ตำรวจ ปอท. แจ้งสองข้อหา ปิยบุตรปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา
2019.04.17
กรุงเทพฯ

ในวันนี้ นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาฐานดูหมิ่นศาล และ ละเมิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โดยนายปิยบุตร ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา พร้อมตั้งข้อสงสัยว่า ทำไมนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้า คสช. มอบอำนาจให้ฝ่ายกฎหมายมาแจ้งความตน และระบุว่าศาลถือเป็นองค์กรผู้ใช้อำนาจอธิปไตย ซึ่งประชาชนสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้
หลังจากการรับทราบข้อหา กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ได้ปล่อยตัว นายปิยบุตร โดยไม่ต้องมีประกัน
สำหรับคดีนี้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. มอบอำนาจให้ พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ ฝ่ายกฎหมายของ คสช. เข้าแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษนายปิยบุตร ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ในความผิดอาญามาตรา 198 ฐานดูหมิ่นศาลในการพิจารณาหรือพิพากษาคดี และความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(2) ฐานร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน จากการที่นายปิยบุตร อ่านคำแถลงการณ์พรรคอนาคตใหม่ กล่าวพาดพิงถึงศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีคำพิพากษาให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา
นายปิยบุตร ระบุว่า เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงวิชาการในฐานะนักกฎหมาย และไม่คิดว่าตนเองซึ่งเป็นอาจารย์สอนกฎหมายมา 16 ปี จะกลายมาเป็นผู้ต้องหา หลังจากลาออกมารับสมัครเลือกตั้ง และทำงานการเมืองไม่ถึง 1 ปี โดยตั้งข้อสังเกตว่า หัวหน้า คสช. ซึ่งเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ที่เป็นคู่แข่งทางการเมืองของพรรคอนาคตใหม่ กลับมอบอำนาจให้ฝ่ายกฎหมายมาฟ้องร้องตน นอกจากนี้ บันทึกคำให้การระบุคำพูดที่ตนไม่ได้พูด และไม่ตรงกับที่พูด
“อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน และองค์กรผู้ใช้อำนาจประชาธิปไตยประกอบด้วย รัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ศาลจึงเป็นองค์กรผู้ใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชน ดังนั้นระบบการตรวจสอบอำนาจอธิปไตย เจ้าของอำนาจอธิปไตยคือประชาชนต้องการวิพากษ์วิจารณ์ เป็นเรื่องปกติ... โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาลรัฐธรรมนูญ เป็นศาลที่ตัดสินคดีที่ส่งผลกระทบทางการเมือง ยิ่งต้องถูกตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์ได้” นายปิยบุตร กล่าวกับผู้สื่อข่าว
ทั้งนี้ นายปิยบุตร กล่าวด้วยว่า มีการเร่งรัดในการดำเนินคดี ซึ่งในเบื้องต้นขอเวลา 15 วัน ในการทำคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษร ทั้งที่กฎหมายให้เวลาถึง 30 วัน แต่พนักงานสอบสวนให้เวลาเพียง 9 วัน ซึ่งทำให้ต้องส่งคำให้การพร้อมหลักฐาน พยานภายในวันที่ 25 เมษายน นี้
ด้าน พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองผู้บังคับการ ในฐานะโฆษกฯ กล่าวว่า หลังจากที่ได้รับเอกสารคำชี้แจงอย่างเป็นทางการจากนายปิยบุตร แล้วจะได้รวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อพิจารณาคำฟ้องต่อไป โดยย้ำว่า พนักงานสอบสวน ปอท. พร้อมให้ความยุติธรรมกับทุกฝ่ายโดยคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของทุกคน
ด้านนายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความ ตั้งข้อสงสัยในแจ้งความดำเนินคดีกับนายปิยบุตร โดยสอบถามพนักงานสอบสวนว่า การที่ คสช. ได้กล่าวหานายปิยบุตรนั้น ได้สอบสวนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหรือยังว่านายปิยบุตรหมิ่นจริงหรือไม่ เพราะท่านเป็นผู้เสียหาย แต่ศาลรัฐธรรมนูญไม่ตอบ แต่บอกพนักงานสอบสวนว่า หมิ่นหรือไม่ให้อยู่ในดุลยพินิจของศาลยุติธรรม
“เป็นกรณีสงสัยว่า แม้แต่ตัวผู้เสียหายจริงๆ ที่ไม่ใช่ คสช. ท่านเสียหายจริงหรือไม่ ท่านโดนหมิ่นประมาทหรือเปล่า เราขอเวลา 30 วัน คุยไปมาเหลือ 15 วัน และจบที่ให้เรา 9 วัน เพราะว่ามีผู้ใหญ่เร่งรัด... ผมเข้าใจว่าจะไม่ทัน แต่ความยุติธรรมยังมีอยู่ ถ้าให้เวลาเราน้อย เราก็ต้องร้องขอในชั้นอัยการ ชั้นศาล” ทนายความระบุ
นางอังคณา นีละไพจิตร ให้สัมภาษณ์กับเบนาร์นิวส์ ระบุว่า ผู้มีอำนาจมักใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นช่องทางในการกลั่นแกล้งหรือปิดปากนักกิจกรรม หรือ นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย โดยเฉพาะในคดีที่เกี่ยวกับการเมือง เพราะหลังจากที่คดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้ว ผู้ต้องหามักจะถูกห้ามไม่ให้แสดงความเห็น หรือแสดงออกทางการเมืองจนกว่าคดีจะสิ้นสุด ซึ่งมักมีระยะเวลายาวนาน และหลายคดีศาลมีคำสั่งยกฟ้อง ถ้าอยากสร้างการเมืองแบบสร้างสรรค์ ควรจะมีกระบวนการกลั่นกรองคดีที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ก่อนเข้าสู่กระบวนการชั้นศาล
“เจ้าหน้าที่ตำรวจในฐานะพนักงานสอบสวนมีหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนต่างๆ แต่ควรมีการตรวจสอบในชั้นอัยการหรือชั้นศาล เพื่อพิจารณาถ่วงดุลข้อเท็จจริงทั้งจากฝั่ง คสช. และ คุณปิยบุตร ก่อนคดีขึ้นสู่ชั้นศาล และนั่นจะทำให้กระบวนการยุติธรรมเป็นกระบวนการที่ปกป้องประชาชนได้อย่างแท้จริง” นางอังคณากล่าว