ยุติธรรมยันทักษิณพ้นโทษเด็ดขาด 22 ส.ค.

แพทองธารเผย พ่ออาจมาช่วยงานรัฐบาล
นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2024.07.16
กรุงเทพฯ
ยุติธรรมยันทักษิณพ้นโทษเด็ดขาด 22 ส.ค. นายทักษิณ ชินวัตร (กลาง) ขนาบข้างด้วย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และอดีตนายกรัฐมนตรี และพี่เขยของทักษิณ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ (ขวาสุดในภาพ) ระหว่างงานเลี้ยงอาหารค่ำที่เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2567
ลิเลียน สุวรรณรัมภา/เอเอฟพี

นางพงษ์สวาท นีละโยธิน ปลัดกระทรวงยุติธรรม (ยธ.) ยืนยัน นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะพ้นโทษเด็ดขาด 22 สิงหาคมที่จะถึงนี้ ขณะที่ น.ส. แพทองธาร ชินวัตร หรืออุ๊งอิ๊งค์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และบุตรสาวของนายทักษิณ เผยว่า นายทักษิณอาจเข้ามาช่วยงานรัฐบาล

นางพงษ์สวาท ตอบคำถามสื่อมวลชนที่ถามว่า นายทักษิณจะพ้นโทษในวันที่ 22 สิงหาคม ตามที่มีกระแสข่าวก่อนหน้านี้หรือไม่ ซึ่งปลัดกระทรวงยุติธรรมยืนยันกระแสดังกล่าว

“ค่ะ พอครบ (โทษ) ก็มีหมายปล่อยจากศาล ก็ได้รับใบบริสุทธิ์ ก็เป็นไปตามกฎหมายเลย” นางพงษ์สวาท กล่าว

การเปิดเผยของปลัดกระทรวงยุติธรรม มีขึ้นหลังจากที่ น.ส. แพทองธาร กล่าวกับสื่อมวลชน หลังการรับประทานอาหารร่วมกันของสมาชิกพรรคร่วมรัฐบาลว่า หลังพ้นโทษนายทักษิณมีโอกาสเข้ามาร่วมงานกับรัฐบาล

“ควรจะมองว่าทุกอย่างเป็นประโยชน์เพื่อประเทศชาติ คุณทักษิณเองเป็นนายกฯ มาหลายปี มีประสบการณ์มากมาย ซึ่งอิ๊งค์เชื่อว่า ตอนนี้ท่านก็อายุ 75 แล้ว... คิดว่า น่าจะมีวิชชั่นหรือความรู้ หรือประสบการณ์ดี ๆ ที่สามารถแบ่งปันให้พี่น้องประชาชนได้ และพรรคร่วมรัฐบาล พรรคเพื่อไทยด้วยได้ เพราะเชื่อว่า ในนี้เองก็เคยทำงานกับท่านมาก่อนตอนท่านเป็นนายกรัฐมนตรี ฉะนั้นก็ไม่ใช่คนอื่นคนไกลอยู่แล้ว” น.ส. แพทองธาร กล่าว

นายทักษิณถูกพิพากษาให้จำคุก 8 ปี ก่อนได้รับพระราชทานอภัยโทษเหลือ 1 ปี จากคดีทุจริต 3 คดี ที่เกิดขึ้นขณะเป็นนายกรัฐมนตรี โดยหลังจากลี้ภัยในต่างประเทศกว่า 16 ปี นายทักษิณได้กลับประเทศเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 แล้วถูกควบคุมตัวไปฟังคำพิพากษาทันที 

แต่นายทักษิณไม่เคยต้องนอนในเรือนจำแม้แต่คืนเดียว เนื่องจากกรมราชทัณฑ์ได้ย้ายเขามาคุมตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ โดยอ้างปัญหาสุขภาพ ต่อมานายทักษิณได้รับการพักโทษปล่อยตัวเป็นอิสระ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 หลังจากพักอยู่ในโรงพยาบาลตำรวจ 6 เดือน 

สิ่งที่ น.ส. แพทองธาร เปิดเผยเกี่ยวกับนายทักษิณทำให้เกิดประเด็นถกเถียงเรื่องข้อกฎหมายว่า นายทักษิณจะสามารถมาร่วมงานกับรัฐบาลได้หรือไม่ ซึ่งนายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ที่รับผิดชอบเรื่องกฎหมาย ระบุว่า การเข้ามาช่วยงานของนายทักษิณจะไม่ผิดกฎหมาย

“โดยหลักการเป็นได้ทั้งนั้น ยกเว้นกลุ่มที่เขียนห้ามไว้ในรัฐธรรมนูญ เช่น มาเป็นรัฐมนตรีไม่ได้ แต่อย่างอื่นเป็นได้ไม่แปลก ส่วนนายทักษิณจะมาเป็นหรือไม่ ไม่รู้ เพราะฟังจากการที่ให้สัมภาษณ์ไม่ได้บอกว่าจะมามีตำแหน่ง แต่จะมาช่วยงานเท่านั้น และการช่วยมีได้หลายสถานะ ไม่ต้องมีตำแหน่งก็ได้ หรือมีตำแหน่งลอยอย่างตนก็ได้ หากจะเป็นที่ปรึกษาต้องไม่ใช่ที่ปรึกษาที่มีตำแหน่งการเมือง” นายวิษณุ ระบุ

ทั้งนี้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 ระบุว่า รัฐมนตรีต้อง “ไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอการลงโทษ” ซึ่งปัจจุบัน นายทักษิณ ถือว่าเคยต้องโทษจำคุก 1 ปี จากคดีที่เกี่ยวข้องจากการทุจริตเมื่อสมัยเป็นนายกรัฐมนตรี 

ซึ่งในประเด็นเดียวกัน นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ชี้ว่า หากไม่ผิดกฎหมายก็สามารถทำได้ แต่ฝ่ายค้านก็จะทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงาน

“ผมเชื่อว่า ก็คงมีฝ่ายที่คัดค้านบทบาทของคุณทักษิณอยู่แล้ว แต่ถ้ามีการตั้งขึ้นมาจริง ๆ ซึ่งมันไม่ได้ขัดต่อกฎหมาย ถ้าคุณทักษิณมีความรับผิดชอบบางอย่างอย่างเป็นทางการ และมีความรับผิดชอบทางกฎหมาย ฝ่ายตรวจสอบเราก็พร้อมทำหน้าที่ในการตรวจสอบต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการใช้อำนาจ ใช้งบประมาณว่ามีความถูกต้องแค่ไหน” นายรังสิมันต์ กล่าว 

ก่อนหน้านี้ หลังได้รับการพักโทษ นายทักษิณเริ่มเดินทางไปพบปะผู้สนับสนุน รวมถึงนักการเมืองที่ใกล้ชิด รวมทั้งนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรียังเคยเดินทางไปพบอีกด้วย ทำให้สังคมมองว่า นายทักษิณเริ่มมีอิทธิพลต่อทิศทางการเมืองของรัฐบาล 

“หลัง ๆ ผมเห็นบทบาทของคุณทักษิณไปนั่นไปนี่ แล้วก็เจอรัฐมนตรีเดินตาม ผมคิดว่า บทบาทแบบนี้มันเกิดคำถาม ซึ่งถามไม่รู้กี่รอบแล้ว แต่ยังไม่ได้รับคำตอบจากรัฐบาลเลยว่า ใครคือนายกรัฐมนตรี ผมคิดว่า บทบาทนี้จะทำให้สภาวะความเป็นผู้นำของคุณเศรษฐาเนี่ยลดลงเรื่อย ๆ” 

ในมุมมองของนักวิชาการ ผศ.ดร. โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ชี้ว่า ที่ผ่านมานายทักษิณพยายามแสดงบทบาทนำทางการเมืองมาโดยตลอด นับตั้งแต่ได้รับการพักโทษ

“ความสัมพันธ์ระหว่างคุณทักษิณกับคุณเศรษฐาก็มีความสัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้งในแง่ส่วนตัว และแม้ไม่มีความสัมพันธ์ในเชิงนิตินัยกับเพื่อไทยแต่เชิงพฤตินัยผมคิดว่า คุณทักษิณมีความสัมพันธ์ใกล้ชิด เราเห็นการแสดงนัยทางการเมืองมาตั้งแต่เวทีระหว่างประเทศคือ พบกับสมเด็จฮุนเซ็น รวมทั้งคุณเศรษฐา ซึ่งสะท้อนบารมีทางการเมืองทั้งระดับสากล และระดับชาติ” ผศ.ดร. โอฬาร กล่าวกับเบนาร์นิวส์ 

อย่างไรก็ตาม ดร. ธนพร ศรียากูล ผู้อำนวยการสถาบันวิเคราะห์การเมืองและนโยบาย สมาคมนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ เห็นต่างออกไป โดยชี้ว่า นายทักษิณไม่มีความจำเป็นต้องเข้ามารับตำแหน่งในรัฐบาลนี้ 

“ถามนายใหญ่ (นายทักษิณ) ท่านจะเข้ามาเป็นที่ปรึกษานายกฯ แบบวิษณุ เหรอ ไม่หรอก เพราะสถานภาพของท่านใหญ่กว่านายกรัฐมนตรีอยู่แล้ว การมารับตำแหน่งจะเป็นการผิดข้อเท็จจริงทางการเมืองอย่างมาก และจะใช้โมเดลรัฐมนตรีที่ปรึกษาแบบลีกวนยูของสิงคโปร์ ไทยก็ไม่มีแบบนั้น” ดร. ธนพร กล่าว 

แม้จะพ้นโทษในวันที่ 22 สิงหาคม แต่ปัจจุบัน นายทักษิณยังมีคดีที่ค้างอยู่ในชั้นศาลอีกหนึ่งคดี คือ คดีเกี่ยวกับการให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ พาดพิงถึงสถาบันกษัตริย์ เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2558 ซึ่งศาลได้รับฟ้องคดีของนายทักษิณในข้อหาฝ่าฝืนมาตรา 112 และ พรบ.คอมพิวเตอร์ฯ แต่ให้ประกันตัวระหว่างการต่อสู้คดี

“ผมคิดว่า นายใหญ่ไม่มีความจำเป็นต้องเข้ามามีตำแหน่งแห่งที่แบบนั้น เพราะเขาสั่งรัฐมนตรีของเพื่อไทยได้ทุกกระทรวงอย่างแล้ว แต่หลังพ้นโทษนายใหญ่จะคล่องตัวมากขึ้น การสั่งการ การลงพื้นที่ หลังวันที่ 22 สิงหาคม การพ้นโทษก็จะทำให้เขาขับเคลื่อน เคลื่อนไหวได้ง่ายขึ้น” ดร. ธนพร กล่าวเพิ่มเติม

จรณ์ ปรีชาวงศ์ ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง