เฟสบุ๊คบล็อกโฆษณาการเลือกตั้งของไทย ที่มาจากต่างประเทศ

ทีมงานเบนาร์นิวส์
2019.01.31
กรุงเทพฯ และวอชิงตัน
190131-TH-election-1000.jpg มอเตอร์ไซค์รับจ้างขี่ผ่านโปสเตอร์โฆษณาเลือกตั้งของผู้สมัครพรรคเพื่อไทย สุนิสา ทิวากรณ์ดำรง ในกรุงเทพฯ วันที่ 24 ม.ค. 2562
เอพี

เฟสบุ๊คเปิดเผยว่า จะบล็อกโฆษณาจากต่างประเทศอันเกี่ยวกับการเลือกตั้งในประเทศไทย ในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นใน วันที่ 24 มีนาคม แต่การตัดสินใจเช่นนี้ “ไม่ได้เกี่ยวข้อง” กับคำขอจากรัฐบาลทหารไทย โฆษกของสื่อสังคมออนไลน์ยักษ์ใหญ่กล่าว

สำนักงานของเฟสบุ๊ค ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ระบุว่า ในปี 2561 มีคนไทยใช้งาน 52 ล้านบัญชี ซึ่งบริษัทฯ ได้ประกาศว่า จะดำเนินการเข้มงวดขึ้นกับ "ข่าวปลอม" ก่อนการเลือกตั้งครั้งสำคัญ ในหลายประเทศ แถบภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

“เป็นความมุ่งมั่นส่วนหนึ่งของเรา ในการปกป้องบูรณภาพของการเลือกตั้ง เราจะขยายข้อจำกัดบังคับใช้เป็นการชั่วคราว ที่จะไม่อนุญาตให้มีโฆษณาการเลือกตั้งจากต่างประเทศ ในประเทศไทย สำหรับการเลือกตั้งที่จะมาถึง” เฟสบุ๊คกล่าวในแถลงการณ์หน้านิวส์รูม (Newsroom page)

“คาดว่าข้อจำกัดนี้จะมีผลบังคับใช้ในกลางเดือนกุมภาพันธ์ และจะมีผลบังคับใช้กับโฆษณาเกี่ยวกับการเลือกตั้ง หากโฆษณาเหล่านั้นถูกลงโดยผู้โฆษณาที่อยู่นอกประเทศไทย ซึ่งได้ระบุว่าเป็น เฟสบุ๊คจะใช้ทั้งระบบ "อัตโนมัติ และ มีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ"

การดำเนินการของเฟสบุ๊คครั้งนี้ มาจากกลุ่มผู้สังเกตการณ์ทางการเมือง ซึ่งเกิดขึ้นหนึ่งสัปดาห์หลังจากที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ออกกฎระเบียบการจัดกิจกรรมทางการเมือง โดยมีเป้าหมายที่โซเชียลมีเดีย

“การเรียนรู้จากทุกการเลือกตั้งในช่วงสองปีที่ผ่านมา ทำให้เราเพิ่มขีดความสามารถในการจัดการ ปลดข่าวปลอม ลดข่าวเท็จ ขจัดผู้ปฏิบัติการเลวร้ายเหล่านี้ พร้อมทั้งให้การสนับสนุน ผู้มีส่วนร่วม ให้ได้รับข้อมูลการเลือกตั้ง และเพิ่มความโปร่งใสของการโฆษณา” เคที ฮาร์บาธ ผู้อำนวยการ ฝ่ายการเมืองระหว่างประเทศ กล่าวในแถลงการณ์

ประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งครั้งแรก นับตั้งแต่มีรัฐประหารเมื่อเกือบห้าปีที่แล้ว ในเดือนพฤษภาคม 2557

ผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองกล่าวว่า ระเบียบของกกต. นั้นมุ่งเป้าไปที่กลุ่มพรรคการเมืองหัวก้าวหน้าที่ต้องพึ่งพาโซเชียลมีเดียอย่างมาก

และยังกล่าวว่า การเลือกตั้งในเดือนมีนาคม จะมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งหนุ่มสาวที่เข้าใจการใช้โซเชียลมีเดีย เข้ามามีส่วนร่วมมาก โดยกว่าร้อยละ 25 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง มีอายุประมาณ 18 ถึง 35 ปี

“รัฐบาลทหารของไทย มีปรากฏการณ์การใช้โซเชียลมีเดียน้อยมาก เมื่อเทียบกับกลุ่มการเมืองอื่น ๆ และคงรับรู้อย่างชัดแจ้งว่า สื่อออนไลน์มีผลอย่างมาก ต่อการแพ้ หรือชนะการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นนี้” ชอน คริสปิน จากคณะกรรมการเพื่อปกป้องผู้สื่อข่าว ประจำกรุงเทพฯ กล่าวแก่ เซาท์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์

คริสปินกล่าวอีกว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งหนุ่มสาว ที่จะได้เลือกตั้งเป็นครั้งแรกในประเทศไทยนั้น ก็คาดหวังว่า พวกเขาจะได้รับการชี้แนะจากผู้มีประสบการณ์ในโซเชียลมีเดียนั่น

“การห้ามโฆษณาเกี่ยวกับการเลือกตั้งบนเฟสบุ๊คนั้น น่าจะเป็นการช่วยกลุ่มที่สนับสนุนรัฐบาลทหาร ซึ่งมีผลลบกับฝ่ายตรงข้าม ที่นิยมการใช้โซเชียลมีเดีย” คริสปิน กล่าว

เบนาร์นิวส์ ได้สอบถามเพื่อขอความเห็นจาก แคลร์ แวริง เจ้าหน้าที่สื่อของเฟสบุ๊ค ประจำสิงคโปร์ แต่ยังไม่ได้รับความเห็นกลับมาในวันนี้

แต่ เซาท์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์ ได้อ้างถึง โฆษกของเฟสบุ๊ค ที่ไม่เปิดเผยนาม ว่า มาตรการที่ดำเนินการบนหน้าออนไลน์นั้น ไม่ได้มาจากการกดดันหรือคำร้องขอใด ๆ จากรัฐบาลไทย

“การดำเนินการนี้สอดคล้องกับแนวทางที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งทั่วโลกของเรา” เจ้าหน้าที่โฆษกของสื่อดังกล่าวระบุ “ไม่ได้เป็นคำขอของรัฐบาล”

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ เฟสบุ๊คเผยถึงนโยบายการเลือกตั้ง เมื่อเร็ว ๆ นี้เครือข่ายโซเชียลมีเดีย ได้ประกาศกฎระเบียบที่เข้มงวดขึ้น เกี่ยวกับการโฆษณาทางการเมือง ในอินเดีย ซึ่งคาดว่าจะมีการเลือกตั้ง ในเดือนเมษายนและพฤษภาคม

โซเชียลมีเดีย

เฟสบุ๊ค กล่าวว่าจะเปิดตัว "เคล็ดลับในการจับจุดข่าวเท็จ" ในประเทศไทย โดยร่วมมือกับองค์กรท้องถิ่น เช่น ศูนย์ชัวร์และแชร์ (Sure And Share) ของสำนักข่าวของไทย และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“เรามุ่งมั่นที่จะสนับสนุนอุตสาหกรรมข่าวของประเทศไทย โดยเฉพาะในช่วงการเลือกตั้ง”

แม้จะวิตกในปัญหานโยบายความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานที่เผชิญอยู่ หากเฟสบุ๊ค ยังมีปรากฏในรายงานล่าสุดว่า มีฐานผู้ใช้งานเพิ่มขึ้น ในยุโรปและอเมริกาเหนือ

ตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงธันวาคมปีที่แล้ว เฟสบุ๊ค กล่าวว่า บริษัทมีจำนวนผู้ใช้เพิ่มในแต่ละวันถึง 4 ล้านคนในยุโรป รวมทั้งสิ้น 282 ล้านราย และยังมีจำนวนผู้ลงทะเบียนอีก 1 ล้านราย ในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ทำให้จำนวนฐานผู้ใช้ในสองประเทศนั้น เพิ่มขึ้นเป็น 182 ล้าน

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช ในกรุงเทพฯ มีส่วนร่วมในรายงานฉบับนี้

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง