ชาวบ้านเตรียมฉลองใหญ่ ภูพระบาท อุดรธานี เป็นมรดกโลก

รุจน์ ชื่นบาน
2024.07.31
กรุงเทพฯ
ชาวบ้านเตรียมฉลองใหญ่ ภูพระบาท อุดรธานี เป็นมรดกโลก กลุ่มนักเรียนเดินทางมาทัศนศึกษาที่อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567
อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท

ชาวตำบลเมืองพาน อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี เตรียมจัดรำฉลอง หลังคณะกรรมการมรดกโลก ขององค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ขึ้นทะเบียนให้ อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ประจำปี 2567 เผยรอเกียรติยศครั้งนี้มาร่วม 20 ปี โดยเตรียมใช้ นางรำกว่า 500 คน ด้านกระทรวงวัฒนธรรมตั้งเป้าขึ้นทะเบียนมรดกโลกอีกในอนาคต

“ที่นี่ชาวบ้านเชื้อสายไทยพวน ยังคงรักษาขนบธรรมเนียม วัฒนธรรมประเพณี วิถีชีวิต และสำเนียงภาษา ปีที่ผ่านมามีการรื้อฟื้นประเพณีการขึ้นมาไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ชื่องานว่า หมากเบ็งอุดรบูชา วัฒนธรรมสีมาภูพระบาท จัดเดือนพฤศจิกายน ในงานฉลองมรดกโลกก็จะทำด้วยเช่นกัน คาดว่ามีผู้มารำมากกว่า 500 คน ให้ผู้หญิงทุกวัยสวมใส่เสื้อผ้าไทยพวน ถือเครื่องบูชาใบตอง ร่วมกับไหว้และรำถวาย” นายอดิเรก ศรีทอง นายก อบต.เมืองพาน อ.บ้านผือ กล่าว

นายอดิเรก กล่าวเพิ่มเติมว่า ชาวบ้าน ต.เมืองพาน รอการขึ้นทะเบียนมา 20 ปี เพราะมั่นใจว่าสามารถเป็นมรดกโลกได้ โดย 2-3 ปีที่ผ่านมา ทุกครั้งที่ชวนชาวบ้านได้ร่วมทำกิจกรรมทำความสะอาด ปรับปรุงทางเดินในอุทยานฯ ก็จะร่วมกันขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ขึ้นทะเบียนได้สำเร็จ การขึ้นทะเบียนจึงนับเป็นข่าวดีที่ต้องฉลอง

หลังการประชุมใหญ่สามัญ คณะกรรมการมรดกโลก ครั้งที่ 46 ณ กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2567 ยูเนสโกได้ประกาศให้อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จ.อุดรธานี เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ประจำปี 2567 นับเป็นแหล่งมรดกโลกลำดับที่ 8 ของไทย

“เชื่อว่าหลังจากนี้จะมีนักท่องเที่ยวมามากขึ้น ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งเราได้รับการสนับสนุนของมหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี เข้ามาพัฒนาอาหารพื้นถิ่นสำหรับบริการนักท่องเที่ยว ส่วนในอุทยานฯ ก็มีความพร้อม เพียงดูแลรักษาให้มั่นคงแข็งแรงไว้ หากจะเพิ่มเติมคือ ไฟฟ้าส่องสว่างบริเวณทางขึ้น-ลงเท่านั้น” นายอดิเรก กล่าวเพิ่มเติม

หลังทราบข่าวการขึ้นทะเบียนมรดกโลก นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี เปิดเผยว่า เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา คณะพระสงฆ์จากวัดโนนสว่าง อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี ได้นำภิกษุ และสามเณรรวม 93 รูป มาสวดมนต์และทำกิจกรรมท่ามกลางฝนที่ตกตลอดทั้งวัน โดยยังมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเยี่ยมชมอุทยานฯ จำนวนมากเช่นกัน 

ด้าน กระทรวงวัฒนธรรมได้ประกาศยกเว้นค่าธรรมเนียมเข้าชมอุทยานภูพระบาท ตั้งแต่วันนี้ 28 กรกฎาคม – 12 สิงหาคม 2567 เพื่อเป็นการร่วมเฉลิมฉลองการขึ้นทะเบียนมรดกโลกครั้งนี้ และสั่งการให้ กรมศิลปากร จัดทำแผนการอนุรักษ์และพัฒนาอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เพื่อรองรับ นักท่องเที่ยว จัดทำแผนบริหารการจัดการด้านการท่องเที่ยวแบบบูรณาการ ซึ่งจะครอบคลุมถึงการอนุรักษ์ และต่อยอดองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมสีมาในประเทศด้วย 

“นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เชิญชวนประชาชนร่วมแสดงความยินดีและเฉลิมฉลองที่ภูพระบาทฯ ได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกแห่งใหม่ของไทย ถือเป็นอีกความสำเร็จตามนโยบายเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้านวัฒนธรรมควบคู่ไปกับการอนุรักษ์และพัฒนา” นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุ

ปัจจุบัน  ประเทศไทยมีแหล่งมรดกโลก 8 แห่ง แบ่งเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมจำนวน 5 แห่ง คือ 1. เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร จ.สุโขทัย ขึ้นทะเบียนปี 2534 2. นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาและเมืองบริวาร จ.พระนครศรีอยุธยา ปี 2534) แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จ.อุดรธานี ปี 2535 อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ ปี พ.ศ. 2566 และอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ปี 2567 

และมรดกโลกทางธรรมชาติ 3 แห่ง คือ 1. เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง ครอบคลุมพื้นที่ จ.อุทัยธานี กาญจนบุรี และตาก ปี 2534 กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่ จ.สระบุรี นครนายก นครราชสีมา ปราจีนบุรี สระแก้ว และบุรีรัมย์ ปี 2548 และ กลุ่มป่าแก่งกระจาน ครอบคลุมพื้นที่ จ.ราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ปี 2564 

สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดอุดรธานี ระบุว่า อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทมีเนื้อที่ 3,661 ไร่ ตั้งอยู่ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเขือน้ำ บนเทือกเขาภูพาน อยู่ทางทิศตะวันตก ห่างจาก อ.บ้านผือ 12 กิโลเมตร 

หลักฐานโบราณคดีระบุว่า บริเวณนี้มีมนุษย์เข้ามาใช้ทำกิจกรรมตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ กว่า 3,000 ปีก่อน มีการพบภาพเขียนสีตามเพิงหิน เป็นภาพคน ฝ่ามือ สัตว์ และรูปทรงเรขาคณิต กระจายอยู่ภายในอุทยานฯ มากกว่า 47 แห่ง มีทั้งภาพคน ฝ่ามือ สัตว์ และลวดลายเรขาคณิต ทั้งยังพบ ขวานหินขัด ลูกปัดอาเกต และเศษภาชนะดินเผา

น.ส. สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า รัฐบาลจะเดินหน้านำมรดกทางวัฒนธรรมของไทยขึ้นทะเบียนมรดกโลกอีกในอนาคต

“ภารกิจของรัฐบาลยังไม่ได้สิ้นสุดในวันนี้ เราจะต้องอนุรักษ์และพัฒนาอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เพื่ออนุรักษ์ และต้อนรับนักท่องเที่ยวอย่างมากมาย ซึ่งจะครอบคลุมทั้งการอนุรักษ์ต่อยอด และพัฒนาสภาพแวดล้อมสภาพให้เหมาะสมในการต้อนรับนักท่องเที่ยว และจะเพิ่มจำนวนแหล่งมรดกโลกเพิ่มด้วย” น.ส. สุดาวรรณ กล่าว

ปัจจุบัน ประเทศไทยได้เสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมของไทยอีก 5 แหล่ง เพื่อรอขึ้นทะเบียนมรดกโลกด้วย คือ 1. วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร วัดพระบรมธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราช เสนอขึ้นทะเบียนเบื้องต้นในปี 2555 2. อนุสรณ์สถาน แหล่งต่าง ๆ และภูมิทัศน์วัฒนธรรมของเชียงใหม่ นครหลวงของล้านนา กลุ่มสิ่งก่อสร้างทางประวัติศาสตร์ และภูมิทัศน์ที่เกี่ยวข้อง ปี 2558 3. พระธาตุพนม จังหวัดนครพนม ปี 2560 และ 4. กลุ่มเทวสถานปราสาทพนมรุ้ง ปราสาทเมืองต่ำและปราสาทปลายบัด ปี 2562 และ 5. สงขลาและชุมชนที่เกี่ยวเนื่องริมทะเลสาบสงขลา ปี 2567 

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง