที่พบคือ ยาห์รี ผมเข้าใจว่าทหารขอขุดศพยาห์รี แต่ทางครอบครัวไม่ยินยอม” อุสตาซ อานัส กล่าวกับเบนาร์นิวส์

ทั้งนี้ ในวันที่ 3 ตุลาคม 2565 ครอบครัวได้รับศพนายยาห์รี เพื่อนำมาประกอบพิธีที่กูโบร์บ้านพงกือปัส ต.ปะลุรู อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส

“ถ้าทหารว่าศพนั้นไม่ใช่ยาห์รี แล้วตอนนี้เขาอยู่ที่ไหน เขาไม่ได้อยู่ในมาเลเซีย และในไทยด้วย” อุสตาซ อานัส กล่าว

ด้าน เจ้าหน้าที่ไทยปฏิเสธข้อกล่าวหา “เจ้าหน้าที่ไทยไม่ได้ลักพาตัวและสังหารนายยาห์รี แน่นอน” เจ้าหน้าที่ผู้ไม่ประสงค์ออกนาม เพราะไม่ได้รับมอบหมายหน้าที่ กล่าวกับเบนานิวส์เมื่อสัปดาห์ก่อน

221027-th-deepsouth-suspect-yahree dueloh.jpg

ภาพไม่ระบุวันที่ของ นายยาห์รี ดือเลาะ (Yahree Dueloh หรือ Zahri Bin Abdullah) สมาชิกขบวนการบีอาร์เอ็น (เจ้าหน้าที่ทหารไทย)

เดอะ ปาตานี ได้สืบสวนการลักพาตัวบุคคลข้ามประเทศจากมาเลเซียในช่วง 10 ที่ผ่านมา ซึ่งพบการกระทำดังกล่าวรวม 6 ครั้ง นายอาร์ฟาน วัฒนะ เลขาธิการกลุ่ม กล่าว 

“ในรอบสิบปี มีการเกิดขึ้น 6 เคส เฉพาะในรัฐกลันตัน ห้าเคสมีข้อมูลว่าเจ้าหน้าที่ไทยทำร่วมกับเจ้าหน้าที่นอกแถวมาเลย์ แต่เคสล่าสุดยังไม่มีข้อมูลชัดเจน” อาร์ฟานกล่าวกับเบนาร์นิวส์ทางโทรศัพท์

หลังจากการพบศพนายยาห์รี ได้เกิดเหตุรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนใต้อีกสองครั้ง

เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2565 ได้เกิดเหตุคนร้ายลอบวางระเบิดโจมตีรถยนต์ของทหารพรานที่ 4905 ขณะเดินทางไปส่งกำลังพลที่ป่วย ณ โรงพยาบาลจะแนะ จังหวัดนราธิวาส ทำให้เจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ 5 นาย เบื้องต้นเจ้าหน้าที่สันนิษฐานว่าเป็นการก่อเหตุเพื่อสร้างสถานการณ์ความไม่สงบ (ภาพประกอบข้างบน)

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจถูกยิงได้รับบาดเจ็บ 2 นาย ขณะที่ผู้ต้องหาคดีความมั่นคงเสียชีวิต 1 ราย หลังเข้าปิดล้อมบ้านต้องสงสัยในพื้นที่ อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา

นับตั้งแต่การปะทุขึ้นของสถานการณ์สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2547 จนถึงเดือนมีนาคมปีนี้ มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 7,344 คน และได้รับบาดเจ็บ 13,641 คน ในพื้นที่ที่คนส่วนใหญ่มีเชื้อสายมลายูและนับถือศาสนาอิสลาม ตามตัวเลขของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ชายแดนภาคใต้

มาตาฮารี อิสมาแอ ในนราธิวาส ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง