โควิด-19 ทำเทศกาลปีใหม่ไทยเงียบเหงา

นนทรัฐ ไผ่เจริญ และวิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2020.04.14
กรุงเทพฯ
200414-TH-songkran-1000.JPG ผู้คนเล่นน้ำเฉลิมฉลองเทศกาลสงกรานต์ ในกรุงเทพฯ ปีที่แล้ว 13 เมษายน 2562 (ขวา) และภาพสถานที่เดียวกัน บริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ช่วงการระบาดโควิด-19 ปีนี้ วันที่ 13 เมษายน 2563
รอยเตอร์

บรรยากาศช่วงเทศกาลสงกรานต์ของทุกปีที่ผ่านมา ในกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงที่ถนนหนทางเกือบทุกสาย สถานที่ต่างๆ รวมถึงวัดอารามหลวง เคยคราคร่ำไปด้วยผู้คนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ หากในวันนี้กลับกลายเป็นช่วงเวลาที่ไร้ผู้คน เงียบเหงาที่สุด หลังจากที่ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) โรคระบาดใหญ่ได้แพร่กระจายไปทั่วโลก

รัฐบาลไทยได้ออกมาตรการตามมาหลายประการ รวมถึงการเลื่อนวันหยุดสงกรานต์ออกไปโดยไม่มีกำหนด และงดกิจกรรมเล่นน้ำทั่วทั้งประเทศ

ด้านแรงงานต่างด้าวต้องถูกกักตัวในประเทศไทย ไม่สามารถเดินทางกลับบ้านช่วงสงกรานต์เช่นทุกปีได้ เนื่องจากด่านชายแดนปิด

ขณะเดียวกันในวันนี้ นายกรัฐมนตรีเสนอให้อาเซียนตั้งกองทุนเพื่อต่อสู้กับโควิด-19

เบนาร์นิวส์ได้ตรวจสอบ พบว่า ในช่วงวันสงกรานต์ปีนี้ ถนนข้าวสาร และถนนสีลม สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของกรุงเทพฯ ที่ทุกปีมีทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติรวมตัวกันเล่นสาดน้ำในวันสงกรานต์อย่างเนืองแน่น ค่อนข้างเงียบเหงา เนื่องจาก นายกรัฐมนตรีได้แถลง ในวันที่ 10 เมษายน 2563 ห้ามไม่ให้มีการจัดกิจกรรมสงกรานต์ในทุกระดับ และก่อนหน้านี้ วันที่ 17 มีนาคม 2563 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้เลื่อนวันหยุดสงกรานต์ระหว่าง วันที่ 11-15 เมษายน 2563 ออกไป จนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะคลี่คลาย

สภาพดังกล่าวจึงทำให้ย่านที่เคยคึกคักไปด้วยชาวไทยและต่างชาติ รวมถึงนักท่องเที่ยวในทุกปี กลับเงียบเหงาไร้ผู้คน

“ช่วงนี้เงียบผิดปกติ ลูกค้าประจำก็หายหมด แถวนี้เงียบ เพราะรัฐบาลเขาสั่งปิด ร้านแถวนี้ก็ปิดกันหมด เราไม่ได้ปิด แต่ก็ขายไม่ค่อยได้ แต่ก็ต้องเปิดเพราะไม่รู้จะทำอะไร ได้เงินบ้างก็ยังดีกว่าไม่ได้” นางสิริวรรณ อัศวนุภาพ อายุ 61 ปี แม่ค้าขายหนังสือพิมพ์ย่านถนนข้าวสาร เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์

นอกจากการเลื่อนวันหยุดสงกรานต์ออกไปแล้ว ศูนย์อำนวยการบริหารสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงมหาดไทย (ศบค.มท.) เปิดเผยเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2563 ว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ในฐานะผู้กำกับการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินจังหวัด ได้พิจารณาออกคำสั่งปิดร้านค้า และสถานประกอบการจำหน่ายสุราเป็นการชั่วคราวในช่วงสงกรานต์ เพื่อลดการแพร่เชื้อ โดยบางจังหวัดจะสามารถกลับมาขายได้ ในวันที่ 16 เมษายน 2563 หรือบางจังหวัดอาจช้ากว่านั้น

ทั้งนี้ การงดวันหยุด และกิจกรรมสงกรานต์ ทำให้รถโดยสาร รถไฟ สายการบินระหว่างจังหวัดหลายเส้นทางถูกงดไปด้วย ขณะเดียวกันด่านชายแดนแต่ละพื้นที่ก็ปิดอย่างไม่มีกำหนด เพื่อลดการเคลื่อนย้ายของประชาชน สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้แรงงานข้ามชาติจำนวนมากต้องติดอยู่ในประเทศไทย

“ช่วงนี้ โควิดระบาด งานก็ไม่ค่อยจะมีให้ทำ รายได้ก็ลดลง กลับบ้านก็ไม่ได้ ต้องอยู่ในไทยต่อไป ตอนแรกคิดว่า จะกลับบ้านช่วงสงกรานต์ แต่ก็ไปไม่ได้แล้ว เขาปิดด่าน” น.ส.นิด วอน แรงงานก่อสร้างชาวกัมพูชา อายุ 39 ปี จากเมืองพะตะบอง กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

ในปี 2562 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า การท่องเที่ยวช่วงเทศกาลสงกรานต์ ระหว่างวันที่ 11-17 เมษายน 2562 สร้างรายได้สู่ภาคธุรกิจท่องเที่ยว และเกี่ยวเนื่อง เป็นมูลค่าประมาณ 28,000 ล้านบาท ขณะที่ปี 2563 ซึ่งไม่มีกิจกรรมสงกรานต์ใดๆ นายปิยะบุตร จิวระโมไนย์กุล นายกสมาคมผู้ประกอบการค้าถนนข้าวสาร เปิดเผยแก่สื่อมวลชนว่า เฉพาะถนนข้าวสารน่าจะสูญเสียรายได้เฉพาะช่วงเดือนเมษายน 2563 เป็นมูลค่ากว่าพันล้านบาท เนื่องจากเดือนเมษายน เป็นช่วงที่มีนักท่องเที่ยวมากที่สุดของทุกปี

ประยุทธ์เสนออาเซียนตั้งกองทุนสู้โควิด-19

ในวันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนบวกสาม (จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี) สมัยพิเศษ ว่าด้วยการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยเสนอให้มีการจัดตั้งกองทุน

“วันนี้เราล้วนเห็นพ้องกันว่า โควิด-19 คือวิกฤติการณ์ของโลกในศตวรรษที่ 21 ที่สมควรอย่างยิ่งต่อทุกภาคส่วนในสังคม ด้านการสาธารณสุขเรามีผู้ติดเชื้อทั่วโลกกว่า 2 ล้านคน มีผู้เสียชีวิตกว่า แสนคน ในประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 2,613 คน ได้ส่งสัญญาณชัดเจนว่า เศรษฐกิจโลกปีนี้จะเข้าสู่ภาวะถดถอย... ขอเสนอให้พวกเราจัดตั้งกองทุนอาเซียนเพื่อรับมือกับโควิด-19 คือการได้จัดสรรงบประมาณจากกองทุนความร่วมมือภายในอาเซียนกับประเทศบวกสามที่มีอยู่แล้ว” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ขณะที่ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้เสนอ 3 แนวทางหลักในการแก้ไขปัญหาโควิด-19 ซึ่งประกอบด้วย 1. จัดตั้ง กองทุนอาเซียนเพื่อรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 เพื่อรองรับผลกระทบ ทั้งในระยะสั้น ในการเป็นทุนสำหรับจัดซื้อชุดตรวจ อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ยังขาดแคลนให้กับบุคลากรทางการแพทย์ และในระยะยาว เพื่อสนับสนุนการศึกษาวิจัยเพื่อคิดค้นวัคซีน และยา

สอง ใช้ประโยชน์จากกลไกความร่วมมืออาเซียนบวกสาม ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และเสนอให้ใช้ประโยชน์จากกลไกความร่วมมือด้านสาธารณสุขที่มีอยู่แล้ว ร่วมกับการใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ในการผลิตนวัตกรรมเพื่อป้องกันและรับมือการแพร่ระบาด และความท้าทายอื่นๆ ในอนาคต

และสาม ส่งเสริมทักษะความเข้าใจและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในมิติต่าง ๆ ซึ่งเป็นประเด็นที่ผู้นำอาเซียนบวกสามเห็นพ้องในปีที่ผ่านมา ทั้งการศึกษา การติดต่อสื่อสาร และการค้าการลงทุน พร้อมเร่งใช้เศรษฐกิจดิจิทัล เทคโนโลยีใหม่ๆ และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ MSMEs รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือเพื่อลดผลกระทบจากข่าวปลอม

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง