เลขานุการคณะพูดคุยเพื่อสันติสุข: ความท้าทายของการพูดคุย คือ ท่าทีของ “ผู้เห็นต่าง”

ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2016.02.25
กรุงเทพฯ
TH-nakrob-1000 พลโทนักรบ บุญบัวทอง เลขานุการ คณะพูดคุยเพื่อสันติสุข พูดคุยกับผู้สื่อข่าวเบนาร์นิวส์ เมื่อเดือนมิถุนายน 2558
เบนาร์นิวส์

พลโทนักรบ บุญบัวทอง เลขานุการ คณะพูดคุยเพื่อสันติสุข กล่าวว่า ความท้าทายของความพยายามในการยุติปัญหาความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ท่าทีของ “ผู้เห็นต่าง” ที่มีอยู่ 15-20 เปอร์เซ็นต์ ไม่เห็นด้วยกับการพูดคุยอย่างรุนแรง

พล.ท.นักรบ ได้กล่าวแก่ผู้สื่อข่าวและผู้ร่วมฟังการบรรยายถึงความคืบหน้าในการพูดคุยสันติสุข ที่สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศ เมื่อคืนวันพุธว่า จากข้อมูลของมาราปาตานี ซึ่งเป็นองค์กรร่มของฝ่ายกองกำลังในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และที่คณะได้พูดคุย มี “ผู้เห็นต่าง” จำนวน 50 เปอร์เซ็นต์ ที่เห็นด้วยกับความพยายามในการพูดคุยฯ 30 เปอร์เซ็นต์ ยังรอดูท่าทีว่าการพูดคุยจะเดินหน้าไปทิศทางใด ส่วน 15-20 เปอร์เซ็นต์ ไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรง

“สิ่งที่ท้าทายของเราตัวแรก คือ ท่าทีของผู้เห็นต่าง ขณะนี้ จากที่พูดคุยกับฝ่ายมาราฯ ที่ได้พูดคุยกันเข้ามา ร้อยละห้าสิบของเขานี่ เห็นด้วยกับการพูดคุย ร้อยละสามสิบ อยู่ตรงกลาง รอดูท่าทีรัฐบาล และร้อยสิบห้าถึงยี่สิบ ไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรง ทำยังไงก็ได้ที่จะคุยกันแล้วให้ 30 เปอร์เซ็นต์ที่อยู่ตรงกลางที่รอดูท่าทีนี่ เข้ามาเห็นด้วยกับการพูดคุย” พล.ท.นักรบกล่าว

“ในส่วนสิบห้าถึงยี่สิบเปอร์เซ็นต์นี่ เราค่อนข้างยากที่จะเปลี่ยนทัศนคติเขา เปลี่ยนหัวเขาให้ใช้เรื่องของพีซ[สันติสุข]” พล.ท.นักรบกล่าว

“แต่เราไม่ได้ว่าจะต้องเห็นด้วยทั้งหมด แต่ถ้าเราได้ซัก 80 เปอร์เซ็นต์ อีก 15 ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ ถ้าเปลี่ยนบ้าง ก็เหลือน้อย การทำงานของรัฐก็จะง่ายขึ้น”

การพูดคุยล่าช้ากว่ากำหนดการ

อย่างไรก็ตาม พล.ท.นักรบ กล่าวว่า การพูดคุยที่ผ่านมาหนึ่งปีสองเดือน ยังล่าช้ากว่าแผนการที่กำหนดไว้ ที่มีสามขั้นตอน คือ หนึ่งการสร้างความไว้วางใจ (มกราคม-ธันวาคม 2558) สอง การบรรลุสัตยาบรรณเพื่อร่วมการแก้ปัญหาโดยสันติวิธี (มกราคม-มิถุนายน 2559 ) และสามการเขียนและปฏิบัติตามโร้ดแมป (กรกฎาคม 2559 – ธันวาคม 2560) โดยในขณะนี้ ยังอยู่ในขั้นตอนที่หนึ่ง

“ขณะนี้ หนึ่งปีกับอีกสองเดือนแล้ว ยังไปไม่ถึงไหน จริงๆ ผมเรียนว่ายังอยู่ในขั้น 1.3 อยู่เลย ผมเรียนอย่างนี้ว่า ในขั้นตอนแต่ละขั้น บางทีมันไม่ง่ายโดยเฉพาะขั้นตอนแรกเรื่อง confidence building” พล.ท.นักรบกล่าว

อย่างไรก็ตาม หลังจากการพูดคุยนอกรอบครั้งล่าสุดที่ปีนัง ทางคู่เจรจาเข้าใกล้การบรรลุข้อกติกาในการเจรจาหรือ Term of Reference เพื่อพัฒนาการพูดคุยสู่ขั้นตอนถัดไปแล้ว

พล.ท.นักรบ กล่าวว่า การพูดคุยในทางลับนั้น ทำในทุกระดับ ทั้งฝ่ายผู้เห็นต่าง ภาคประชาสังคม และคนในพื้นที่ โดยส่วนหนึ่ง มีมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก

“มาราปาตานี” ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า MARA Patani (Majis Syura Patani) เป็นชื่อขององค์กรร่วม ที่กลุ่มบีอาร์เอ็นดำริก่อตั้งขึ้นมา เพื่อเป็นแกนกลางในการเจรจากับทางการไทย ซึ่งดาโต๊ะ ซัมซามิน (Dato Sri Ahmad Zamzamin Hashim) สำนักงานเลขานุการของคณะทำงานร่วมกระบวนการพูดคุยสันติสุข (Joint Working Group—Peace Dialogue Process, JWG-PDP) ของมาเลเซีย ได้เป็นประธานประสานการประชุมของกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐบาลไทยหกกลุ่ม จนกระทั่ง ทั้งหกกลุ่มได้เห็นด้วยและรับรองกลุ่มมาราปาตานี ในวันที่ 5 เดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา

มาราปาตานี ที่ได้เปิดตัวพบปะกับสื่อมวลชนเป็นทางการในประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม ปีที่ผ่านมา

สมาชิกที่สำคัญ คือ นายอาวัง ยะบะ ผู้แทนจากกลุ่มบีอาร์เอ็น เป็นประธานกลุ่มมาราปาตานี และนายสุกรี ฮารี ผู้แทนจากกลุ่มบีอาร์เอ็น เป็นหัวหน้าคณะเจรจาของกลุ่มมาราปาตานี

สมาชิกจากกลุ่มอื่นๆ เช่น นายอะหมัด ชูโว ผู้แทนจากกลุ่มบีอาร์เอ็น นายอาบู ฮาฟิส อัลฮากิม ผู้แทนจากกลุ่ม บีไอพีพี (BIPP)  นายอาบู ยาซิน อับบาส ผู้แทนจากกลุ่มจีเอ็มไอพี (GMIP) นายกัสตูริ มะห์โกต้า ผู้แทนจากกลุ่มพูโล เอ็มเคพี และนายอาบูอัครอม บิน ฮาซัน ผู้แทนจากกลุ่มพูโลดีเอสพีพี

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง