นายกฯ สั่งแก้ปัญหาหมอกควันภาคเหนือใน 7 วัน
2019.04.02
กรุงเทพฯ

ในวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยคณะ ได้เดินทางไปยังจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อติดตามการแก้ปัญหาหมอกควันในภาคเหนือ ซึ่งมีค่ามลพิษในอากาศสูงติดอันดับโลกมาหลายสัปดาห์ จนเกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน โดยได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาให้ดีขึ้นภายใน 7 วัน
พล.อ.ประยุทธ์ พร้อมด้วยรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมกับผู้ว่าราชการจังหวัด ในภาคเหนือทั้ง 9 จังหวัด พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่า ในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือ ซึ่งแนวทางการแก้ปัญหาทางในระยะแรกหรือระยะเร่งด่วน คือ การเน้นลดจุดเผาไหม้หรือจุด Hotspot ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ซึ่งจากข้อมูลล่าสุดวันนี้ มีจุดเผามากกว่า 3,000 และลดลงแล้วเหลือ 1,900 จุด โดยให้เจ้าหน้าที่บูรณาการแก้ปัญหาให้สถานการณ์ดีขึ้นภายใน 7 วัน
“วันนี้ได้สั่งการไปแล้ว เพราะถือว่าเป็นการแก้ปัญหาในระยะสั้น ต้องการผลภายในเจ็ดวัน... ต้องยอมรับว่าปัญหานี้ต้องใช้เวลาในการแก้ปัญหา เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากการจุดไฟเผาป่าเป็นส่วนใหญ่ และยังมีปัจจัยอื่นๆ ประกอบด้วย ดังนั้นทุกคนต้องช่วยกันสร้างความเข้าใจกับประชาชน ที่จุดไฟเผาพื้นที่ทางการเกษตร” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว พร้อมทั้งระบุ รัฐบาลจัดวางแผนแก้ไขปัญหาในระยะกลางและระยะยาว แต่ยังไม่ได้ระบุรายละเอียด
ในวันเดียวกันนี้ นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปยังค่ายกาวิละ เพื่อมอบอุปกรณ์เครื่องมือดับไฟป่า คราดไม้ตบ หน้ากากอนามัย ถุงยังชีพ น้ำดื่ม เครื่องเป่าลม และอุปกรณ์ที่จำเป็น เพื่อสนับสนุนการทำงานของกำลังพลในการปฏิบัติหน้าที่ โดยมีภาคเอกชน ร่วมมอบน้ำดื่มและหน้ากากอนามัย และชมรม Chiang Mai Air Sport ร่วมกับ ชมรมธุรกิจท่องเที่ยวเชียงใหม่ ร่วมนำเครื่องร่อนบินลาดตระเวน สำรวจจุดความร้อน ร่วมในการปฏิบัติการ
เลวร้ายถึงขั้นอันตรายมากปีนี้
ด้านกรมควบคุมมลพิษ รายงานผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศที่เลวร้ายที่สุดในวันนี้ว่า อยู่ใน ต.จองคำ อ.เมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน พบปริมาณฝุ่นละออง ขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) มีค่า 260 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในขณะที่เชียงรายมีค่า 165 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และเชียงใหม่มีค่า 147 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ตามลำดับ สูงกว่าเกณฑ์ปลอดภัยต่อสุขภาพ ซึ่งงอยู่ที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หลายเท่า
ด้าน สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีด้านอวกาศและภูมิสารสนเทศ (Gistda) ระบุว่า จุดความร้อนของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ช่วงระหว่างวันที่ 1 ม.ค.- 31 พ.ค. ปี 2561 มีจำนวนทั้งสิ้น 915 จุด ขณะที่เดือนมีนาคม ปี 2562 พบจุดความร้อนแล้วถึง 1,010 จุด ซึ่งมากกว่าปีที่แล้ว ซึ่งยังมีเวลาเหลืออีก 2 เดือน จนกว่าจะหมดหน้าแล้งที่เป็นช่วงเวลาที่เกิดไฟป่า
นายธนกฤต ฉันทะจำรัสศิลป์ นายอำเภอแม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า ปัญหาไฟป่าที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากในหลายพื้นที่เกิดจากอากาศร้อน ประกอบกับ อ.แม่สะเรียง มีการเกิดไฟป่าน้อยมากในช่วงที่ผ่านมา ทำให้มีเชื้อเพลิงสะสมในป่าจำนวนมาก เพื่อเกิดไฟป่าขึ้นจึงมีความรุนแรงมากกว่าปกติ ทำให้ควบคุมลำบาก และเกิดการลุกลามอย่างรุนแรง ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่รัฐร่วมกับประชาชนในพื้นที่ต้องออกไปดับไฟป่าที่เกิดขึ้นตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน
ชาวบ้านเรียกร้องยกเลิกการทำไร่ข้าวโพด
ชาวบ้านจำนวนหนึ่งที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหามลพิษในจังหวัดเชียงใหม่ ได้รวมตัวกันถือป้าย ที่มีข้อความว่า “พวกเราไม่เอาหมอกควัน Stop Burning! The smog problem affects their health. Pls support our kids” ที่บริเวณธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ และเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศให้จังหวัดเชียงใหม่เป็นเขตภัยพิบัติ และยกเลิกนโยบายการปลูกข้าวโพดในพื้นที่ภาคเหนือ 4 ล้านไร่ เนื่องจากเจ้าของไร่มักใช้วิธีเผาหลังฤดูเก็บเกี่ยว ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของปัญหาหมอกควัน และขณะนี้ ปัญหาค่ามลพิษในอากาศกระทบต่อสุขภาพของชาวบ้านและเด็กเป็นอย่างมาก
“ปีนี้สถานการณ์หมอกควันแย่มาก ค่าฝุ่นละอองพุ่งขึ้นสูง การที่นายกฯ มาถือว่าเป็นโอกาสที่ดีที่ท่านจะได้เห็นว่า ควรจริงจังกับการแก้ปัญหานี้ เพราะไม่รู้ว่าปีหน้าสถานการณ์จะเป็นเหมือนเดิมหรือแย่กว่าเดิม ไม่อยากให้ปีหน้าต้องเป็นแบบนี้อีก” น.ส.ณฐิกา ประกอบบุญ ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว ในระหว่างการชุมนุม
ด้านนิคม พุทธา ประธานกลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำปิง ได้กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า รัฐบาลต้องแก้ปัญหาเรื่องนี้ ในเชิงโครงสร้าง
“ผมคิดว่ารัฐบาลควรจะแก้ปัญหาด้วยการให้ชาวบ้านรู้สึกว่าเป็นเจ้าของป่าร่วมกัน สำหรับคนที่ทำไร่ข้าวโพด ควรหาอาชีพอื่นซึ่งไม่ใช่การทำไร่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว ทดแทนการปลูกข้าวโพดเพื่อลดการเผา แต่จะโทษแค่ชาวบ้านอย่างเดียวก็ไม่ได้ ต้องโทษบริษัทที่ได้รับผลประโยชน์จากการรับซื้อข้าวโพดซึ่งเป็นอาหารสัตว์ด้วย บริษัทควรมีส่วนในการแก้ไขปัญหา” นายนิคมกล่าว
นายคำรณ อินต๊ะ ผู้ใหญ่บ้าน บ้านถ้ำเชียงดาว กล่าวว่า ปัญหามลพิษทางอากาศได้สร้างผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในพื้นที่แล้ว
“ปัญหาที่เกิดขึ้น ชาวบ้านได้รับผลกระทบเรื่องการท่องเที่ยว ช่วงนี้ ก็มีหลายคนไม่ได้รายได้เลย เพราะนักท่องเที่ยวไม่มา ช่วงที่เกิดปัญหาประมาณหนึ่งสัปดาห์ ผลกระทบต่อสุขภาพ ชาวบ้านก็ได้รับมาตลอด โดยเฉพาะเรื่องระบบทางเดินหายใจ” นายคำรณกล่าว
“ความช่วยเหลือที่อยากให้ภาครัฐช่วย คือ ต้องการให้รัฐสนับสนุนเงินทุนสำหรับการเตรียมพร้อมป้องกันไฟป่า ทั้งการสร้างแนวกันไฟ การจ้างเวรยามตรวจตราเฝ้าระวัง เพราะจะให้ชาวบ้านจิตอาสาอย่างเดียวก็ไม่ได้ ชาวบ้านมีภาระเหมือนกัน” นายคำรณกล่าวเพิ่มเติม