ไทยมุสลิม : สำนักจุฬาราชมนตรีไม่ควรยุ่งเกี่ยวการเมือง
2020.11.06
ปัตตานี และกรุงเทพฯ

ในวันศุกร์นี้ ชาวไทย-มุสลิมกว่า 100 คน ได้เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกถึงจุฬาราชมนตรี เกี่ยวกับความกังวลที่มีต่อการที่สำนักจุฬาราชมนตรีจะจัดงาน “รวมพลังมุสลิม ปกป้องสถาบัน ชาติ ศาสน์ กษัตริย์” ในวันอังคารที่ 10 พฤศจิกายน 2563 นี้ จดหมายดังกล่าวระบุว่า สำนักจุฬาราชมนตรีควรวางตัวเป็นกลาง และไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง
การเขียนจดหมายฉบับดังกล่าว สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 4 พฤศิจกายน 2563 เฟซบุ๊กแฟนเพจสำนักจุฬาราชมนตรี ได้เผยแพร่กำหนดการจัดงาน “รวมพลังมุสลิม ปกป้องสถาบัน ชาติ ศาสน์ กษัตริย์” ขึ้นในวันอังคารหน้า ในเวลา 08.30-12.00 น. ณ หอประชุมศูนย์บริหารกิจการศาสนาอิสลามแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ เขตหนองจอก กรุงเทพฯ
โดยในงานจะมีกิจกรรมอัญเชิญพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน มีการเสวนาเรื่อง “สถาบันพระมหากษัตริย์ กับมุสลิมในแผ่นดินไทย” และการประกาศเจตนารมณ์ของชาวมุสลิม โดยระบุให้ผู้เข้าร่วมแต่งกายด้วยชุดสีเหลือง หรือโต๊ปสีขาวสำหรับผู้ชาย ซึ่งหลังการเผยแพร่กำหนดการดังกล่าว เกิดเสียงวิพากษ์-วิจารณ์จากชาวมุสลิมที่ใช้อินเทอร์เน็ตจำนวนหนึ่ง ถึงความไม่เหมาะสม กระทั่งมีการเขียนจดหมายเปิดผนึกท้วงติงในเวลาต่อมา
จดหมายเปิดผนึกฉบับดังกล่าวถูกเขียนโดยผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ ลาลาโต เพชรบุรี โดยเนื้อความของจดหมายชี้ว่า การจัดกิจกรรมในนามของสำนักจุฬาราชมนตรี อาจส่งผลให้เกิดความแตกแยก โดยเห็นว่าจุฬาราชมนตรีไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมือง
“ขอให้ทบทวนการจัดงาน “รวมพลังมุสลิม ปกป้องสถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์”… สำนักจุฬาราชมนตรี เป็นองค์กรสูงสุด ของศาสนาอิสลาม ซึ่งทุกคนที่เป็นมุสลิมได้ยึดถือ จึงไม่ควรที่จะใช้ชื่อ สำนักจุฬาราชมนตรี เข้าไปเกี่ยวข้องกับความแตกแยกทางความคิดในครั้งนี้… นั่นจะกลายเป็นการแสดงว่า สำนักจุฬาราชมนตรี เข้าไปอยู่ร่วมกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแล้ว ซึ่งไม่ควรจะนำองค์กรศาสนาเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองในครั้งนี้ ซึ่งไม่มีศาสนาใดเลยที่เข้าไปยุ่งเกี่ยวในเรื่องนี้” ตอนหนึ่งของจดหมาย ระบุ
จดหมายฉบับนี้ซึ่งปัจจุบัน มีคนเผยแพร่ต่อเกือบ 200 ครั้ง ได้ระบุข้อกังวลที่อาจเกิดขึ้นจากการจัดกิจกรรมว่า 1. พี่น้องต่างศาสนิกจะมองว่าศาสนาอิสลามเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองในครั้งนี้ เลือกข้างทำให้เกิดความแตกแยกระหว่างสองความคิดที่เกิดขึ้น ซึ่งคนต่างศาสนิกจะมองศาสนาอิสลามในด้านลบ ทำให้ศาสนาอิสลามมีความขัดแย้งไปด้วย และ 2. พี่น้องมุสลิมของเราเองต้องยอมรับว่า มีความคิดแตกต่างกันในทางความคิด ก็จะมีความแตกแยกกันและจะมองว่า สำนักจุฬาราชมนตรี ซึ่งเป็นองค์กรศาสนาอิสลามสูงสุดไม่ยุติธรรม และไม่เป็นกลาง ความเชื่อมั่นในองค์กรก็จะลดน้อยลง ความเชื่อใจก็จะลดน้อยลง จะมีผลในด้านลบต่อไปในอนาคต
“เราสามารถไม่ต้องใช้ชื่อ สำนักจุฬาราชนตรีได้ โดยการใช้ในนามของบุคคล หรือปัจเจกบุคคลไปจะเป็นสถานที่ เช่น มุสลิมบางกะปิปกป้องสถาบัน เช่นเดียวกับอีกความคิดหนึ่งก็ใช้ มุสลิมบางกะปิปกป้องประชาธิปไตย แบบนี้ก็ได้ ขอให้เป็นเรื่องของปัจเจกบุคคลไป สิ่งที่ผมขอให้ทบทวนเรื่องนี้ เพื่อปกป้องศาสนาอิสลามซึ่งเป็นสิ่งสูงสุดของพี่น้องมุสลิมทุก ๆ คน” ตอนท้ายของจดหมาย ระบุ
ในเรื่องนี้ พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ เลขาธิการคณะกรรมการกลาง อิสลามแห่งประเทศไทย กล่าวเบนาร์นิวส์ว่า เหตุที่ทางสำนักจุฬาราชมนตรีได้ดำริในการจัดงานครั้งนี้ เนื่องมาจากจากว่าทางสำนักฯ ทราบซึ้งในพระราชกรณียกิจของรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 ซึ่งพระองค์ทรงดูแลในเรื่องของภาคใต้ ทรงดูแลพี่น้องมุสลิมในถิ่นทุรกันดาร สร้างศูนย์ศิลปาชีพขึ้นมาเพื่อยกฐานะมุสลิม ทัั้งในจังหวัดนราธิวาส ปัตตานี และจังหวัดยะลา
“พระองค์ได้สนับสนุนของการสร้างมัสยิดที่จังหวัดเพชรบุรี ได้ไปเยี่ยมเรื่องมัสยิดหลาย ๆ กิจกรรม โดยเฉพาะในเรื่องของกิจกรรมเมาลิดกลาง นับจากราชกาลที่ 9 ได้เสด็จ และราชกาลที่ 10 ได้เข้ามาตั้งแต่เป็นสยามมงกุฎราชกุมาร มุสลิมเราก็มีความผูกพันกับราชวงศ์จักรี เพราะว่าโดยหลักแล้วมุสลิมส่วนใหญ่ก็จะมองว่าเป็นคนส่วนน้อยของประเทศ และพระองค์ท่านได้ให้ความสำคัญ จากหลาย ๆ เรื่องที่พระองค์ให้ความเมตตา” พล.ต.ต.สุรินทร์ กล่าว และคาดว่าจะมีชาวไทยมุสลิมร่วมงานในวันอังคารหน้าราวห้าพันคน
ชาวมุสลิมรายอื่น ๆ ย้ำไม่เห็นด้วยกับสำนักจุฬาราชมนตรี
ต่อสิ่งที่เกิดขึ้น นายวาริช หนูช่วย ชาวมุสลิมจากจังหวัดนครศรีธรรมราช อายุ 30 ปี กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า ไม่เห็นด้วยกับการนำสำนักจุฬาราชมนตรี ซึ่งเป็นสถาบันทางศาสนามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง เพราะมีความเสี่ยงที่จะเป็นส่วนหนึ่งของความแตกแยก
“สถาบันทางศาสนาไม่ควรถูกมองว่าเข้าข้างกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่การจัดงานนี้มันชัดเจนว่า สำนักจุฬาฯ เลือกอยู่กับระบบไหน ผมไม่ได้บอกว่า เขาเลือกถูกหรือผิด แต่คิดว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควร เพราะสำนักจุฬาฯ เป็นองค์กรศาสนามีความเสี่ยงที่จะสร้างความแตกแยกให้เกิดขึ้น สถาบันศาสนาควรที่จะเป็นอิสระจากรัฐ การจัดงานเหมือนยอมรับว่าองค์กรอิสลามถูกครอบงำจากรัฐ ถ้าเป็นแบบนี้ สถาบันศาสนาก็จะไม่มีแรงไปคานอำนาจรัฐในอนาคต” นายวาริช กล่าว
“สำนักจุฬาฯ ควรเป็นสถาบันกลาง เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกฝ่าย ทุกความเชื่อ ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ คือ สมัย สนช. ที่ให้จุฬาราชมนตรีเข้าไปนั่ง ก็มีเสียงจากอาจารย์ นักวิชาการมุสลิมออกมาค้าน เพราะเห็นว่าไม่เหมาะสม ซึ่งผมมองว่า สำนักจุฬาฯ ควรยึดถือหลักการที่ไม่อยู่ใต้อำนาจรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่ง เพราะสุดท้ายถ้าสังคมเคลื่อนไปสู่บางอย่าง สถานะของสำนักจุฬาฯ ก็จะไม่โอเค เพราะเท่ากับว่า ที่ผ่านมาคุณได้เลือกข้างไปแล้ว” นายวาริช กล่าวเพิ่มเติม
ขณะที่ นายสาและ มูดออีแต ชาวมุสลิมจากจังหวัดยะลา ระบุว่า องค์กรศาสนาควรดำเนินเฉพาะกิจกรรมทางศาสนาเท่านั้น
“รู้สึกว่าองค์กรศาสนาไม่ควรมีเรื่องการเมือง นักศาสนาไม่ควรนำศาสนามาเล่นการเมือง แต่ปัจจุบัน ไม่ได้แยกแยะว่าอะไรควร อะไรไม่ควร ส่วนตัวมองว่า ศาสนาก็ควรทำในเรื่องศาสนา” นายสาและ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
ด้าน นางกีนีนา สือปะ ชาวมุสลิมจากจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า องค์กรศาสนาไม่ควรทำประโยชน์ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
“ต้องดูว่า เขาทำเพื่อประโยชน์ของใคร ถ้าประโยชน์ของส่วนรวมก็ทำไป แต่ถ้าประโยชน์ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือทำเพื่อเอาใจใคร ก็ไม่ควร เราเป็นชาวบ้านก็ไม่รู้ว่าจะสามารถพูดว่าทำได้หรือทำไม่ได้ แต่ส่วนตัวคิดว่าอยากให้สถาบันศาสนามาทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม มากกว่าประโยชน์แค่บางฝ่าย” นางกีนีนา กล่าว