นักวิชาการ-นักสิทธิชี้ ทักษิณคุยฝ่ายต่อต้านเมียนมา มีทั้งดีและเสีย
2024.05.08
กรุงเทพฯ

นักวิชาการ-นักสิทธิมนุษยชนเสียงแตก กรณีมีข่าวว่า นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้พูดคุยกับฝ่ายต่อต้านเมียนมา บ้างมองว่า เป็นเรื่องที่ดี ขณะเดียวกันมองว่า อาจมีผลในแง่ลบ ขณะเดียวกัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ไม่ได้ปฏิเสธข่าวลือดังกล่าว โดยเชื่อว่า หากช่วยสร้างสันติสุขในเมียนมาได้ก็เป็นเรื่องที่ดี
ประเด็นดังกล่าวสืบเนื่องจาก เมื่อวันอังคารที่ผ่านมาวอยซ์ออฟอเมริกา (VOA) สำนักข่าวเพื่อนบ้านของเบนาร์นิวส์ ได้รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวที่ไม่เปิดเผยตัวตนว่า นายทักษิณได้พูดคุยอย่างไม่เป็นทางการกับตัวแทน รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติเมียนมา (National Unity Government-NUG) รวมทั้ง กลุ่มสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union - KNU) และตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ในฐานะ “ตัวกลางไกล่เกลี่ย” ที่เชียงใหม่ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2567
“ดีลนี้ไม่ง่ายแน่นอน ทุกคนไม่เชื่อว่า ทักษิณจะทำสำเร็จ เพราะเขาไม่มีพื้นฐานความสัมพันธ์กับกลุ่มชาติพันธุ์ การแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง หรือประสบการณ์เรื่องกระบวนการสันติสุขเลย ประเด็นนี้ไม่ใช่ประเด็นปกติ ประเด็นธรรมดา เพราะความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมันมีประวัติศาสตร์ยาวนาน แต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ก็มีจุดยืน และข้อเรียกร้องที่ต่างกันออกไป ดังนั้น มันไม่ง่าย และอาจจะทำให้สถานการณ์วุ่นวายได้ด้วยซ้ำ” นางชลิดา ทาเจริญศักดิ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศักยภาพชุมชน กล่าวกับเบนาร์นิวส์
ขณะที่ รศ.ดร. ดุลยภาค ปรีชารัชช รองผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เชื่อว่า บารมีทางการเมืองของนายทักษิณอาจจะมีผลกับการเจรจาครั้งนี้
“ผมเชื่อว่าคุณทักษิณมีบารมี และคอนเน็กชัน ซึ่งอาจจะทำให้ฝ่ายต่าง ๆ เกรงใจได้ และการที่คุณทักษิณเห็นอกเห็นใจกลุ่มชาติพันธุ์ก็เป็นเรื่องปกติ ขณะที่ฝ่ายกลุ่มชาติพันธุ์ก็คงพยายามที่จะพูดคุยกับผู้มีหลักผู้ใหญ่ในประเทศต่าง ๆ เพื่อถ่วงดุลทางการเมือง ซึ่งนอกจากไทย เขาก็มีการพูดคุยกับจีน สหรัฐฯ หรืออินเดียด้วย เพราะต้องการตัวแสดงภายนอกเพื่อมาร่วมแก้ปัญหา” รศ.ดร. ดุลยภาค กล่าวกับเบนาร์นิวส์
ถึงปัจจุบัน แม้ว่านายทักษิณจะไม่ได้ยืนยันกับสื่อมวลชนเรื่องการพูดคุยดังกล่าว แต่รัฐบาลไทยก็ไม่ได้ปฏิเสธข่าวดังกล่าวเช่นกัน
“เราก็อยากเห็นการสันติภาพที่เกิดขึ้นอย่างถาวรในประเทศพม่า เพราะฉะนั้นใครช่วยอะไรได้ก็ควรจะช่วย เพราะว่านั่นก็เป็นเรื่องที่ทางพม่า หรือว่าชนกลุ่มน้อยเขามาขอให้ท่านทักษิณ เป็นคนช่วยก็เป็นเรื่องของเขา เป็นสิทธิของเขา เขาจะปรึกษาหารือใคร ไม่เกี่ยวกับรัฐบาล” นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวกับสื่อมวลชนในวันจันทร์
การสู้รบในเมียนมาปะทุขึ้นหลังกองทัพเมียนมาทำรัฐประหารยึดอำนาจจาก นายวิน มินต์ ประธานาธิบดี และนางอองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ในเมียนมาก็เกิดการสู้รบตลอดมา ทั้งจากประชาชนที่ต่อต้านการรัฐประหาร และกองกำลังชาติพันธุ์ ทำให้มีประชาชนพลัดถิ่นในประเทศเมียนมาจำนวนมาก
“ตอนนี้ ข้อดีหรือข้อเสียของการที่คุณทักษิณเริ่มเจรจายังเห็นไม่ชัด เพราะยังไม่มีสัญญาณตอบรับจากรัฐบาลทหารพม่า หรือกองกำลังติดอาวุธ แต่หากคุณทักษิณเข้าไปทำหน้าที่ผู้ไกล่เกลี่ย (Mediator) การตอบรับอาจจะช้า เพราะรัฐบาลทหารคงไม่ยอมรับคนกลางง่าย ๆ จึงควรจะเริ่มวางตัวในฐานะ ผู้อำนวยความสะดวก (Facilitator) ซึ่งมีบทบาทที่เบา และคล่องตัวกว่า เพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจก่อน” รศ.ดร. ดุลยภาค กล่าว
การสู้รบรุนแรงขึ้นอีก เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2566 พันธมิตรสามภราดรภาพ (Three Brotherhood Alliance) ที่ประกอบด้วย กองกำลังโกก้าง (Myanmar National Democratic Alliance Army - MNDAA) กองกำลังปลดปล่อยชาติตะอาง (Ta'ang National Liberation Army - TNLA) และ กองทัพอาระกัน (Arakan Army - AA) ได้รวมตัวบุกโจมตีกองทัพเมียนมา ในพื้นที่ตอนเหนือของรัฐฉานใช้ชื่อปฏิบัติการ 1027 มีเป้าหมายโค่นล้มระบอบเผด็จการทหาร และสถาปนาสหพันธรัฐประชาธิปไตยแห่งสหภาพพม่า
“จากที่ทราบข้อมูลกลยุทธ์ของกลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่มไม่ต้องการจะคุยกับกองทัพเมียนมาแล้ว เพราะเคยส่งตัวแทนเข้าไปเจรจาแล้วคนเจรจาถูกทำร้าย จึงไม่มีความไว้ใจ กลยุทธ์ของเขาจึงมีทางเดียวคือรุก ชนะให้ให้ได้แล้วค่อยคุย ดังนั้น ข่าวทักษิณอาจสะท้อนความไม่เข้าใจปัญหาของทักษิณเองก็ได้” นางชลิดา กล่าว
นับจากปฏิบัติการ 1027 กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ได้ร่วมกันบุกโจมตีฐานที่มั่นของกองทัพเมียนมา และกองกำลังพันธมิตร เพื่อยึดครองเมืองต่าง ๆ จนทำให้มีการปะทะกันหลายจุดในประเทศเมียนมา และประชาชนเมียนมาบางส่วนต้องหนีภัยการสู้รบข้ามมายังฝั่งไทย
“IDP (Internally Displaced People หรือผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ) เพิ่มสูงขึ้นมาก ประเมินแล้วน่าจะมากกว่า 750,000 คน การสู้รบยังมีเกือบตลอดเวลา โดยเฉพาะเขตตรงข้ามแม่สอด พบพระ อุ้มผาง คนก็เลยต้องขยับมาใกล้ชายแดนมากขึ้น” น.ส. พรสุข เกิดสว่าง กรรมการมูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน กล่าว
การสู้รบที่ทวีความรุนแรงขึ้นอีกครั้งตั้งแต่ช่วงปลายปี 2566 ทำให้อาเซียน และนานาชาติแสดงความเป็นห่วงเมียนมามากขึ้น ปลายเดือนมีนาคม 2567 รัฐบาลไทยเองก็เริ่มโครงการระเบียงช่วยเหลือทางมนุษยธรรม (Humanitarian Assistance Corridor) แก่ประชาชนเมียนมาที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบในประเทศ และไทยยังเคยประกาศว่า พร้อมจะเป็นตัวกลางในกระบวนการสันติภาพในประเทศเมียนมา
รศ.ดร. ดุลยภาค ระบุว่า ปัจจุบัน มีผู้ที่ทำหน้าที่ผู้อำนวยความสะดวกประเด็นปัญหาของเมียนมาอยู่แล้วอย่างน้อย 2 คน คือ 1. นายอาลุนแก้ว กิดติคุน ผู้แทนพิเศษด้านเมียนมาของประธานอาเซียน (Alounkeo Kittikhoun, Special Envoy of the ASEAN Chair on Myanmar) และ 2. นางจูลี บิช็อป ผู้แทนพิเศษสหประชาชาติว่าด้วยเมียนมา (Julie Bishop, the United Nations Special Envoy on Myanmar)