กรรมการสิทธิเรียกร้อง แก้ปัญหาการละเมิดสิทธิสตรีในเรือนจำ

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2016.05.13
กรุงเทพฯ
TH-jitra-1000 นางสาวจิตรา คชเดช อดีตประธานสหภาพไทรอัมพ์ ผู้เคยผ่านประสบการณ์ละเมิดสิทธิในแดนแรกรับ ในฐานะนักโทษการเมือง เล่าประสบการณ์การถูกละเมิด วันที่ 13 พ.ค. 2559
เบนาร์นิวส์

คณะอนุกรรมการด้านสิทธิสตรี กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ร่วมด้วยเจ้าหน้าที่จากทัณฑสถานหญิงกลาง นักวิชาการ และผู้ผ่านประสบการณ์ถูกคุมขังร่วมเสวนาในหัวข้อ “ยังมีผู้หญิงถูกละเมิดสิทธิ เพียงก้าวแรกที่เดินเข้าแดนแรกรับ” โดยได้มีการแลกเปลี่ยนข้อเท็จจริง และนำเสนอข้อเรียกร้องที่จะช่วยยกระดับสภาพสิทธิมนุษยชนในสถานที่คุมขังหญิง

ในวันศุกร์ (13 พฤษภาคม 2559) นี้ ที่ศูนย์ราชการ ถนนแจ้งวัฒนะฯ นางอังคณา นีละไพจิตร ประธานคณะอนุกรรมการด้านสิทธิสตรี กสม. กล่าวเปิดงาน โดยการเล่าถึงสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในสถานที่คุมขังหญิงของประเทศไทย และชี้แจงข้อเรียกร้องที่องค์กรด้านสิทธิสตรีต้องการให้กรมราชทัณฑ์นำไปปรับใช้

“ผู้หญิงมักถูกตีตราจากสังคมไปแล้วว่า เธอคือผู้กระทำผิด และสมควรได้รับการปฎิบัติเยี่ยงผู้กระทำผิด จึงเป็นคำถามที่ท้าทายต่อเราว่า แล้วกระบวนการยุติธรรมไทยได้คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้หญิงมากน้อยเพียงใด” นางอังคณา กล่าว

เมื่อเดือนกรกฎาคม 2557 นายวันชัย รุจนวงศ์ อธิบดีอัยการสำนักงานคดีแรงงาน[ในขณะนั้น] ได้กล่าวในงานเวทีเสวนา เรื่อง “ผู้ต้องขังหญิงล้นคุก” ซึ่งจัดโดย สมาคมนักวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อนำเสนอสถานการณ์ และแนวทางแก้ปัญหาต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่าข้อมูล ณ วันที่ 1 ก.ค. 2557 จำนวนนักโทษของไทย มีอยู่รวม 307,924 คน แบ่งเป็นนักโทษชาย 262,722 คน และหญิง 45,202 คน 67.7 % ของนักโทษชาย และ 78.4 % ของนักโทษหญิง มาจากคดียาเสพติด และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัญหาความแออัดจะรุนแรงขึ้น ผลที่จะตามมา คือ ความเครียดสะสม และความเสี่ยงต่อการจราจล

รศ.ดร.นภาภรณ์ หะวานนท์ (คนที่สามจากซ้ายมือ) กำลังพูดคุยเรื่องการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังสตรี ที่สำนักงานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ วันที่ 13 พ.ค. 2559 (เบนาร์นิวส์)

คำบอกเล่าจากผู้เคยผ่านแดนแรกรับ

นางสาวกรกนก คำตา นักศึกษาซึ่งถูกฟ้องในคดีนั่งรถไฟไปตรวจสอบทุจริตอุทยานราชภักดิ์ เปิดเผยประสบการณ์ในแดนแรกรับ เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2559 ว่า มีการตรวจช่องคลอดของผู้หญิงว่ามีสิ่งใดซ่อนหรือไม่ และเธอรู้สึกกระทบกระเทือนจิตใจ จากการดำเนินขั้นตอนตรวจร่างกาย

“ไม่มีการอธิบายใดๆ นอกจากการสั่งให้เปิดผ้าถุง การตรวจ (ลักษณะนี้) มันมีผลกระทบต่อความรู้สึก ถ้าเกิดไม่ได้อธิบายให้เรายินยอม หรือเกิดการเข้าใจว่าทำไมต้องทำแบบนี้” นางสาวกรกนกเปิดเผย

“หนูยังไม่ได้เป็นคนผิด หนูเพียงรอประกัน และหนูคิดว่าหมายประกันของหนูออกวันนั้นแน่ๆ ทำไมต้องทำกับหนูแบบนี้ และเมื่อหนูไปในแดนต่อไป ก็มีการถอดเสื้อผ้า หมุนต่อหน้าผู้คุมอีก” นางสาวกรกนก กล่าวเพิ่มเติม

ด้าน นางสาวจิตรา คชเดช อดีตประธานสหภาพไทรอัมพ์ ผู้เคยผ่านประสบการณ์ละเมิดสิทธิในแดนแรกรับ เปิดเผยถึงเหตุการณ์เมื่อครั้งที่เธอถูกคุมขังในวันที่ 13 มิถุนายน 2557 ในฐานะนักโทษการเมืองว่า นอกจากการตรวจร่างกายโดยละเมิดสิทธิส่วนบุคคลแล้ว เธอได้รับการปฎิบัติที่กระทบกระเทือนจิตใจหลายอย่าง

“ที่แย่คือ ผู้คุมให้เราเรียกว่าแม่ ให้เรานั่งกับพื้น ให้เราคลานเข่า และทุกคนไม่มีสิทธิที่จะยืนขึ้น เราต้องถัดก้นไป และถูกตวาดจากผู้คุม บางคนต้องยกมือไหว้เวลาพูด นี่เราอยู่ในยุคไหน เราอยู่ในยุคทาสหรือ ที่เราต้องถูกกระทำแบบนี้ ทั้งที่ยังไม่ถูกดำเนินการโดยกฎหมายว่าเราเป็นผู้กระทำผิด” นางสาวจิตรากล่าว

คำชี้แจงของผู้บริหารทัณฑสถานหญิง

นางสิริพร ชูติกุลัง ผู้อำนวยการทัณฑสถานหญิงกลาง ได้กล่าวคำขอโทษต่อการกระทำของเจ้าหน้าที่กับนางสาวกรกนก และเผยว่า ปัจจุบัน ทัณฑสถานหญิงกลางกำลังดำเนินการปรับปรุงการปฎิบัติงานให้สอดคล้องกับหลักปฎิบัติสากล

“ต้องขอโทษน้อง ถ้าเกิดความรู้สึกที่ไม่ดีต่อเรือนจำ” นางสิริพรกล่าว

“ในระหว่างนี้ เราได้มีการกำชับในเรื่องการตรวจค้น โดยได้กระทำการตามแบงค็อกรูลส์ ทุกประการ ในเรื่องของเจ้าหน้าที่ที่ทำงานในวันที่ 25 เมษา เราก็ได้ตั้งคณะกรรมการดำเนินการสอบกันอยู่” ผู้อำนวยการทัณฑสถานหญิงกลางชี้แจง

ด้าน นางสาวสมสกุล แอลเฟรด ผู้อำนวยการส่วนปกครองผู้ต้องขัง ทัณฑสถานหญิงกลาง ชี้แจงเกี่ยวกับกรณีที่เป็นปัญหาว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่ต่อนางสาวกรกนก ถือเป็นการกระทำที่บกพร่อง เนื่องจากเป็นการทำงานในช่วงเวลาที่เจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ และไม่คุ้นเคย

“ถือเป็นความบกพร่อง เนื่องจากว่ามันเป็นการทำงานที่ไม่ได้เกิดบ่อย คนที่กลับจากศาลแล้วมาในเวลา Day time ไม่ได้มีบ่อย เขาเลยทำงานผิดพลาดไปตรงนั้น” นางสาวสมสกุลกล่าว

โดยเจ้าหน้าที่ทัณฑสถานหญิงกลางยังได้เพิ่มเติมอีกว่า ข้อกล่าวหาของ หรือความเชื่อบางอย่าง เช่น การสั่งให้ผู้ต้องขังเรียกผู้คุมว่าแม่ หรือการบังคับให้นักโทษนั่งพื้นไม่น่าจะเป็นความจริง

ข้อเรียกร้องขององค์กรสิทธิผู้หญิง 16 องค์กร

สำหรับข้อเรียกร้องขององค์กรสิทธิผู้หญิง 16 องค์กร ที่จะได้เสนอต่อทางกระทรวงยุติธรรมนั้น ได้เขียนเป็นจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี มีใจความสำคัญดังนี้

ประการแรก เรื่องแนวทางปฎิบัติการตรวจค้นร่างกาย การค้นตัวแบบปกติ ต้องทำการสวมเสื้อผ้า และการค้นตัวแบบพิเศษ จะทำเมื่อมีข้อสงสัยว่าซุกซ่อนของต้องห้ามเท่านั้น และการตรวจค้นต้องกระทำในที่ลับตาคน โดยต้องมีทำหนังสือยินยอม และกระทำโดยผู้ถูกฝึกอบรมเท่านั้น

สอง ควรมีการสืบหาข้อเท็จจริง เรื่องการละเมิดสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์จากกรณีการตรวจค้นตัวนางสาวกรกนก คำตา นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2559

และได้เสนอให้ใช้เครื่องไบโอบอดี้สแกน หรือเครื่องตรวจสิ่งต้องห้ามแบบดิจิตอลแทนการตรวจด้วยคน และให้ใช้ข้อปฎิบัติอื่นๆ ต้องการให้ที่คุมขังไทยดำเนินการตามข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังในเรือนจำ และมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำความผิดที่เป็นหญิง (United Nations Rules for the Treatment of Women Prisoners and Non - Custodial Measures of Women Offenders) ที่เรียกเพื่อเป็นเกียรติกับประเทศไทย ว่า ข้อกำหนดกรุงเทพ (Bangkok Rules) ที่องค์การสหประชาชาติได้ให้ความเห็นเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2553 ในที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ 65 และข้อกำหนดแมนเดลา (Mandela Rules)

ข้อเสนอแนะแนวทางแก้ปัญหาจากภาคส่วนอื่น

รศ.ดร.นภาภรณ์ หะวานนท์ นักวิชาการอิสระผู้ซึ่งศึกษาปัญหาการละเมิดสิทธิในสถานคุมขัง เสนอแนะให้การตรวจร่างกายนักโทษหญิงดำเนินการเฉพาะกับกรณีที่จำเป็นเท่านั้น

“เราไม่ควรจะเอาเรื่องของการตรวจเพื่อสุขภาพมาปนกับการตรวจสิ่งของที่มันเป็นสิ่งต้องห้าม และควรทำอย่างมีมาตรฐานทางการแพทย์ ส่วนการถูกละเมิดทางเพศ ซึ่งเจ้าตัวเขาไม่ได้แจ้ง แล้วก็ไม่อยากตรวจ มันกลายเป็นว่า เรา(เจ้าหน้าที่)ตรวจเขา มันไปละเมิดทางเพศพอสมควร ไม่น่าทำ” รศ.ดร.นภาภรณ์เสนอแนะ

นายชาติชาย สุทธิกลม กรรมการสิทธิมนุษยชน อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวถึง สิ่งที่อยากให้มีการเพิ่มเติมในพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ฉบับใหม่ ซึ่งกำลังอยู่ในการพิจารณาของคณะรัฐบาล คือ การปรับปรุงเรื่องความแออัดของที่คุมขัง และความเพียงพอของเจ้าหน้าที่

“ถ้าเจ้าหน้าที่ไม่พอ รัฐบาลมีหน้าที่ที่จะต้องจัดหาให้เพียงพอกับการปฎิบัติงาน เหล่านี้จะเห็นได้ว่า มันมีอะไรที่จะต้องเปลี่ยนแปลงปรับปรุงกันไป วันนี้ เราอยู่นิ่งไม่ได้ หลายเสียงที่สะท้อนมาชัดเจนมาก ในขณะเดียวกันรัฐบาลก็ต้องหันมาใส่ใจในเรื่องนี้” นายชาติชายกล่าว

นางสุนี ไชยรส อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เสนอแนะให้ผลักดันให้ผู้ต้องหาได้รับการประกันตัวมากที่สุด เพื่อลดจำนวนผู้ต้องขัง เจ้าหน้าที่จะได้ดูแลผู้ถูกคุมขังได้มากที่สุด และให้เปลี่ยนมุมมองของเจ้าหน้าที่ต่อผู้ต้องขัง

“เราพูดกันมาตลอดคือคุกแออัด ดังนั้น จึงอยากให้เมื่อจับแล้ว สิ่งที่เราเรียกร้องกันมาตลอดคือให้คนประกันตัวมากที่สุด ให้แยกแดนระหว่างคนที่ได้ประกันตัวกับคนที่ไม่ประกันตัว และเรื่องทัศนคติมองคนที่ถูกจับมันไม่ค่อยจะดีในสังคม แล้วผู้คุมก็ถูกสร้างขึ้นมาว่าจะต้องดูแลเข้มงวด แนวโน้มแบบนี้มันผิดพลาดทั้งกระบวน” นางสุนี เรียกร้อง

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง