ตำรวจ ปอท. ตั้งข้อหานายธนาธร ละเมิดพ.ร.บ.คอมฯ
2018.09.17
กรุงเทพฯ

นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ว่าที่หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ถูกตำรวจตั้งข้อหาอย่างเป็นทางการในวันจันทร์นี้ ตามความผิดฐานละเมิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากการลงเฟสบุ๊คไลฟ์พาดพิง คสช. ว่ามีการดูด ส.ส. และมีการอาศัยกระบวนการยุติธรรมในการดำเนินการ เมื่อปลายเดือนมิถุนายน ซึ่งมีโทษสูงสุดจำคุกห้าปี ปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นายไกลก้อง ไวทยการ และนางสาวจารุวรรณ ศรัณย์เกตุ พร้อมด้วยทีมทนายความ เดินทางเข้ามอบตัวตามหมายเรียกของพนักงานสอบสวน และรับทราบข้อกล่าวหาตามสิทธิของผู้ต้องหาในคดีอาญา หลังจากที่ พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ ฝ่ายกฎหมายของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าแจ้งความให้ บก.ปอท. ดำเนินคดีกับผู้ดูแลหรือเจ้าของเพจ “Thanathorn Juangroongruangkit - ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” และ ผู้ดูแลหรือเจ้าของเพจ “อนาคตใหม่ - The Future We Want” ตามความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (2) ในข้อหานำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จฯ สร้างความตื่นตระหนก ยุยง และเป็นภัยต่อความมั่นคง หลังจากที่ทั้งสามคน ได้จัดรายการ “คืนวันศุกร์ให้กับประชาชน” เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน ผ่านการไลฟ์สดทางเฟสบุ๊ค ซึ่งมีเนื้อหาตอนหนึ่งกล่าวพาดพิง คสช. ว่ามีการดูด ส.ส. และมีการอาศัยกระบวนการยุติธรรมในการดำเนินการดังกล่าว
“เป็นการพูดเนื้อหาที่เป็นการทำลาย หนึ่งในสามอำนาจอธิปไตยของชาติ คือ กระบวนการยุติธรรม (อำนาจตุลาการ) ซึ่งมีผลกระทบกับความมั่นคงของชาติ โดยทั้งนี้ การกระทำของผู้ต้องหากระทำไปโดยย่อมเล็งเห็นผลได้ว่า ประชาชนทั่วไปและแฟนเพจที่เชื่อถือและสนับสนุนผู้ต้องหา เกิดความตื่นตระหนกกับความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรมไทยในทุกระดับ” คำฟ้องของ คสช. ระบุ
โดยนายธนาธร และสมาชิกพรรคทั้งสอง ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และขอส่งเอกสารคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรภายใน 45 วัน
“ผมคิดว่าการใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(2) เป็นการใช้โดยมีวัตถุประสงค์ในการปิดปากเรา คุกคามเรา เพื่อสร้างความหวาดกลัวทางการเมืองในประเทศนี้” นายธนาธร กล่าวกับผู้สื่อข่าว หลังรับทราบข้อกล่าวหา
ด้าน พันตำรวจเอกศิริวัฒน์ ดีพอ ผู้กำกับกองกำกับการ 3 บก.ปอท. ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวน ให้สัมภาษณ์กับเบนาร์นิวส์ ระบุว่า เจ้าหน้าที่ได้แจ้งข้อกล่าวหากับคุณธนาธร และพวกว่ากระทำความผิดตาม พรบ.คอมฯ มาตรา 14(2) หนึ่งคดี 2 ข้อหา คือ ในเฟสบุ๊คเพจธนาธร และ เพจอนาคตใหม่ ซึ่งประมาณการว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 เดือน ในการสรุปสำนวนส่งอัยการ
“หลังจากเจ้าหน้าที่ได้รับเอกสารคำชี้แจงจากคุณธนาธรมาแล้ว ต้องพิจารณาเอกสารหลักฐานพยานทุกอย่าง ระยะเวลาไม่ควรช้าเกินไป แต่ก็ไม่ควรเร่งรีบมากจนทำให้คุณธนาธรรู้สึกว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรม คาดว่าไม่ควรเกิน 60 วัน” พ.ต.อ. ศิริวัฒน์ กล่าวกับเบนาร์นิวส์
ในขณะที่นักวิชาการมองความเคลื่อนไหวทางการเมืองของ นายธนาธร ว่าแตกต่างจากนักการเมือง พรรคการเมืองอื่นๆ ที่ยืนหยัดต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ทางการเมืองที่แท้จริง
“เป็นคนที่มีจุดยืนชัดเจนในอดุมการณ์ประชาธิปไตยแบบเสรี ต่างจากนักการเมืองอื่นๆ ของไทย ไม่ได้มีจุดยืนทางการเมืองที่ชัดเจน การไม่ยืนหยัดต่อสู้กับทหาร มันแสดงให้เห็นว่าไม่ได้มีจุดยืนเชิงอุดมการณ์อย่างแท้จริง” นายฐิติพล ภักดีวานิช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ให้สัมภาษณ์กับเบนาร์นิวส์ทางโทรศัพท์
นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ว่าที่หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และผู้ต้องหาในคดีพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ได้ยืนยันว่าจะยังเดินหน้าใช้สื่อโซเชียลในการเผยแพร่อุดมการณ์ การประกาศนโยบาย การทำกิจกรรมพบปะกับประชาชนต่อไป โดยระบุว่า คงไม่สามารถหยุดยั้งตัวเองให้แสดงความคิดเห็นโดยสุจริตได้ ถ้าเราหยุดยั้งตัวเองแปลว่าเรากลัว เมื่อไหร่ที่เรากลัว นั่นหมายความว่า คสช. ก็จะชนะ
“(เพื่อ) อนาคตที่ดีกว่านี้ มันคุ้มค่าที่จะเสี่ยง” นายธนาธร กล่าวกับเบนาร์นิวส์
คสช. คลายล็อค นับถอยหลังสู่เลือกตั้ง
ประเทศไทยเริ่มนับถอยหลังเข้าสู่บรรยากาศการเลือกตั้ง เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่า ด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา ระบุให้คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดให้มีวันเลือกตั้งภายใน 150 วัน นับจากวันที่กฎหมายทั้งสองบังคับใช้ในช่วงกลางเดือนธันวาคม
ต่อมาในวันศุกร์ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ใช้อำนาจตามมา 44 ประกาศคลายล็อคพรรคการเมือง ให้พรรคการเมืองมีกิจกรรมบางอย่าง เพื่อเตรียมความพร้อมในการเลือกตั้งได้ โดยอนุญาตให้พรรคการเมืองสามารถแก้ไขข้อบังคับ จัดทำคำประกาศอุดมการณ์ทางการเมืองและนโยบายของพรรคการเมือง กำหนดนโยบายพรรค และเลือกตั้งหัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรคได้ แต่ยังคงห้ามการทำไพรมารีโหวตและการหาเสียง ระบุว่า พรรคการเมืองจะดำเนินการประชาสัมพันธ์หรือติดต่อกับผู้ดำรงตำแหน่งใดๆ ภายในพรรคการเมืองและสมาชิกของพรรคการเมือง โดยวิธีการผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศ หรืออิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ แต่ต้องไม่ใช่ในลักษณะการหาเสียง