คนอยากเลือกตั้งเริ่มชุมนุม เตรียมไปทำเนียบฯ
2018.05.21
กรุงเทพฯ

ในวันจันทร์นี้ กลุ่มนักศึกษา และประชาชนในนามคนอยากเลือกตั้ง เริ่มรวมตัวกันที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาเขตท่าพระจันทร์ เพื่อเตรียมเดินเท้าไปยังทำเนียบรัฐบาลในเช้าวันอังคาร เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งจัดการเลือกตั้งภายในปี 2561 ตามที่นายกรัฐมนตรีเคยสัญญา ด้านตำรวจระบุ ห้ามผู้ชุมนุมเข้าใกล้ทำเนียบรัฐบาล และอาจแจ้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง หัวหน้า คสช.ที่ 3/58 ชุมนุมทางการเมือง ตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป
นายรังสิมันต์ โรม แกนนำผู้ชุมนุมกลุ่มคนอยากเลือกตั้งแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน และผู้ร่วมชุมนุมที่มารวมตัวกันที่ข้างหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กว่า 200 คนว่า ผู้ชุมนุมจะรวมตัวกัน และมีกิจกรรมเล่นดนตรี รวมถึงปราศรัยจนกระทั่งเวลา 22.00 น. ของวันจันทร์ แล้วจะเริ่มเดินเท้าไปยังทำเนียบรัฐบาลในเวลา 07.00 น. ของวันรุ่งขึ้น
“ความสำคัญของการมารวมตัวกันในวันนี้ คือปักหลักให้พี่น้องประชาชนคนอื่นๆที่กำลังเดินทางมาสามารถมารวมกับเราได้ ความสำคัญของวันนี้ คือการที่พวกเราเป็นอิฐก้อนแรกให้พี่น้องประชาชนจากเชียงใหม่ ปัตตานี ขอนแก่น อุบลฯมารวมกันได้ เพื่อจะไปที่ทำเนียบรัฐบาลได้ อาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย เจอกับการปิดล้อมกันอยู่ แต่มันไม่ใช่การทำเพื่อพวกเรา แต่ทำเพื่อคนไทยที่ไม่มีโอกาสได้แม้แต่เลือกตั้ง” นายรังสิมันต์กล่าว
การรวมตัวของคนอยากเลือกตั้งในวันจันทร์นี้ เพื่อเดินเท้าไปเรียกร้องให้รัฐบาลจัดการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2561 ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เคยให้คำสัญญาไว้เมื่อเดือนตุลาคม 2560 โดยถือเอาวันครบรอบ 4 ปีการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เป็นวันจัดกิจกรรม
เดิมที กลุ่มคนอยากเลือกตั้งได้นัดรวมตัวกันที่ สนามฟุตบอลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ปักป้าย และล้อมรั้วรอบสนามโดยระบุว่า ปิดการใช้งานเพื่อใส่ปุ๋ยและกำจัดแมลง กลุ่มคนอยากเลือกตั้งจึงย้ายมาจัดกิจกรรมที่ข้างหอประชุมใหญ่ ฝั่งสนามหลวง และในช่วงเริ่มต้นการชุมนุม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยังได้ทำการปิดประตูทางเข้าสองบาน ที่ใกล้กับกลุ่มผู้ชุมนุม เพื่อไม่ให้ผู้ชุมนุมสามารถเข้ามารวมกันภายในมหาวิทยาลัยได้สะดวกด้วย
ด้าน พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวในการประชุมทำความเข้าใจกับสื่อมวลชน ในการทำข่าวการชุมนุมของคนอยากเลือกตั้งว่า ผู้สื่อข่าวทุกคนจำเป็นต้องมีปลอกแขน ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาลออกให้ และห้อยป้ายสื่อมวลชนตลอดเวลาที่ติดตามทำข่าวการชุมนุม รวมถึง ห้ามรวมปะปนกับผู้ชุมนุม หากฝ่าฝืนอาจถูกแจ้งความดำเนินคดี ฐานร่วมชุมนุมทางการเมือง
“กองทัพมาร้องทุกข์ท่านก็ต้องถูกดำเนินคดีไปด้วย การชุมนุมทางการเมือง คุณ(ผู้สื่อข่าว)จะไปรวมกับเขา(ผู้ชุมนุม)ได้ไง คุณรวมกับเขาคุณก็ผิดไปกับเขาสิ ผมเรียนแล้วนะ เงื่อนไขของผม คุณต้องติดปลอกแขนของตำรวจ ต้องอยู่กับตำรวจ ห้ามเสนอข้อมูลที่เป็นการข่าวสารที่เป็นการยั่วยุ ใครขัดคำสั่งเจ้าพนักงานก็ถูกดำเนินคดีไป ผมถือว่าผมประกาศให้ทราบทั่วกันแล้ว” พล.ต.อ.ศรีวราห์กล่าว
โดย กองบัญชาการตำรวจนครบาลประเมินว่า ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2561 นี้ จะมีผู้ร่วมชุมนุม และเดินทางเท้ามายังทำเนียบรัฐบาลประมาณ 2 พันคน เจ้าหน้าที่จะมีการติดป้าย ห้ามชุมนุมในรัศมี 50 เมตร รอบทำเนียบรัฐบาล ผู้ใดฝ่าฝืนมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ในการประกาศข้อกำหนดการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนโดย พล.ต.อ.ศรีวราห์ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์ระบุว่า การทำปลอกแขนของตำรวจ และการระบุเงื่อนไขเคร่งครัดให้ผู้สื่อข่าวต้องปฎิบัติตาม ตำรวจไม่ได้มีการประสานกับสมาคมฯ จึงแนะนำให้ผู้สื่อข่าวทำหน้าที่โดยยึดจริยธรรม และใช้บัตรที่องค์กร หรือกรมประชาสัมพันธ์ออกให้ในการแสดงตัว
ก่อนหน้านี้ กลุ่มคนอยากเลือกตั้งเคยจัดชุมนุมมาแล้วหลายครั้ง ในหลายพื้นที่ เช่น บนทางเชื่อมสถานีรถไฟฟ้าสนามกีฬา อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน หรือกองบัญชาการทหารบก โดยเริ่มชุมนุมมาตั้งแต่เดือมกุมภาพันธ์ 2561 และทำให้มีแกนนำและผู้ร่วมชุมนุมถูกเจ้าหน้าที่รัฐดำเนินคดี ในความผิดฐานยุยงปลุกปั่น กฎหมายอาญามาตรา 116 และ ความผิดใน พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ
ปล่อยตัวไม่ใช้เงินประกัน 8 แกนนำเพื่อไทย
ในวันเดียวกัน พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์, ภูมิธรรม เวชยชัย, ชูศักดิ์ ศิรินิล, ชัยเกษม นิติสิริ, จาตุรนต์ ฉายแสง, นพดล ปัทมะ, วัฒนา เมืองสุข และกิตติรัตน์ ณ ระนอง เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน กองบังคับการตำรวจปราบปรามเพื่อรับทราบข้อกล่าวหา ฐานฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 57/2557 ห้ามพรรคการเมืองเดิมดําเนินการประชุม หรือกิจการทางการเมือง, ฝ่าฝืนคำสั่ง หัวหน้า คสช.ที่ 3/58 ชุมนุมทางการเมือง ตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป, มาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญา ยุยงปลุกปั่น และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ
คดีนี้ เจ้าหน้าที่ทหาร คสช. เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษแกนนำพรรคเพื่อไทย 8 ราย เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2561 เนื่องจาก พรรคเพื่อไทยจัดแถลงข่าวโจมตีการทำงานของรัฐบาล และคสช. ในชื่อ “4 ปีที่ล้มเหลวของรัฐบาล และ คสช.นำประเทศไปสู่ความมืดมนและอันตราย”
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ตำรวจได้สอบปากคำทุกคน และพบว่า ไม่มีพฤติกรรมหลบหนี จึงอนุญาตให้ปล่อยตัวในชั้นสอบสวน โดยไม่ต้องใช้เงินประกัน