ประยุทธ์แถลงนโยบายเร่งด่วนแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้อง และปัญหาชายแดนใต้
2019.07.25
กรุงเทพฯ และปัตตานี

ในวันพฤหัสบดีนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นำคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ แถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี ต่อรัฐสภา โดยมีนโยบายเร่งด่วน คือ แก้ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้อง สนับสนุนให้มีการศึกษา และปัญหายาเสพติดและความสงบสุขในชายแดนใต้ ส่วนนโยบายหลัก คือ เน้นการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ดูแลความสงบของประเทศ และต่อต้านการทุจริต ด้านฝ่ายค้านประท้วงเต็มที่ ชี้เลือกตัวรัฐมนตรีไม่เหมาะสม ส่วนการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ นโยบายจับต้องไม่ได้ และควรเน้นสิทธิมนุษชน
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เริ่มแถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อเวลา 09.30 น. ณ ห้องประชุมทีโอที ซึ่งใช้เป็นรัฐสภาชั่วคราว โดยมีสมาชิกรัฐสภา ร่วมฟังการแถลงนโยบาย คือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) 500 คน และ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 250 คน และนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรทำหน้าที่ประธานรัฐสภา
“ในวันนี้วิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อนประเทศของรัฐบาลชุดนี้คือ มุ่งมั่นให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วในศตวรรษที่ 21 โดยรัฐบาลได้กําหนด นโยบายในการบริหารราชการแผ่นดิน ดังนี้… การปกป้องและเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์… การสร้างความมั่นคงและความปลอดภัยของประเทศ และความสงบสุขของประเทศ… การป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ และกระบวนการยุติธรรม” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ซึ่ง นโยบายหลักของรัฐบาลมี 12 ข้อ ประกอบด้วย 1. การปกป้องและเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ 2. การสร้างความมั่นคงและความปลอดภัยของประเทศ และความสงบสุขของประเทศ 3. การทํานุบํารุงศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม 4. การสร้างบทบาทของไทยในเวทีโลก 5. การพัฒนาเศรษฐกิจ และความสามารถในการแข่งขันของไทย 6. การพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจ และการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค 7. การพัฒนาสร้างความเข้มแข็งจากฐานราก 8. การปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ และการพัฒนาศักยภาพของคนไทยทุกช่วงวัย 9. การพัฒนาระบบสาธารณสุข และหลักประกันทางสังคม 10. การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ และการรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน 11. การปฏิรูปการบริหารจัดการภาครัฐ และ 12. การป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ และกระบวนการยุติธรรม
“รัฐบาลได้กําหนดเรื่องเร่งด่วนที่ต้องดําเนินการ เพื่อบรรเทาปัญหาและลดผลกระทบกับประชาชน และระบบเศรษฐกิจ… การแก้ไขปัญหาในการดํารงชีวิตของประชาชน… มาตรการเศรษฐกิจเพื่อรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจโลก… การแก้ไขปัญหายาเสพติดและสร้างความสงบสุขในพื้นที่ชายแดนภาคใต้… การสนับสนุนให้มีการศึกษา การรับฟังความเห็นของประชาชน และการดําเนินการเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวเพิ่มเติม
นโยบายเร่งด่วน 12 เรื่อง ที่รัฐบาลจะเร่งแก้ไขประกอบด้วย 1. การแก้ไขปัญหาในการดํารงชีวิตของประชาชน 2. การปรับปรุงระบบสวัสดิการและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน 3. มาตรการเศรษฐกิจเพื่อรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจโลก 4. การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและพัฒนานวัตกรรม 5. การยกระดับศักยภาพของแรงงาน 6. การวางรากฐานระบบเศรษฐกิจของประเทศสู่อนาคต 7. การเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 8. การแก้ไขปัญหาทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ ทั้งฝ่ายการเมืองและฝ่ายราชการประจํา 9. การแก้ไขปัญหายาเสพติด และสร้างความสงบสุขในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ 10. การพัฒนาระบบการให้บริการประชาชน 11. การจัดเตรียมมาตรการรองรับภัยแล้ง และอุทกภัย และ 12. การสนับสนุนให้มีการศึกษา การรับฟังความเห็นของประชาชน และการดําเนินการเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนญ
พล.อ.ประยุทธ์ ยืนยันต่อนายชวนว่า รัฐบาลขอให้ความเชื่อมั่นแก่รัฐสภา และประชาชนไทยทุกภาคส่วนว่า จะบริหาร ราชการแผ่นดินอย่างเต็มความสามารถ ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และยึดประโยชน์ส่วนรวมของประชาชนชาวไทยเป็นที่ตั้งอย่างแท้จริง เพื่อให้ประเทศไทยก้าวต่อไปข้างหน้าอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
ด้านฝ่ายค้าน นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส. เชียงใหม่ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า คณะรัฐมนตรีชุดนี้มีบุคคลซึ่งไม่เหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่ง เนื่องจากหลายคนมีคดีความติดตัว และมีการให้คนในครอบครัวเป็นรัฐมนตรีแทนในหลายตำแหน่ง
“ในคณะรัฐมนตรีนี้ มีรัฐมนตรีหลายท่านที่มีคดีความผิดติดตัวอยู่ทั้งคดีต่างๆ ที่มีข้อหาร้ายแรง มีโทษถึงประหารชีวิต บางท่านเคยมีคดียาเสพติด… ความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ พูดไว้ชัดเจนว่า ห้ามไม่ให้คนที่มีคดียาเสพติดมาเล่นการเมืองตลอดชีวิต อันนี้เป็นสิ่งที่ผมอยากกราบเรียนท่านประธาน ผ่านไปยังท่านนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่ท่านต้องเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมดในเรื่องนี้” นายสมพงษ์ กล่าว
“พี่เป็นรัฐมนตรีไม่ได้เอาน้องมา ภรรยาเป็นรัฐมนตรีไม่ได้เอาสามีมา พ่อเป็นไม่ได้เอาลูกมา อย่างนี้เป็นต้น สิ่งที่ทำอย่างนี้อยากกราบเรียนต่อท่านประธานว่า มันไม่สวยงามมันพิลึกกึกกือยิ่งกว่าการเป็นนอมินีด้วยซ้ำ อย่างนี้เหรอครับ เป็นการปฏิรูปการเมือง” นายสมพงษ์ กล่าวเพิ่มเติม
ซึ่งสิ่งที่ นายสมพงษ์ กล่าวนั้นพาดพิงถึง รัฐมนตรีใน ครม. หลายคน เช่น ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็น รมช.ว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เคยถูกพิพากษาจำคุกในคดียาเสพติด ที่ประเทศออสเตรเลีย และนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ รมว.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ยังมีคดีเกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมือง ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นศาล และ นางนาที รัชกิจประการ อดีต ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ซึ่งถูกวางตัวเป็น รมว.กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา แต่เมื่อศาลตัดสินให้จำคุก จากการไม่แสดงบัญชีทรัพย์สิน ทำให้นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ สามีของนางนาทีได้รับตำแหน่งแทน
ขณะที่ พล.ท.พงศกร รอดชมภู ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ อภิปรายเรื่องปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า เจ้าหน้าที่ควรทำความเข้าใจภาษายาวี ควรปล่อยให้ตำรวจ และพลเรือนเป็นผู้แก้ไขปัญหา โดยมีทหารเป็นกองหนุน และควรส่งเสริมเรื่องสิทธิมนุษยชน เพราะเชื่อว่า จะเป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนกว่าการใช้กำลังทหาร
“การใช้กำลังทหารปรากฏอยู่ในพื้นที่เป็นสิ่งที่ไม่ควร ทหารควรจะเป็นกองหนุนมากกว่า และปล่อยให้ ตำรวจ พลเรือน ฝ่ายปกครอง… การกระจายอำนาจให้เขา (ประชาชนในพื้นที่) บริหารจัดการตนเอง .. ให้อำนาจในการเมืองเขา ให้เขาสามารถเป็นผู้ที่อยู่ตรงกลางระหว่างฝ่ายรัฐกับฝ่ายที่เห็นต่าง”
“มีเรื่องที่น่าสนใจมากคือ การไม่ได้รับความเป็นธรรม ถ้าเราจัดการความไม่ได้รับความเป็นธรรม กฎหมายพิเศษต่างๆ นั่นแหละครับที่ทำให้เกิดเรื่อง มีผู้เข้าไอซียู สมองตาย แล้วจึงมีระเบิดตามมา ดังนั้น เรื่องสิทธิมนุษยชนสำคัญที่สุด” พล.ท.พงศกร กล่าว
ในประเด็นปัญหาชายแดนภาคใต้นี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ชี้แจงว่า รัฐบาลมีมาตรการอยู่แล้ว เชื่อว่าไม่สามารถใช้แนวทางแก้ปัญหาแบบต่างประเทศได้ และแนวทางของรัฐบาลก็ได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ
“การแก้ไขปัญหาภาคใต้ ไม่เหมือนกับต่างประเทศ หลักการบางอันมันใช้ไม่ได้ การใช้คำว่าสิทธิมนุษยชนจนมากเกินไปด้วยความไม่เข้าใจมันทำให้เกิดปัญหามาก… เมื่อไรก็ตามที่มีการจับกุมลงมาก็ให้ความเป็นธรรมกับเขา เจ้าหน้าที่ที่ทำผิดก็ไล่ออก จับเข้าคุก… รัฐบาลไม่ได้อยู่ดีๆจะไปยิงใครก่อน… การพูดคุยก็มีอยู่แล้ว ต่างประเทศเขาก็พอใจกับการแก้ไขปัญหาของประเทศไทย มีแต่ประเทศไทยนี่แหละไม่พอใจ” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ชาวใต้อยากให้รัฐบาลแก้ปัญหาปากท้อง และความสงบโดยประชาชนมีส่วนร่วม
นางรอพีอะ อับดุลเลาะ ชาวปัตตานี กล่าวว่า ปัญหายาเสพติด ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และปากท้อง เป็นสิ่งที่อยากให้รัฐบาลแก้ไขอย่างเร่งด่วน
“ท้องถิ่นไม่ได้ให้ความสําคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน กอ.รมน. 4 ศชต. และ ศอ.บต. (กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) ยังมีนโยบายที่ยัดเยียดอยู่ ภาครัฐยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ชาวบ้านยังติดยางอมแงม ทำให้มีปัญหามากมายตามมา ชาวบ้านรู้สึกว่า อยู่ในพื้นที่ไม่ได้มีความปลอดภัย” นางรอพีอะ กล่าว
“โครงการต่าง ๆ ที่ลงมาในพื้นที่ล้วนขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ความเห็นของชาวบ้านจะมีความสำคัญอย่างไร เศรษฐกิจในพื้นที่ พืชทางเกษตรราคาตกต่ำมาก ชาวประมงคนที่มีอาชีพทางทะเล ก็มีปัญหา ชาวบ้านต้องการให้มีการปรับปรุงระบบสาธารณสุขให้ดีกว่านี้ ทำราคาทางการเกษตรให้ดี ความสงบสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็จะมาเอง” นางรอพีอะ กล่าวเพิ่มเติม
ด้าน นายมุกตา มะแกะ ชาวปัตตานี กล่าวว่า การแก้ปัญหาของรัฐ ยังขาดการมีส่วนร่วมโดยประชาชน รัฐควรรับฟังความคิดเห็นของประชาชนด้วย
“เบื่อที่จะพูด ทุกวันนี้ไม่มีอะไรดีเลย ความไม่สงบก็แรง มีความสูญเสียเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แนวทางการแก้ปัญหาของภาครัฐก็ยังจับต้องไม่ได้ โครงการต่าง ๆ ลงมาในพื้นที่ ไม่มีอะไรที่ชาวบ้านได้ประโยชน์จริง ๆ โครงการของ ศอ.บต. ของ กอ.รมน. 4 พวกเขาคิดเอง ไม่ถามชาวบ้านเลย ปัญหาจึงเป็นอย่างที่ทุกคนเห็น” นายมุกตา กล่าว
“การละเมิดสิทธิในพื้นที่ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ชาวบ้านหมดหวังต่อการแก้ปัญหา รัฐบาล ฝ่ายค้าน ไม่ได้ทำให้ชาวบ้านรู้สึกมีที่พึ่ง เพราะทุกคนล้วนเอาปัญหาตัวเอง และพรรคพวกเป็นที่ตั้ง ไม่ได้มีปัญหาของชาวบ้านเป็นหลักในการกำหนดทิศทางของการแก้ปัญหา หลายคนเอาปัญหาชาวบ้านมาพูด เพื่อดิสเครดิตรัฐบาล ไม่ได้ต้องการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง” นายมุกตา ระบุ
ขณะที่ ดร.ฐิติพล ภักดีวานิช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ถึงนโยบายของคณะรัฐมนตรีว่า นโยบายที่เน้นด้านความมั่นคงทางทหารมากกว่าความมั่นคงของมนุษย์ ไม่เหมาะสมกับบริบทการพัฒนาประเทศในยุคปัจจุบัน
“นโยบายของรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภาวันนี้ ไม่ใช่นโยบายที่ต่างจากเดิม การให้ความสำคัญกับความมั่นคงไม่ได้ตอบสนองความต้องการของคนในประเทศ เพราะผมยังเห็นว่า ควรส่งเสริมและให้ความสำคัญเรื่องสาธารณสุข เพราะ ในโรงพยาบาลยังพบว่า มีผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วยนอนตามทางเดิน นโยบายที่รัฐบาลเสนอควรนำไปสู่ความมั่นคงของมนุษย์มากกว่าความมั่นคงทางทหาร เพราะการส่งเสริมความมั่นคงทางทหาร ไม่ส่งเสริมการพัฒนาของประเทศในบริบทของศตวรรษที่ 21” ดร.ฐิติพล กล่าว
ฮิวแมนไรท์วอทช์: รัฐบาลไทยเพิกเฉยต่อเรื่องสิทธิ
ในวันพุธ องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ ออกแถลงการณ์ว่า นโยบายของรัฐบาลใหม่ยังไม่คำนึงถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน โดยระบุปัญหาที่รัฐบาลควรเร่งแก้ไขคือ การละเมิดสิทธิมนุษยชน เสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน การคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และรัฐบาลควรเร่งดำเนินการเกี่ยวกับข้อตกลง ความร่วมมือ กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ
“นโยบายที่เขาแถลง ไม่มีเนื้อหาที่สามารถแก้ปัญหาร้ายแรงที่เคยเกิดขึ้นระหว่างการปกครองของทหารอย่างกดขี่ นับตั้งแต่รัฐประหารปี 2557 ความหวังว่ารัฐบาลใหม่จะปฏิรูปสิทธิมนุษยชน และทำให้เกิดความก้าวหน้าด้านประชาธิปไตยภายใต้การปกครองของพลเรือน ต้องเผชิญกับความถดถอยร้ายแรง เนื่องจากไม่มีการประกาศเจตนารมณ์ใด ๆ ในเรื่องนี้ในคำแถลงนโยบาย” นายแบรด อดัมส์ (Brad Adams) ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว
การที่ คณะรัฐมนตรีใหม่ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ถือเป็นการเริ่มต้นปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการ และถือเป็นการมีรัฐบาลจากการเลือกตั้งครั้งแรกหลังจากที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งนำโดย พล.อ.ประยุทธ์ ยึดอำนาจการปกครอง เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ก่อนให้มีการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 และสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จหลังจากผ่านการเลือกตั้งมากว่า 3 เดือน โดยคณะรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ ชุดนี้ เป็นการร่วมกันของพรรคร่วมรัฐบาล 19 พรรค โดยมีอีก 7 พรรคที่ทำหน้าที่ฝ่ายค้าน