คุณยายห้าแผ่นดิน อายุยืนที่สุดในสามจังหวัดชายแดนใต้
2016.07.04
ปัตตานี

คุณยายมีเนาะ ตะเยาะดือโระ แห่งบ้านตาแกะ ในจังหวัดปัตตานี อาจจะเป็นหนึ่งในคนที่มีอายุยืนที่สุดในโลก แต่หนังสือกินเนสส์บุ๊คที่จดสถิติความเป็นที่สุดของบุคคลและสิ่งต่างๆ ในโลก ยังไม่ค้นพบ
ซึ่งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นายไพบูลย์ ชัยเชื้อ ผู้อำนวยการ ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านทักษิณ จังหวัดยะลา ในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ร่วมกับ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ลงพื้นที่เยี่ยมผู้สูงอายุ ตามโครงการวันผู้สูงอายุแห่งชาติ ประจำปี 2559 "คนสูงวัยในพหุสังคม จับมือ จับใจ” เพื่อเสริมสร้างความตระหนักให้สังคมเห็นคุณค่าของผู้สูงอายุ ส่งเสริมความกตัญญูต่อบุพการีผู้มีพระคุณ พร้อมมอบวุฒิบัตรเพื่อยกย่องเชิดชู และเป็นกำลังใจ เนื่องจากนางมีเนาะ มีอายุสูงที่สุดในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถึง 125 ปี
สำหรับข้อมูลจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีจำนวนผู้สูงอายุเกิน 60 ปี ขึ้นไป จำนวน 208,647 คน ในจำนวนนี้มีผู้สูงอายุเกิน 100 ปี ถึงประมาณ 250 คน
จากหลักฐานที่ปรากฏในทะเบียนบ้าน คุณยายมีเนาะ เกิดเมื่อ พ.ศ. 2434 นับย้อนไปได้ถึงรัชสมัยของพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 ทุกวันนี้ คุณยายยังมีร่างกายที่แข็งแรง เว้นไว้แต่ความดัน และอาการปวดเข่าบ้าง ตามประสาผู้สูงอายุ
ผู้สื่อข่าวเบนาร์นิวส์ ได้ไปเยี่ยมคุณยายมีเนาะ ที่บ้านในตำบลตาเกะ ปัตตานี ซึ่งคุณยาย ได้เล่าให้ฟังเป็นภาษามลายูว่า ตนเองเกิดในบ้านหลังนี้ เมื่อปี พ.ศ. 2434 และได้อยู่อาศัยในบ้านที่อายุมากกว่าคุณยาย คือ ราว 150 ปี หลังนี้มาจวบจนทุกวันนี้ โดยมีการปรับปรุงให้อยู่ในสภาพที่ดี
“เมาะเกิดเมื่อปี 2434 อยู่ที่บ้านเลขที่ 92/1 หมู่ที่ 2 ตำบลตาแกะ มาตั้งแต่เกิด เพราะเกิดที่นี่ แล้วก็อาศัยอยู่ในบ้านหลังนี้จนถึงตอนนี้ คิดว่าขอตายอยู่ในบ้านหลังนี้เหมือนกัน” คุณยายมีเนาะกล่าว โดยแทนตัวเองว่า เมาะ ที่ในภาษาไทยหมายถึง"ยาย"
สำเนาทะเบียนบ้านระบุ ปีเกิดของคุณยายมีเนาะ ตะเยาะดือโระ ว่าเป็นปี พ.ศ. 2434 (เบนาร์นิวส์)
ไทยมุสลิม-ไทยพุทธอยู่ร่วมกันอย่างสงบ
คุณยายมีเนาะบอกอีกว่า เมื่อก่อนที่หมู่บ้านมีเพื่อนบ้านชาวไทยพุทธหลายสิบครอบครัว แต่ตนเองพูดภาษาไทยไม่ได้ เพราะเพื่อนบ้านไทยพุทธในอดีตเหล่านั้นสามารถพูดภาษามลายูได้ และชอบพูดภาษามลายูกับตน เลยทำให้ตนเองไม่ได้เรียนรู้ภาษาไทย
“เราจะพูดกันเป็นภาษามลายู เพราะเพื่อนคนไทยพุทธของเมาะ เขาชอบพูดภาษามลายู ทำให้เมาะพูดไทยไม่ได้เลย” คุณยายมีเนาะกล่าว และบอกอีกว่าตนเองไม่ได้เรียนหนังสือจนจบ เพราะพ่อแม่ไม่อยากให้เรียน
“ชีวิตสมัยเด็กๆ ได้เข้าเรียนที่โรงเรียนบ้านตาแกะ แต่ก็เรียนไม่จบ คนสมัยก่อน พ่อแม่ไม่ค่อยจะให้ลูกเรียนหนังสือ กลัวครูตีลูก” คุณยายกล่าว
คนไทยพุทธ-ไทยมุสลิมในพื้นที่โดยส่วนใหญ่จะมีอาชีพทำสวน ทำนา และค้าขาย และจะอยู่ร่วมกันด้วยความเกื้อกูลต่อกันอย่างปลอดภัย โดยไม่มีการแบ่งแยกศาสนา จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ปล้นปืนที่ค่ายกองพันพัฒนาที่ 4 เมื่อต้นปี พ.ศ. 2547 ไปกว่าสี่ร้อยกระบอก ความสงบสุขที่เคยมีได้จางหายไป
ในพื้นที่ที่คุณยายมีเนาะอาศัยอยู่ เกิดเหตุรุนแรงที่สุดในช่วงปี 2548 ถึง ปี 2550 มีทั้งการฆ่าตัดคอ ฆ่าแล้วเผา รวมทั้งการเผาบ้านคนไทยพุทธ
ซึ่งเหตุการณ์รุนแรงเหล่านี้ รัฐบาลกล่าวว่าเกี่ยวข้องกับขบวนการแบ่งแยกดินแดนกลุ่มต่างๆ เช่น ขบวนการบีอาร์เอ็น เป็นต้น
“ที่บ้านตาแกะ คนไทยอิสลามและคนไทยพุทธอาศัยร่วมกันอย่างพึ่งพาซึ่งกันและกัน ทำให้เมาะมีเพื่อนที่เป็นไทยพุทธเยอะ เมื่อก่อนที่บ้านตาแกะ จะมีคนไทยพุทธอยู่หลายสิบครอบครัว เดี๋ยวนี้ เขาย้ายออกเหลือแค่เพียงสองสามครอบครัว เพราะเขากลัวที่จะอยู่ที่นี่” คุณยายมีเนาะเล่าให้ฟัง
“สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ ก็น่ากลัว แต่ถ้าเทียบกับในอดีต น่ากลัวไม่เหมือนกัน เพราะปัจจุบัน มีบางช่วงที่กลัว มีบางช่วงที่ไม่ได้มีความรู้สึกกลัว” คุณยายที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมากว่าร้อยปีกล่าว
ชีวิตช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง
ในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา ปี พ.ศ. 2484 กองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น ได้ยกพลขึ้นบกในหลายจังหวัดชายทะเลฝั่งตะวันออกของไทย ซึ่งปัตตานีเป็นหนึ่งในจำนวนนั้น คุณยายได้เล่าให้ฟังถึงสิ่งที่คุณยายได้ประสบพบพานในช่วงนั้น
“สมัยสงครามญี่ปุ่น เมาะก็โตแล้ว น่ากลัวมาก ทุกวันจะได้ยินเครื่องบินขับผ่านบนฟ้า ได้ยินเสียงเยอะมากและนานมากด้วย เขาไปไหนไม่รู้ และไม่ได้มาจอดแถวนี้” คุณยายมีเนาะกล่าว
“แต่ก็จะมีทหารญี่ปุ่นเดินเข้ามาเอาตัวผู้ชายหนุ่มๆ ไป มาเอากล้วย เอาของกินของชาวบ้าน ทุกครั้งที่ได้ยินเสียงเครื่องบิน ผู้ชายจะรีบหาที่ซ่อน และเวลานอนกลางคืน ก็ไม่สามารถนอนทั่วไปปกติได้ ต้องหลบนอน ทหารญี่ปุ่นจะมาเอาผู้ชายไป แล้วสามสี่วันกว่าจะปล่อยตัวกลับมา พี่ชายเมาะเขาก็เป็นคนหนึ่งที่ต้องหลบซ่อนตัว” คุณยายมีเนาะเล่าเพิ่มเติม
คุณยายมีเนาะ เล่าให้ฟังต่อไปว่า สมัยนั้นอาหารหายากมาก ส่วนคนที่ทำนาเองก็จะดีหน่อย ส่วนคนที่ต้องซื้อข้าวสารจากคนอื่นก็ลำบากมาก ชาวบ้านต้องช่วยกันแบ่งอาหารกันกิน
“จำได้ว่า วัวตัวใหญ่ของพ่อที่เลี้ยงมาพ่อรักมาก แต่พ่อต้องยอมเชือดเพื่อแบ่งให้ชาวบ้านทั้งหมู่บ้านกิน เพราะไม่มีอาหารกิน จะไปออกหาอาหารก็กลัว” คุณยายมีเนาะกล่าว
คุณยายมีเนาะกล่าวต่อไปว่า ไม่นานนักสงครามก็สงบ ความเป็นอยู่ของชาวบ้านก็ดีขึ้น ทุกคนกลับมามีชีวิตที่ดีอีกครั้ง แต่ก็ไม่ถึงกับมีความสุขสบายมากนัก
จนถึงทุกวันนี้ มีถนนหนทางมากมาย ทั้งที่เป็นถนนลาดยางหรือไม่ก็เป็นถนนคอนกรีต บ้านของชาวบ้านก็สร้างบ้านหลังใหญ่ขึ้น คนมีเงินมากขึ้น อาหารการกินก็มีมากมาย คนสมัยนี้มีโอกาสมากกว่าคนสมัยก่อน
สุขภาพและคำสอนจากยาย
คุณยายมีเนาะกล่าวว่า ตนเองเป็นคนทำงานหนัก ต้องทำนาด้วย และค้าขายด้วย ตอนนี้ มีอาการปวดหัวเข่า จึงได้เลิกขายของ แต่คิดว่าเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้ตนเองแข็งแรง เพราะการทำงานหนัก และเพราะอัลลอฮ์ปรารถนาให้ตนเองอยู่กับลูกหลาน เพื่อสอนให้ลูกหลานเป็นคนดี
“ก็อยากฝากบอกลูกหลานและรุ่นต่อๆ ไปว่า ให้ใช้ชีวิตตามหลักศาสนาที่ถูกต้อง ตามแบบฉบับที่อัลลอฮ์สอน เป็นคนดี ไม่ทำเรื่องไม่ดี ชีวิตก็จะสุขสบายทั้งโลกนี้และโลกหน้า” คุณยายมีเนาะกล่าว
“ชีวิตทุกวันนี้ ยังสามารถขยับไปอาบน้ำเองได้ และอยู่กับการทำความดี อ่านอัลกุรอาน นึกถึงอัลลอฮ์ ส่วนโรคก็เป็นความดันและปวดหัวเข่า คิดว่าเป็นเรื่องปกติของคนแก่ที่มีอายุเยอะ ย่อมเจ็บป่วยเป็นเรื่องธรรมดา” คุณยายมีเนาะกล่าวก่อนจบการสัมภาษณ์