คณะพูดคุยฯ หวังมาราฯ รับเจาะไอร้องเป็น “เซฟตี้โซน” ของขวัญวันฮารีรายอ

มารียัม อัฮหมัด
2018.05.10
ปัตตานี
180510-TH-talks-620.jpg รถหุ้มเกราะของตำรวจ สภ.จะแนะ โดนระเบิดบนถนนในหมู่บ้านกูมุง ม.2 ต.ช้างเผือก อำเภอจะแนะ นราธิวาส จนทำให้มีเจ้าหน้าที่บาดเจ็บ 5 ราย วันที่ 10 พ.ค. 2561
มาตาฮารี อิสมะแอ/เบนาร์นิวส์

พล.ต.สิทธิ ตระกูลวงศ์ เลขานุการ คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวในวันนี้ว่า ทางคณะฯ คาดหวังว่าจะสามารถบรรลุข้อตกลงอย่างเป็นทางการกับทางคณะเจรจาชุดใหญ่ของมาราปาตานี ในการจัดตั้งอำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส เป็นพื้นที่ปลอดภัยนำร่อง ได้ในช่วงเดือนรอมฎอน เพื่อสามารถมอบเป็นของขวัญให้แก่คนในพื้นที่ทันการฉลองเทศกาลฮารีรายอในปีนี้

ทั้งนี้ เมื่อเดือนมกราคม พลเอกอักษรา เกิดผล ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ กล่าวว่า ทางคณะทำงานทางเทคนิคของไทยและของมาราปาตานี สามารถตกลงกันได้ในเบื้องต้น ในการเลือกหนึ่งอำเภอ ที่จะตั้งเป็นพื้นที่ปลอดภัย ซึ่งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยในภายหลังว่าจะเป็น อำเภอเจาะไอร้อง ในนราธิวาส

อย่างไรก็ตาม นายอาบูฮาฟิซ อัล-ฮากิม โฆษกมาราปาตานี กล่าวกับทางเบนาร์นิวส์เพียงว่า คณะเทคนิคของสองฝ่ายพบปะกันครั้งล่าสุดในวันที่ 25 เมษายน ศกนี้ แต่ถึงปัจจุบัน ทางคณะพูดคุยชุดใหญ่ของสองฝ่าย ยังไม่ได้ประชุมเพื่อพิจารณาลงความเห็นร่วมกันในการเลือกอำเภอหนึ่งอำเภอใด

"ยืนยันการพูดคุยสันติสุขมีความคืบหน้ายังเดินหน้าต่อไปได้ ทางคณะสามารถได้ข้อตกลงแล้วระหว่างฝ่ายเทคนิคทั้งสองฝ่าย คือ การกำหนดพื้นที่ปลอดภัย ที่อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส อย่างที่ท่านนายกรัฐมนตรีประกาศ" พล.ต.สิทธิ กล่าวในการให้สัมภาษณ์แก่เบนาร์นิวส์

“ในส่วนของการประกาศอย่างเป็นทางการนั้น เนื่องจากคณะพูดคุยชุดใหญ่ยังไม่มีข้อตกลงในเรื่องนี้ จึงต้องรอให้มีการกำหนดการพูดคุยในโอกาสข้างหน้าก่อน ซึ่งเมื่อไหร่ยังไม่รู้ แต่ก็หวังว่าจะเป็นเดือนรอมฎอนนี้ เพื่อสามารถประกาศให้เป็นของขวัญกับพี่น้องในพื้นที่ ช่วงเทศกาลรายอ” พล.ต.สิทธิ กล่าวเพิ่มเติม

สำนักงานประสานงานการจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัยพร้อมแล้ว

เมื่อวันที่ 24 เมษายน นี้ นายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ได้เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ว่า ทางคณะพูดคุยฯ ของไทย จะขอใช้พื้นที่ในอาคารสองแห่ง ซึ่งตั้งอยู่ ณ เลขที่ 63 บ้านทุ่งนเรนทร์ หมู่ที่ 1 ตำบลบ่อทอง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ติดกับศูนย์เสริมสร้างสมรรถนะอิหม่ามประจำจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นที่ตั้งศูนย์ประสานงานในการจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัย ซึ่งจะมีฝ่ายรัฐบาลหรือปาร์ตี้-เอ ฝ่ายมาราปาตานีหรือปาร์ตี้-บี และภาคประชาชนเข้าร่วมทำงาน ส่วนอาคารอีกหลังหนึ่ง จะใช้เป็นที่พัก หรือเซฟเฮ้าส์ ของฝ่ายผู้เข้าร่วมพูดคุย ซึ่งทาง พล.ต.สิทธิ์ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่เราก็ได้รับกุญแจห้องของทั้งสองส่วนไปเรียบร้อยแล้ว และอาจจะเข้าไปทำงานก่อนเดือนรอมฎอนนี้

“สำหรับห้องที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลาม จังหวัดปัตตานี ทางคณะฯ จะทำเป็นศูนย์ประสานงานระหว่างคณะพูดคุยทั้งสองฝ่าย และทั้งสองฝ่ายก็จะส่งตัวแทนมาร่วมทำงาน เมื่อมีการประสานงาน หรือมีชาวบ้านติดต่อเข้ามา และจะต้องมีการพูดคุยหรือดำเนินการ และเป็นที่สำหรับพักบางครั้งชาวบ้านเดินทางมาไกลๆ ก็ไม่สามารถเดินทางกลับได้ทันที” พล.ต.สิทธิ กล่าว

สำหรับกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขในภาพใหญ่นั้น จะมีสามขั้นตอน คือ หนึ่ง การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน สอง การทำความตกลงร่วมกันในการแก้ไขข้อขัดแย้งในแต่ละเรื่อง และ สาม การดำเนินการเพื่อแก้ไขข้อขัดแย้งทั้งหมด ซึ่งในขณะนี้ ยังอยู่ในขั้นตอนที่หนึ่ง ซึ่งจะมีการจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัย เพื่อทดสอบความไว้วางใจกัน

ตามข้อมูลของฝ่ายไทย ในการจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัยนั้น ทั้งสองฝ่าย รวมทั้งภาคประชาชน จะร่วมระดมสมองและสำรวจความคิดชาวบ้านว่า พื้นที่ปลอดภัยควรมีลักษณะอย่างไร ในขั้นตอนนี้ ใช้เวลาประมาณสามเดือน จากนั้น จะตั้งพื้นที่ปลอดภัยขึ้นมา และมีการติดตามสถานการณ์และประเมินผลอีกเป็นเวลาสามเดือน

“การพูดคุยที่มาเลเซียเราก็จะมีไปเรื่อย จนกว่าจะบรรลุข้อตกลงทั้งหมด และในระหว่างที่ดำเนินการเรื่องของพื้นที่ปลอดภัย ที่ศูนย์ประสานงาน ก็จะมีเจ้าหน้าที่ดำเนินการไปจนกว่าจะสามารถขยายพื้นที่ปลอดภัยไปให้ได้ ที่มีการเสนอในแผน” พล.ต.สิทธิ กล่าวเพิ่มเติม

กระทรวงยุติธรรมกำลังดำเนินการพักโทษนักโทษสามราย

เมื่อก่อนหน้านี้ ฝ่ายมาราปาตานี ได้ยื่นเงื่อนไขว่า ขอให้ทางการไทยปล่อยตัวฝ่ายผู้เห็นต่างที่ถูกลงโทษจำคุกอยู่ จำนวนสามราย เพื่อให้ทั้งสามรายมาร่วมการดำเนินการพื้นฐาน เพื่อนำไปสู่การจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัย ซึ่งพล.อ.อักษรา เกิดผล เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้กล่าวว่า ทางการไทยกำลังดำเนินการอยู่

"สามคนที่ดำเนินการเรื่องขอพักโทษ ทางกระทรวงยุติธรรมก็ดูแล้ว เข้ากับหลักเกณฑ์ ตอนนี้ อยู่ระหว่างการดำเนินการในการพักโทษส่วนจะพักโทษอย่างไรนั้น ต้องรอดูกระบวนการอีกที" พล.อ.อักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้

ในขณะที่ พล.อ.อักษรา ไม่ได้เปิดเผยรายชื่อของนักโทษทั้งสามราย นายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า นักโทษสองราย มาจากนราธิวาส และอีกหนึ่งราย มาจากจังหวัดยะลา ซึ่งจะมาพักที่เซฟเฮ้าส์

ผลกระทบจากการเปลี่ยนรัฐบาลมาเลเซีย

รัฐบาลไทย ภายใต้การนำของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้พยายามดำเนินการเจรจากับฝ่ายกองกำลังแบ่งแยกดินแดนมาตั้งแต่ ปี 2556 โดยรัฐบาลของนายนาจิบ ราซัค รับเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเจรจาให้กับทั้งสองฝ่าย

จนกระทั่งถึงสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ฝ่ายขบวนการส่วนหนึ่ง ได้ก่อตั้งองค์กรร่มขึ้นมาชื่อว่า มาราปาตานี เพื่อเจรจากับรัฐบาลไทย เมื่อปลายเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2558 โดยการเจรจาเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป

แต่เมื่อวานนี้ ประเทศมาเลเซีย ได้มีการเลือกตั้งครั้งใหญ่ครั้งที่ 14 ปรากฏว่า พรรคแนวร่วมแห่งชาติของนายนาจิบ กลับพ่ายแพ้แก่พรรคแนวร่วมปากาตัน ฮารัปปัน ของ ดร.มหาเธร์ โมฮัมหมัด จนทำให้เกิดข้อกังวลว่า รัฐบาลใหม่ของมาเลเซียจะสนับสนุนการเจรจาสันติสุข และดำเนินการอย่างไรกับ ดาโต๊ะซัมซามิน สำนักงานเลขานุการของคณะทำงานร่วมกระบวนการพูดคุยสันติสุข (Joint Working Group-Peace Dialogue Process - JWG-PDP) ซึ่งเป็นผู้อำนวยความสะดวก

ในเรื่องนี้ พล.อ.อักษรา กล่าวว่า เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ก็อาจจะมีผลกระทบบ้าง แต่เชื่อว่ามาเลเซียจะให้การสนับสนุนต่อไป

“การพูดคุย เป็นเรื่องของนโยบายเป็นความร่วมมือระหว่างสองประเทศ การเปลี่ยนรัฐบาลก็ถือว่ามีผลกระทบบ้าง... ปัจจุบันโลกแสวงหาสันติภาพอยู่ แนวทางการพูดคุยถือว่าเป็นแนวทางสันติวิธี เชื่อว่ารัฐบาลใหม่ย่อมดำเนินวิธีที่ถูกต้อง เพราะเรื่องนี้ เป็นผลประโยชน์ของประชาชนทั้งสองประเทศ" พล.อ.อักษรา กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ทางโทรศัพท์

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง