ศาลฎีกาไม่รับฟ้องอภิสิทธิ์-สุเทพ คดีสั่งสลายชุมนุมปี 53
2017.08.31
กรุงเทพฯ

ในวันพฤหัสบดี (31 สิงหาคม 2560) นี้ ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์มีคำสั่ง ไม่รับฟ้อง คดีสั่งสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง ปี 2553 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 99 ราย โดยคดีนี้ พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี จำเลยที่ 1 และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี จำลยที่ 2
“ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าการสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 มีบุคคลถึงแก่ความตาย และได้รับบาดเจ็บจากการสลายการชุมนุมดังกล่าว ที่จำเลยที่ 1 ได้ให้ ศอฉ. ดำเนินการควบคุมให้มีการกำหนดแนวห้ามผ่าน และให้ใช้อาวุธปืนเท่าที่จำเป็น จำเลยที่ 2 ได้รับการแต่งตั้งจากจำเลยที่ 1 ให้เป็นผู้อำนวยการ ศอฉ. มีการให้เจ้าหน้าที่ใช้กระสุนจริง และพลแม่นปืน การออกคำสั่งขอให้สลายการชุมนุมเป็นเหตุให้เกิดการเสียชีวิต และได้รับอันตรายแสดงว่า ตามคำฟ้องโจทก์ได้อ้างการออกคำสั่งดังกล่าวในขณะปฏิบัติหน้าที่ ไม่ได้ฟ้องในฐานะส่วนตัว” ตอนหนึ่งของคำพิพากษา
“เมื่อจะต้องดำเนินกระบวนการตามกฎหมายที่วินิจฉัยแล้ว การที่ดีเอสไอได้สอบสวนแล้วสรุปสำนวนส่งให้อัยการสูงสุดพิจารณาสั่งฟ้องต่อศาลอาญานั้น ไม่เป็นไปตามกระบวนการ และช่องทางตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ขณะที่ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้อง ถือเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่จะขัดต่อความสงบเรียบร้อย และศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงชอบที่ศาลชั้นต้นจะหยิบยกขึ้นมาวินิจฉัย และมีคำสั่งตามประมวลวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24, 142 และประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ที่ศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยนั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาพิพากษายืน” คำพิพากษาระบุ
ด้านนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง เปิดเผยต่อสื่อมวลชนหลังฟังคำพิพากษายืนยันว่า สิ่งที่ตนเองได้กระทำในปี 2553 เป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมาย และหาก คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ปปช.) จะนำกรณีสลายการชุมนุม ยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตนก็พร้อมที่จะต่อสู้คดี
“มันเป็นเรื่องการปฎิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ไม่ได้ทำอะไรผิดกฎหมาย ปปช.เขาได้วินิจฉัยแล้ว ส่วนศาลก็ได้ วินิจฉัยตั้งแต่ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาแล้ว ถ้า ปปช.ฟ้องอีก ก็พร้อมที่จะสู้คดี ผมเตรียมเอกสารไว้แล้ว” นายสุเทพกล่าว
“ท่านนายกฯอภิสิทธิ์ และผม ปฎิบัติหน้าที่ตามภาระรับผิดชอบ โดยถูกต้องตามกฎหมายทุกขั้นตอน จริงๆท่านนายกฯอภิสิทธิ์ต้องมาเป็นจำเลยด้วยเหตุใดไม่ทราบ เพราะโดยกฎหมายผมเป็นผู้รับผิดชอบ และทั้งหมดผมเป็นผู้สั่งการ เพราะท่านนายกฯให้ผมเป็นรองนายกฯฝ่ายความมั่นคง เป็นผู้รับผิดชอบในการแก้ไขปัญหานี้” นายสุเทพระบุ
ขณะที่นายโชคชัย อ่างทอง ทนายความโจทก์ร่วม เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า คำพิพากษาของศาลฎีกาไม่ได้หมายความว่า การออกคำสั่งสลายการชุมนุมของนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพถูกหรือผิด ดังนั้น คณะทำงานด้านกฎหมายจะได้หาช่องทางการฟ้องร้องต่อจำเลยทั้ง 2 ในอนาคต
“หลักฐานแย้งมีทั้งข้อเท็จจริงในเหตุการณ์แต่ละเหตุการณ์ ในเรื่องของการใช้กระสุนจริง รวมทั้งการใช้พลแม่นปืนอะไรเหล่านี้ ซึ่งมันเกินสมควรแก่เหตุอยู่แล้ว ผู้ที่ตายส่วนใหญ่ก็เป็นผู้ที่ไม่มีอาวุธและเป็นประชาชน ข้อเท็จนี้ก็ชัดอยู่นะ ศาลยังไม่ได้วินิจฉัยว่าผิดหรือไม่ผิด เพียงแต่วินิจฉัยว่า ศาลอาญามีอำนาจรับฟ้องหรือไม่ และสำนวนที่ดีเอสไอทำมา มีอำนาจสอบสวนหรือเปล่าเท่านั้นเอง” นายโชคชัยกล่าว
การชุมนุม นปช. ปี 2553 และคดีสั่งสลายการชุมนุม
กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือกลุ่มคนเสื้อแดง ตั้งข้อสงสัยว่า กองทัพเป็นองค์กรที่อยู่เบื้องหลังการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งทำให้ที่มาของรัฐบาลมีความไม่ชอบธรรม เพราะ เมื่อมีการยุบพรรคพลังประชาชนซึ่งเป็นพรรครัฐบาลในตอนนั้น มีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนขั้วทางการเมืองของอดีตสมาชิกพรรค จนทำให้เกิดการจัดตั้งรัฐบาลผสมซึ่งเป็นพรรคที่ไม่ได้รับการเลือกตั้งโดยเสียงส่วนมาก และพรรคประชาธิปัตย์สามารถเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล โดยมีนายอภิสิทธิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี
เมื่อข้อเรียกร้องให้มีการจัดการเลือกตั้งใหม่ไม่เป็นผล นปช.จึงเริ่มชุมนุมที่สี่แยกประสงค์ ตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2553 เรียกร้องให้รัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ยุบสภา ขณะที่รัฐบาลประกาศใช้ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) และตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.) เพื่อควบคุมสถานการณ์ และ ศอฉ. เริ่มอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ทหารใช้อาวุธสงครามยิงเข้าใส่บริเวณที่มีผู้ชุมนุมอาศัยอยู่ โดยอ้างว่า ในกลุ่มผู้ชุมนุมมีกองกำลังไม่ทราบฝ่าย หรือชายชุดดำแฝงตัว และใช้อาวุธโจมตีใส่เจ้าหน้าที่
การโจมตีจากฝ่ายทหารใส่บริเวณที่มีผู้ชุมนุมอาศัยอยู่ซึ่ง ศอฉ.ระบุว่าเป็นการ “กระชับพื้นที่” หรือ “ขอคืนพื้นที่” ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 1.2 พันราย และมีผู้เสียชีวิต 99 ราย จนกระทั่ง แกนนำ นปช. ต้องประกาศยุติการชุมนุม ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 เพื่อหยุดการสูญเสีย
ปี 2555 กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) รับคดีสั่งสลายการชุมนุม ปี 2553 เป็นคดีพิเศษ โดยได้ทำการสอบสวน และส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุดสั่งฟ้องจำเลยทั้ง 2 ต่อศาลอาญาในข้อหา “ร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำหรือฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาเล็งเห็นผล” ตามประมวลกฎหมายอาญา (ป.อาญา) มาตรา 288 ซึ่งมีโทษสูงสุดคือ จำคุกตลอดชีวิต
28 สิงหาคม 2557 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฟ้อง โดยให้เหตุผลว่า การกระทำของนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ จำเลยที่ 1-2 เป็นการกระทำที่เกี่ยวพันกับการที่จำเลยทั้งสองใช้อำนาจตำแหน่งหน้าที่ราชการในฐานะนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี รวมทั้งผู้อำนวยการ ศอฉ. ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ใช่การกระทำทางอาญาที่กระทำโดยส่วนตัวหรือนอกเหนือหน้าที่ราชการ
17 กุมภาพันธ์ 2559 ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ไม่รับฟ้อง เนื่องจากเห็นว่า เหตุที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองกระทำไปในฐานะส่วนตัว แต่เป็นกรณีที่จำเลยทั้งสองกระทำไปในฐานะผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยทั้งศาลชั้นต้น และอุทธรณ์ยกคำร้องของญาติผู้เสียชีวิตในการขอเป็นโจทก์ร่วมด้วย
ขณะที่วานนี้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติให้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฟ้อง พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ในคดีการสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ปี 2551 ซึ่งทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต หลังจากเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา ศาลฎีกาฯพิพากษายกฟ้อง นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และพล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (จำเลยที่ 1-4 ตามลำดับ) โดยการอุทธรณ์ ปปช.ไม่ได้ฟ้องจำเลยรายอื่นๆ เนื่องจาก เห็นว่าไม่ใช่ผู้ดูแลใกล้ชิดเหตุการณ์