ศาลอาญายกคำร้องดีอีเอส ที่ให้ธนาธรลบเนื้อหาวิจารณ์วัคซีน
2021.02.08
กรุงเทพฯ

ในวันจันทร์นี้ ศาลอาญา รัชดา ได้ยกเลิกคำสั่งในก่อนหน้านี้ ที่ได้บังคับให้นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ระงับการเผยแพร่คำวิพากษ์-วิจารณ์การบริหารการจัดซื้อจัดหาวัคซีนของรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าเป็นอย่างล่าช้า และได้เอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทเอกชนที่เชื่อว่ามีสำนักทรัพย์สินพระมหากษัตริย์เป็นผู้ถือหุ้น
ทั้งนี้ นายธนาธร ได้เผยแพร่คำวิพากษ์-วิจารณ์รัฐบาล ทางเฟซบุ๊กไลฟ์ เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2564 จากนั้นในวันที่ 29 มกราคม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) ได้ยื่นคำร้องให้ศาลอาญาระงับให้การทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์จำนวน 3 URLs (Uniform Resource Locator) ทางเฟซบุ๊ก ยูทูบ และเว็บไซต์ โดยอ้างว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของราชอาณาจักร โดยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นความผิดตามมาตรา 14(3) ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โดยศาลได้สั่งระงับตามขอ แต่นายธนาธรได้ยื่นคัดค้านคำร้อง เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์
นอกจากนั้น ในวันที่ 21 มกราคม กระทรวงดิจิทัลฯ ยังได้ร้องทุกข์กับกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) กล่าวโทษนายธนาธรว่า กระทำความผิดตามมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งขณะนี้ ยังอยู่ในระหว่างการทำสำนวน
ในวันนี้ ศาลอาญา ได้พิจารณาเห็นว่า การกระทำของนายธนาธร ไม่มีความผิด
“เมื่อพิจารณาข้อความทั้งหมดแล้ว แม้ว่าผู้คัดค้านจะบรรยายว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด แต่ก็มิได้มีข้อความใดที่แสดงให้เห็นชัดเจนเป็นการกล่าวหา หรือตำหนิติเตียน หรือกล่าวให้สงสัยในความสุจริตต่อพระองค์ ไม่ว่าในทางใด ๆ จึงไม่มีลักษณะชัดเจนหรือเห็นได้ในทางภาวะวิสัยที่แสดงว่า ข้อความนี้อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงตามที่มีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อันจะเป็นเหตุให้ศาลสั่งระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ แต่อย่างใด”
“อาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ประกอบ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 วรรคหนึ่ง ให้เพิกถอนกระบวนการพิจารณาตั้งแต่การไต่สวนและมีคำสั่งศาล ซึ่งย่อมมีผลให้คำสั่งศาล ในวันที่ 29 มกราคม 2564 เป็นอันสิ้นผล และมีคำสั่งยกคำร้อง” ข้อความท่อนหนึ่งของคำสั่งศาลอาญาระบุ
เมื่อวันที่ 21 มกราคม นายธนาธร กล่าวแสดงความรู้สึกที่ถูกแจ้งความว่า “เมื่อพวกเราตั้งคำถามกับการที่ประเทศไทยได้รับวัคซีนที่ครอบคลุมจำนวนประชากรได้น้อย และได้ฉีดช้า รัฐบาลมีการเอื้อประโยชน์บริษัทเอกชนรายใดรายหนึ่งเป็นการเฉพาะหรือไม่ นี่คือสิ่งที่ผมโดน ถูกรัฐบาลฟ้องว่าทำผิดกฎหมายคอมพิวเตอร์ และกฎหมายอาญามาตรา 112”
ในวันเดียวกันนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ได้ออกแถลงข่าวแสดงความวิตกกังวลต่อการบังคับใช้กฎหมายหมิ่นสถาบันในประเทศไทยที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะคดีของนางอัญชัน ปรีเลิศ ที่ถูกตัดสินจำคุกสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 43 ปี 6 เดือน หลังลดโทษกึ่งหนึ่ง รวมถึงยังได้ตั้งข้อหาอย่างรุนแรงในคดีหมิ่นสถาบันฯ ดังกล่าว ต่อผู้เยาว์ เพียงเพราะพวกเขาได้ออกมาใช้เสรีภาพในการแสดงออก
“เราขอเรียกร้องให้ทางการไทยทบทวนและยกเลิกคดีหมิ่นสถาบัน ยกเลิกการดำเนินคดีกับทุกคนที่ถูกฟ้องร้องในขณะนี้ และปล่อยตัวนักโทษที่ถูกจองจำ เพราะเขาใช้สิทธิในการแสดงออกและเคลื่อนไหวชุมนุมด้วยความสงบ” ผู้เชี่ยวชาญกล่าวในแถลงการณ์
การจัดการวัคซีนที่ล่าช้า
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2564 พล.อ.ประยุทธ์ ให้ข้อมูลบนแฟนเพจ โดยสรุปว่า ประเทศไทยจะสามารถฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับประชาชน 50 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ ในปี 2564 โดยวัคซีน 2 ล้านโดส จากบริษัท ซิโนแวค ประเทศจีน มูลค่า 1,228 ล้านบาท จะถูกนำเข้าประเทศไทย ในเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน 2564 นี้ ซึ่งในเดือนกุมภาพันธ์ บุคลากรทางการแพทย์และผู้สูงอายุจะได้รับการฉีดก่อน 2 แสนโดส เดือนมีนาคมและเมษายน จะได้รับอีก 8 แสนโดส และ 1 ล้านโดส ตามลำดับ ขณะที่อีก 26 ล้านโดส ซึ่งรัฐบาลได้จองกับบริษัท แอสตราเซเนกา มูลค่า 6,049 ล้านบาท จะมีการส่งมอบในเดือนพฤษภาคม และส่วนที่จัดหาเพิ่มเติมอีก 35 ล้านโดส ซึ่งยังไม่ระบุมูลค่าสัญญาซื้อขาย จะทยอยอนุมัติและส่งมอบต่อไป โดยหากเป็นไปตามข้อมูลนี้ จะทำให้ไทยจะมีวัคซีน รวมทั้งหมด 63 ล้านโดส เพียงพอสำหรับประชาชนอย่างน้อย 30 ล้านคน หรือเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ ซึ่งประชาชนต้องฉีดคนละ 2 โดส แต่ละโดสห่างกัน 4 สัปดาห์
ในปลายเดือนมกราคม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ได้มีการลงนามขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด -19 ของบริษัท แอสตราเซเนกา ส่วนที่ผลิตในประเทศอิตาลีแล้ว หลังจากทางบริษัทฯ ส่งเอกสารมาขอขึ้นทะเบียนในไทยเพื่อใช้ฉีดภาวะฉุกเฉิน โดยวัคซีนจำนวน 50,000 โดสแรก จะถึงไทยในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ต่อมา นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า วัคซีนชุดแรกแอสตราเซเนกา จะมาประเทศไทยในต้นเดือนกุมภาพันธ์ และจะฉีดวัคซีนเข็มแรกในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ โดยจะเปิดให้แพทย์ลงทะเบียนรับวัคซีนออนไลน์ก่อนในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ แต่ในวันที่ 29 มกราคม 2564 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า วัคซีนโควิด-19 ดังกล่าว อาจมีปัญหาล่าช้า เนื่องจากสหภาพยุโรป (EU) ได้ออกแถลงการณ์เตือนบริษัท แอสตราเซเนกา ถึงการส่งออกวัคซีนไปยังนอกภาคพื้นยุโรป เพราะแอสตราเซเนกาประสบปัญหาล่าช้าในการผลิตและส่งมอบวัคซีนให้กับ 27 สมาชิกอียู ตามที่กำหนดในเดือนมีนาคม 2564 แต่ล่าสุด มีข่าวว่าอาจส่งได้เพียงราว 31 ล้านโดส เท่านั้น
เมื่อวันที่ 26 มกราคม นายอนุทิน ชาญวีรกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวชี้แจงทางเฟซบุ๊กว่า ทางการไทยเจรจากับผู้ผลิตวัคซีนทุกรายที่ผลิตวัคซีนออกมาจำหน่ายในขณะนี้ แต่การเจรจา มีข้อจำกัดมากมายทั้งจากเงื่อนไขของผู้ผลิต จากระบบกฎหมายไทย และงบประมาณของประเทศไทยเอง
ส่วนการณีของแอสตราเซเนกา และบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์นั้น นายอนุทินกล่าวว่า “การได้รับข้อเสนอจากบริษัทแอสตราเซเนกาฯ ใช้โรงงานในประเทศไทย ซึ่งบริษัทเลือกเอง เป็นฐานการผลิตวัคซีน ของบริษัท เพื่อจำหน่ายให้แก่ภูมิภาคอาเซียน อีกด้านหนึ่งต้องนับเป็นความมั่นคงทางด้านวัคซีนของประเทศไทย เป็นสิทธิประโยชน์ที่ดีกว่าหลาย ๆ ประเทศในภูมิภาคอาเซียน ในฐานะผู้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีน”
ล่าสุดรัฐบาลถูกกล่าวหาว่าดำเนินการจัดหาวัคซีนผิดพลาด โดยไม่ได้ร่วมในการจัดหาวัคซีน
“กรณีที่ประเทศไทยไม่รวมโครงการวัคซีนของ COVAX นั้น เราได้เจรจากับ COVAX มาตลอด แต่เราไม่อยู่เกณฑ์ที่เขาจะให้ฟรี COVAX ให้สิทธิแก่ประเทศยากจนที่ WHO และ GAVI ให้การสนับสนุนจำนวน 92 ประเทศ แต่ไทยถูกจัดให้เป็นประเทศที่มีฐานะปานกลาง หากเราจะร่วมกับ COVAX เราต้องซื้อราคาแพงกว่า และไม่สามารถเลือกวัคซีนจากผู้ผลิตรายใดได้ มีความไม่แน่นอนทั้ง ชนิด จำนวน และราคา รวมทั้งต้องจ่ายเงินล่วงหน้า ซึ่งไม่รู้ว่าจะได้วัคซีน เมื่อไร” นายอนุทินชี้แจง