ปานปรีย์ : ไทยพร้อมเป็นตัวกลางสันติเมียนมา พร้อมดึงอาเซียนร่วม

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2024.04.23
อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก
ปานปรีย์ : ไทยพร้อมเป็นตัวกลางสันติเมียนมา พร้อมดึงอาเซียนร่วม นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมด้วยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และนายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ร่วมถ่ายภาพหลังจากลงพื้นที่ที่ อ.แม่สอด จ.ตาก วันที่ 23 เมษายน 2567
นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์

นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางเยือน อ.แม่สอด จ.ตาก เพื่อติดตามสถานการณ์สู้รบในเมียนมาอย่างใกล้ชิด ระบุว่า ไทยพร้อมเป็นตัวกลางในการนำเมียนมาสู่สันติ โดยระบุว่า ได้เริ่มพูดคุยกับกลุ่มชาติพันธุ์ในเมียนมาแล้ว และพร้อมดึงสมาชิกอาเซียนร่วมแก้ไขปัญหาด้วย

“มีการพูดคุยในระดับหนึ่งแล้ว ของกลุ่มต่าง ๆ ทั้งชาติพันธุ์ ที่มีอาวุธอยู่ด้วย ทั้งในส่วนของรัฐบาลเมียนมาก็พูดคุย ในส่วนของเมียวดีก็ยังเป็นเรื่องที่การเจรจายังอยู่ในฝ่ายของเขา เขายังไม่มีเวลาที่จะมาคุยกับเรา แต่เขารู้แล้วว่า เราพร้อมที่จะเป็นตัวเชื่อมตัวประสาน พร้อมที่จะแก้ปัญหาของเมียนมาทั้งระบบ เพื่อให้กลับสู่สันติภาพโดยเร็ว” นายปานปรีย์ กล่าว

นายปานปรีย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “เราคิดว่า อาเซียนควรมีส่วนเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะเมียนมาเป็นหนึ่งในสมาชิกของอาเซียน ซึ่งตรงนี้มีการส่งข้อความไปถึงอาเซียนแล้ว สองอาทิตย์ที่ผ่านมา ซึ่งคิดว่าเร็ว ๆ นี้ น่าจะตอบมา และคงมีการประชุมระดับอาเซียนอีกด้วย” 

นายปานปรีย์ ที่เพิ่งถูกแต่งตั้งให้เป็นประธานคณะกรรมการเฉพาะกิจบริหารสถานการณ์อันเนื่องมาจากความไม่สงบในเมียนมา เดินทางลงพื้นที่พร้อมกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และนายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม 

ด้านความมั่นคง นายสุทิน ระบุว่า “สถานการณ์ ณ วันนี้ อยู่ในระดับที่เรารับมือได้ เราเตรียมการในระดับปกติไม่มีความจำเป็นที่จะยกระดับการรับมือ มีกองกำลังที่พร้อมจะผลักดัน หรือให้ความอบอุ่นให้กำลังใจชาวบ้านได้ เรามีข้อตกลงกับฝั่งโน้นว่า ถ้าหากจะต้องนำเครื่องบินขึ้นมาจะต้องแจ้งเราก่อน ถ้าใกล้ชิดพรมแดนเรา เราก็พร้อมสกัดทันที แต่ก็ยังไม่พบการรุกล้ำกล้ำกลืนทางอากาศ”

ขณะที่ สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 1 บ้านริมเมย อ.แม่สอด ฝั่งไทย เปิดทำการตามปกติ แต่ฝั่งเมียนมายังไม่มีคนข้ามมาเนื่องจากระบบการออกหนังสือผ่านแดนชั่วคราวของเมียนมาขัดข้อง แต่สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 บ้านวังตะเคียนใต้ อ.แม่สอด ปิดชั่วคราวต่อเนื่องเป็นวันที่สี่

ศูนย์สั่งการชายแดนไทย-เมียนมา จ.ตาก ระบุว่า ฝ่ายไทยรับทราบข้อมูลว่า ช่วงสัปดาห์นี้ ในเมียนมาลึกเข้าไปจากฝั่งไทยประมาณ 1.5-12 กิโลเมตร ยังคงมีการสู้รบระหว่างกองทัพเมียนมากับฝ่ายต่อต้านเป็นระยะ โดยมีการใช้อาวุธหนัก และใช้อากาศยานทิ้งระเบิดในพื้นที่บางส่วน แต่ไม่มีผลกระทบต่อฝั่งไทย

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตาก เปิดเผยว่า ปัจจุบัน มีผู้หนีภัยการสู้รบจากเมียนมาใน จ.ตาก 735 คน ในนั้นเป็นเด็ก 255 คน ขณะเดียวกัน มีเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลพื้นที่จังหวัดตาก สะสมแล้ว 114 ราย ในวันจันทร์ที่ผ่านมา นพ. ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้เดินทางลงพื้นที่ อ.แม่สอด ยืนยันว่า ไทยพร้อมให้การรักษาผู้ได้รับผลกระทบโดยไม่แบ่งฝ่าย

240423-th-mn-border-concern-KNLA.jpeg

ทหารจากกลุ่มกบฏกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยงถือเครื่องยิง RPG ที่ฐานทัพทหารเมียนมา ในหมู่บ้านทิงยันงีหน่อง ชานเมืองเมียวดี ชายแดนไทย-เมียนมา ภายใต้การควบคุมของกลุ่มสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง วันที่ 15 เมษายน 2567 (อธิษฐ์ พีระวงศ์เมธา/รอยเตอร์)

หลังกองทัพเมียนมาทำรัฐประหารยึดอำนาจจาก นายวิน มินต์ ประธานาธิบดี และนางอองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ในเมียนมาก็เกิดการสู้รบตลอดมา ทั้งจากประชาชนที่ต่อต้านการรัฐประหาร และกองกำลังชาติพันธุ์ ทำให้มีประชาชนพลัดถิ่นในประเทศเมียนมาจำนวนมาก

ตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน 2567 กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen Nation Liberation Army - KNLA) กลุ่มสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union - KNU) และกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (People's Defence Force - PDF) ได้ประกาศว่า สามารถควบคุมพื้นที่เมืองเมียวดีไว้ได้ ทำให้ประชาชนเมียนมาจำนวนหนึ่งข้ามแดนมายังประเทศไทยเพื่อหนีภัยสงคราม และหลายฝ่ายประเมินกันว่าจะมีการสู้รบเกิดขึ้นอีกระยะหนึ่ง 

ก่อนหน้านี้มีสถานการณ์ตึงเครียด ปลายเดือนมีนาคม 2567 รัฐบาลไทยได้เริ่มโครงการระเบียงช่วยเหลือทางมนุษยธรรม (Humanitarian Assistance Corridor) แก่ประชาชนเมียนมาที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบในประเทศ โดยส่งมอบถุงยังชีพจำนวน 4,000 ถุง ซึ่งบรรจุข้าวสาร อาหารแห้ง และของอุปโภคบริโภคอื่น ๆ สำหรับประชาชนเมียนมาประมาณ 20,000 คน ในพื้นที่รัฐกะเหรี่ยง

สำหรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น นางชลิดา ทาเจริญศักดิ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศักยภาพชุมชน กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า รัฐบาลไทยควรวางแผนระยะยาวเพื่อรับมือปัญหาในเมียนมา

“ตอนนี้ กองทัพเมียนมา เพลี่ยงพล้ำมากแล้ว ค่อนข้างแน่นอนว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลง อนาคตก็คงจะมีการเกิดขึ้นของสหพันธรัฐ มีการซอยย่อยการปกครองสำหรับรัฐบาลไทยยังคงขาดแผนการระยะยาว มีเพียงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ไทยควรยกระดับท่าที เช่น เชิญอาเซียนประชุมพิเศษเพื่อรับฟังความเห็นจากประเทศต่าง ๆ เชิญภาคส่วนอื่น ภาคประชาสังคม สื่อมวลชน กระทั่งองค์กรในเมียนมา” นางชลิดา กล่าว

“ไทยควรช่วยเหลือมากกว่า ระเบียงมนุษยธรรมแห่งเดียว เพราะคนเมียนมาได้รับผลกระทบมากกว่านั้นเป็นสิบเท่า ควรมีพื้นที่ช่วยเหลือหลาย ๆ  ที่กระจายทั่วประเทศ ควรมองภาพใหญ่ข้ามเมียวดีได้แล้ว แม้กระทั่งการพูดคุย ก็ควรคุยกับ NUG เพราะเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า รัฐบาลทหารไปต่อไม่ไหวแล้ว” นางชลิดา กล่าวเพิ่มเติม

รุจน์ ชื่นบาน ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง