ยูเนสโกขึ้นทะเบียน 'สงกรานต์' เป็นมรดกโลก
2023.12.06
กรุงเทพฯ

ในวันพุธนี้ องค์การยูเนสโก (UNESCO) ประกาศขึ้นทะเบียน “สงกรานต์ในประเทศไทย” ให้เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ นับเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้สิ่งที่ 4 ของประเทศไทยที่ได้รับการขึ้นทะเบียน
องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ หรือองค์การยูเนสโก ได้จัดประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity) ครั้งที่ 18 ในวันที่ 6 ธันวาคม 2566 (เวลาประเทศไทยประมาณ 15.00 น.) ณ เมืองคาเซเน สาธารณรัฐบอตสวานา และได้ประกาศขึ้นทะเบียน “สงกรานต์ในประเทศไทย” (Songkran in Thailand, traditional Thai New Year festival) ให้เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ต่อจาก โขน, นวดไทย, และ โนรา ได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมฯ ไปในก่อนหน้านี้
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า สงกรานต์เป็นประเพณีในวันปีใหม่ไทย มีการเฉลิมฉลองในช่วงกลางเดือนเมษายนทั่วประเทศ เป็นประเพณีที่ได้รับการฝึกฝนและสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นโดยคนไทยและชุมชนชาติพันธุ์ เป็นประเพณีอันงดงามและมีความหมาย สะท้อนถึงคุณค่าของความกตัญญูกตเวทีของไทยต่อบรรพบุรุษ ความเอื้ออาทรและความปรารถนาดีต่อผู้อื่น และจิตวิญญาณแห่งความสามัคคี
ชาวเมืองรดน้ำพระสงฆ์ผ่านลำไผ่ เพื่อเว้นระยะห่างทางสังคมที่เป็นมาตรการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 ในระหว่างงานทำบุญวันสงกรานต์ ณ วัดสวนแก้ว นนทบุรี เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2563 (ลิเลียน สุวรรณรัมภา/เอเอฟพี)
“กิจกรรมในช่วงประเพณีสงกรานต์ทั้งหมดถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และประกอบด้วยองค์ประกอบต่าง ๆ ของมรดกทางวัฒนธรรม โดยประเพณีสงกรานต์ที่เป็นที่รู้จัก ได้แก่ บิณฑบาต สรงน้ำพระพุทธรูป รดน้ำดำหัวผู้อาวุโสที่เคารพนับถือ ตลอดจนการแสดงละครพื้นบ้านและการแสดงที่เกี่ยวเนื่องกับตำนานสงกรานต์ ดังนั้น สงกรานต์ในประเทศไทยจึงเป็นตัวแทนของมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ สะท้อนถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรม ความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ และจำเป็นต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน”
ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีมติเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 เห็นชอบให้กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้ดำเนินการยื่นเอกสารขอขึ้นทะเบียนสงกรานต์ในประเทศไทยให้เป็นมรดกวัฒนธรรมต่อยูเนสโก
ชาวบ้านต่างสาดน้ำใส่ผู้ขับขี่ที่สัญจรไปมาอย่างสนุกสนาน เพื่อเฉลิมฉลองวันสงกรานต์ ที่จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2562 (เอเอฟพี)
นายเศรษฐา เน้นย้ำว่า รัฐบาลยินดีต้อนรับผู้มาเยือนจากทั่วทุกมุมโลกให้มาร่วมเทศกาลและสัมผัสประสบการณ์ของประเพณีสงกรานต์ในประเทศไทย พร้อมด้วยรอยยิ้มและการต้อนรับที่อบอุ่น
ประเพณีสงกรานต์ ตรงกับวันที่ 13 ถึง 15 เมษายน ของทุกปี ลูกหลานชาวไทยนิยมเดินทางกลับภูมิลำเนาเพื่อไปทำบุญพร้อมกับรดน้ำดำหัวผู้มีพระคุณ และเล่นสาดน้ำกันอย่างสนุกสนาน ทั้งยังเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวให้ออกมาร่วมเฉลิมฉลองศักราชใหม่ของไทยอีกด้วย
ส่วนกระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กำหนดจัดงานฉลองสงกรานต์ มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ ขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 7 ธันวาคม 2566 เวลา 18.00 น. ณ ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร และวัดสุทัศนเทพวราราม
ด้าน นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า ในวาระที่น่ายินดียิ่งของประชาชนชาวไทย จึงได้กำหนดจัดงานฉลองสงกรานต์ มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติให้ประชาชนไทยและต่างชาติได้รับรู้อย่างกว้างขวาง และเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ “สงกรานต์” มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม เพื่อกระตุ้นจิตสำนึกให้เกิดการสงวนรักษา อนุรักษ์ สืบสาน ปกป้อง คุ้มครองมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของประเทศ
ผู้หญิงถูกประแป้งบนใบหน้า ในเทศกาลสงกรานต์ ในกรุงเทพฯ วันที่ 14 เมษายน 2566 (รอยเตอร์)
“สงกรานต์ในประเทศไทย” ถือเป็นรายการในบัญชีตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ลำดับที่ 4 ของประเทศไทย โดยก่อนหน้านี้ UNESCO ได้ประกาศขึ้นทะเบียนให้แก่ “โขน” (Khon, masked dance drama in Thailand) ในปี 2561, “นวดไทย” (Nuad Thai, Traditional Thai Massage) ในปี 2562 และ “โนรา” ของภาคใต้ (Nora, Dance Drama in Southern Thailand) ในปี 2564
ในการประชุมฯ ครั้งนี้ มีประเทศต่าง ๆ เสนอขึ้นทะเบียนรายการตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมฯ ทั้งสิ้น 45 รายการ ตามอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ค.ศ. 2003 เพื่อสงวนรักษาแนวปฏิบัติการแสดงออกความรู้และทักษะที่ได้รับการยอมรับของชุมชนหรือกลุ่มคน โดยต้องการสร้างความเคารพและสร้างความตระหนักตั้งแต่ในระดับท้องถิ่นจนถึงสากล และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในการสงวนรักษา โดยมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมฯ สามารถอยู่ในรูปแบบการแสดงออกทางวาจาและภาษา การแสดงศิลปะ แนวปฏิบัติทางสังคม พิธีทางศาสนา เทศกาลเฉลิมฉลอง และงานฝีมือ