ฮิวแมนไรท์วอทช์ : รัฐบาลไทยต้องยุติ ‘ตลาดแลกเปลี่ยน’ ผู้ลี้ภัย
2024.05.15
กรุงเทพฯ

ปรับปรุงข้อมูล 12:15 p.m. ET 2024-05-16
ประเทศไทยช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้านในการปราบปรามผู้ลี้ภัยและผู้เห็นต่าง ทำให้ไทยที่เคยเป็นที่หลบภัยมายาวนานสำหรับผู้ลี้ภัยที่หลบหนีการประหัตประหารนั้น ไม่ปลอดภัยอีกต่อไป องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ ระบุในรายงานเมื่อวันพฤหัสบดี เรียกร้องให้รัฐบาลไทยยุติการร่วมมือกับรัฐบาลประเทศเพื่อนบ้านทำ ‘ตลาดแลกเปลี่ยน’ (Swap Mart) ผู้ลี้ภัย
หลังจากได้รวบรวมข้อมูลระหว่างปี 2557-2566 พบว่า มีถึง 25 กรณี ที่รัฐบาลไทยพยายามส่งผู้ลี้ภัยจากประเทศเพื่อนบ้านกลับ ขณะเดียวกันผู้ลี้ภัยไทยในต่างประเทศก็กลายเป็นบุคคลสูญหาย นักสิทธิชี้ รัฐบาลควรเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนร่วมในกระบวนการส่งผู้ลี้ภัยกลับด้วย
“นี่เป็นโอกาสดีที่รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน จะแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลปัจจุบันแตกต่างจากรัฐบาลทหาร และให้คำมั่นในการต่อต้าน รวมทั้งเปิดโปง-ปราบปรามผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง รัฐบาลควรเปิดการสืบสวนประเด็นที่รัฐถูกกล่าวหาว่าคุกคาม และข่มขู่ผู้ลี้ภัยจากประเทศเพื่อนบ้านในไทย รวมทั้งทบทวนบทบาทของเจ้าหน้าที่รัฐในเรื่องนี้” น.ส. อีเลน เพียร์สัน ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวกับเบนาร์นิวส์
“ไทยมีชื่อเสียงมานานในฐานะที่หลบภัยของผู้หลบหนีการถูกปราบปราม แม้ผู้ลี้ภัยจำนวนมากจะไม่สามารถอาศัยในไทยได้ตามกฎหมาย หรืออาศัยได้ในระยะยาว แต่หลายคนตัดสินใจมาอยู่ที่นี่เพื่อรอการโยกย้ายไปยังประเทศที่ 3 ซึ่งขณะนี้ ผู้ลี้ภัยหลายคนรู้สึกไม่ปลอดภัยที่จะอยู่ที่นี่ เพราะการบังคับส่งกลับผู้ลี้ภัยได้ยกระดับขึ้นตั้งแต่การรัฐประหารปี 2557” ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ของฮิวแมนไรท์ กล่าวเพิ่มเติม
รายงาน ‘We thought we were safe’ ของฮิวแมนไรท์วอทช์ ระบุว่า ข้อตกลงตลาดแลกเปลี่ยน เพิ่มขึ้นหลังการยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในเดือนพฤษภาคม 2557 และยังเกิดขึ้นต่อเนื่องหลังการเลือกตั้งปี 2562 ภายใต้รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตหัวหน้า คสช.
“เจ้าหน้าที่รัฐของไทยมีส่วนร่วมในการทำ ‘ตลาดแลกเปลี่ยน’ กับรัฐบาลประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น เพื่อแลกผู้เห็นต่างจากรัฐบาลของกันและกันแบบผิดกฎหมาย นายกรัฐมนตรีไทยควรยุติการปฏิบัตินี้ และดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งร่วมมือกับรัฐบาลของต่างประเทศอย่างไม่ถูกต้องบนแผ่นดินไทย” รายงานของฮิวแมนไรท์วอทช์ ระบุ
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า มีประชาชนอย่างน้อย 104 ราย ที่ต้องลี้ภัยออกนอกประเทศในช่วงที่มีการยึดอำนาจปี 2557 เนื่องจากถูกไล่ล่า และมีผู้ลี้ภัยชาวไทยที่อาศัยอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านต้องหายตัวไปแล้วอย่างน้อย 9 คน
“เจ้าหน้าที่รัฐนอกจากจะอำนวยความสะดวกในการทำร้ายร่างกาย ลักพาตัว บังคับให้สูญหาย และการละเมิดอื่น ๆ แล้ว ยังละเมิดหลักการสากลที่ห้ามการส่งบุคคลใดกลับไปยังสถานที่ที่พวกเขาจะเผชิญกับความเสี่ยงต่อการประหัตประหาร ทรมาน หรือปฏิบัติอย่างโหดร้ายอื่น ๆ หรือการคุกคามต่อชีวิตซ้ำแล้วซ้ำเล่า” ฮิวแมนไรท์วอทช์ เปิดเผย
25 กรณี
รายงานของฮิวแมนไรท์วอทช์เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลจาก 25 กรณี ที่เกิดขึ้นระหว่างปี 2557-2566 จากการสัมภาษณ์เหยื่อของกระบวนการตลาดแลกเปลี่ยน สมาชิกครอบครัวของเหยื่อ และพยานในเหตุการณ์ จำนวน 18 คน ซึ่งในจำนวนนี้รวมไปถึงตัวแทนขององค์กรพัฒนาเอกชน จากทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ
“เจ้าหน้าที่รัฐของไทยได้จับกุมผู้ลี้ภัย ผู้วิพากษ์-วิจารณ์ และผู้เห็นต่าง กลับประเทศอย่างรวดเร็ว แม้กระทั่งดำเนินการกับผู้ที่มีสถานะเป็นผู้ลี้ภัยที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) นักกิจกรรมชาวกัมพูชาคนหนึ่งพยายามบอกตำรวจไทยว่า เขาจะถูกฆ่าหรือติดคุกถ้าถูกส่งกลับ แต่ไทยก็ยังส่งเขากลับกัมพูชาภายในไม่กี่วันหลังจากนั้น” ตอนหนึ่งจากรายงานดังกล่าว

ตั้งแต่ปี 2557 ผู้ลี้ภัยจากประเทศเพื่อนบ้านที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยเริ่มถูกคุกคาม เช่น ปี 2562 นายอ๊อด ไซยะวง นักเคลื่อนไหวกลุ่มลาวเสรี อายุ 34 ปี หายตัวไปอย่างลึกลับ ขณะลี้ภัยอยู่ในประเทศไทย ก่อนการหายตัวอ๊อดได้โพสต์คลิปวิจารณ์รัฐบาลลาว
ปี 2564 เจ้าหน้าที่ตำรวจไทยได้จับกุมตัว และส่งตัวนักเคลื่อนไหวทางการเมือง และสมาชิกพรรคฝ่ายค้าน 2 คน กลับประเทศกัมพูชา หลังจากที่ นายฮุน เซน มีคำสั่งให้ควบคุมตัว 1 ใน 2 นักเคลื่อนไหวนั้นจากการเขียนกลอนวิจารณ์ตัวนายฮุน เซน บนเฟซบุ๊ก
และ ปี 2565 นายคูคำ แก้วมะนีวง อดีตนักเคลื่อนไหวกลุ่มลาวเสรี ซึ่งได้รับสถานะผู้ลี้ภัยจากยูเอ็นเอชซีอาร์ ถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในข้อหาอยู่ในประเทศไทยโดยวีซ่าหมดอายุ อย่างไรก็ตาม เขาได้รับการช่วยเหลือก่อนที่จะถูกส่งกลับประเทศ จากนักสิทธิมนุษยชน และทนายความ
การปราบปรามผู้ลี้ภัย
ไม่เพียงแต่การจับกุมนักเคลื่อนไหวจากประเทศเพื่อนบ้าน ไทยยังมีประวัติส่งตัวผู้เห็นต่างชาวจีนกลับประเทศจีนเช่นกัน โดยฮิวแมนไรท์วอทช์เผยว่า ผู้เห็นต่างชาวจีนในประเทศไทยเริ่มหายตัวไปในช่วงนับตั้งแต่การรัฐประหารปี 2557 ชี้ให้เห็นว่า ทางการไทยได้ดำเนินการ “อย่างเห็นได้ชัดตามคำขอของรัฐบาลจีน เพื่อจับกุมและส่งตัว (ผู้เห็นต่างชาวจีน) กลับประเทศ”
ในเดือนพฤศจิกายน 2558 นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย เจียง เยเฟย และตง กวงผิง ซึ่งหลบหนีจากจีนและได้รับสถานะผู้ลี้ภัยจาก UNHCR ถูกส่งตัวออกจากประเทศไทยไม่นานหลังการจับกุม การเนรเทศเกิดขึ้นแม้ว่าทางการแคนาดาจะอนุญาตให้พวกเขาลี้ภัยแล้วก็ตาม
นายนิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ตอบข้อซักถามของเรดิโอฟรีเอเชีย เกี่ยวกับ "การกดขี่ปราบปรามข้ามชาติ" ว่า "แม้ประเทศไทยจะไม่ได้เป็นภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยสถานะผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2497 แต่เรายังคงดูแลกลุ่มบุคคลต่าง ๆ ที่หลบหนีความขัดแย้งและการประหัตประหารจากประเทศอื่นเข้ามาในประเทศไทย เพื่อลี้ภัยในพื้นที่ตามแนวชายแดนของเราและในเมือง
และเรามุ่งมั่นที่จะเคารพและสนับสนุนหลักการด้านมนุษยธรรม รวมถึงหลักการไม่ส่งกลับ นอกจากนี้เรายังได้ร่วมมือกับพันธมิตรอื่น เพื่อให้การสนับสนุนและช่วยเหลือ ตลอดจนอำนวยความสะดวกในการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนสำหรับบุคคลเหล่านี้
และภายใต้มาตรา 13 ของพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย พ.ศ. 2565 ห้ามมิให้หน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ส่งคนต่างด้าวกลับประเทศ หากมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าบุคคลดังกล่าวจะถูกทรมานหรือถูกบังคับให้สูญหายเมื่อกลับประเทศ"
ทั้งนี้ น.ส. พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวกับเบนาร์นิวส์ ต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่า รัฐบาลปัจจุบันซึ่งมาจากการเลือกตั้งควรยุติการส่งกลับผู้ลี้ภัยทันที
“รายงานขององค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ น่าจะเป็นหลักฐานที่บอกให้สังคมโลกรู้ได้ว่า การละเมิดของรัฐบาลลักษณะนี้ยอมรับไม่ได้ และตอนนี้เมื่อไทยมี พ.ร.บ. ป้องกันการซ้อมทรมานฯ ที่ห้ามการส่งคนกลับไปเผชิญอันตราย ทั้งสองสิ่งนี้ก็น่าจะทำให้รัฐบาลตระหนัก และยับยั้งการส่งกลับผู้ลี้ภัย รวมถึงเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ที่พยายามดำเนินการส่งกลับผู้ลี้ภัยด้วย” น.ส. พรเพ็ญ กล่าว
หลังรัฐประหารปี 2557 มีผู้ลี้ภัยไทยอย่างน้อย 9 คน ที่หายสาบสูญในประเทศลาว กัมพูชา รวมทั้งเวียดนาม ได้แก่ 1. นายอิทธิพล สุขแป้น (ดีเจซุนโฮ) 2. นายวุฒิพงษ์ กชธรรมคุณ (โกตี๋) 3. นายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ (แซ่ด่าน) 4. นายชูชีพ ชีวะสุทธิ์ 5. นายสยาม ธีรวุฒิ 6. นายกฤษณะ ทัพไทย 7. นายชัชชาญ บุปผาวัลย์ (สหายภูชนะ) 8. นายไกรเดช ลือเลิศ (สหายกาสะลอง) และ 9. นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ โดยสำหรับ สหายภูชนะ และกาสะลอง ได้หายตัวไปพร้อมกับนายสุรชัย และถูกพบศพในแม่น้ำโขง จังหวัดนครพนม ด้วยสภาพถูกผ่าท้องและยัดแท่งปูน
น.ส. พรเพ็ญ ระบุว่า การกระชับความสัมพันธ์ ระหว่างไทย-กัมพูชา ในรัฐบาลปัจจุบัน สร้างความหวาดกลัวและส่งผลกระทบต่อชุมชนผู้ลี้ภัยกัมพูชาในประเทศไทยอย่างมาก เพราะมีนักกิจกรรม 3 คน ถูกจับกุมตัวโดยตำรวจก่อนการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของ นายฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2567
ด้าน นายวรชาติ อาวิพันธ์ นักวิชาการสถาบันศาสนา วัฒนธรรม และสันติภาพ มหาวิทยาลัยพายัพ ชี้ว่า หากรัฐบาลไทยไม่เร่งแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น น่าจะส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยในเวทีนานาชาติ
“สังคมไทยควรตระหนักและให้ความสำคัญเรื่องสิทธิมนุษยชน เพราะเป็นการสะท้อนภาพลักษณ์เชิงลบต่อประเทศในเวทีโลก และนับเป็นการละเมิดพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่ไทยเป็นภาคี เราสามารถแก้ปัญหาการส่งตัวผู้ลี้ภัย โดยการยึดมั่นในพันธกรณีระหว่างประเทศที่ห้ามการผลักดันกลับ (Non-refoulement) ไม่ว่าจะเป็นอนุสัญญาว่าด้วยสถานะผู้ลี้ภัย อนุสัญญาต่อต้านการทรมาน รวมถึงการปฏิบัติตาม พ.ร.บ. ป้องกันการซ้อมทรมานฯ ด้วย” นายวรชาติ กล่าว
จรณ์ ปรีชาวงศ์ ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน
* เพิ่มเติมข้อมูลจาก นายนิกรเดช พลางกูร โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ตอบข้อซักถามแก่เรดิโอฟรีเอเชีย