ประชาชนจัดกิจกรรมรำลึก การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475
2020.06.24
กรุงเทพฯ

ในวันพุธนี้ ประชาชน และนักศึกษาทั่วประเทศ ร่วมกันจัดกิจกรรมรำลึกถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฏร เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 โดยมีกิจกรรมในหลายสถานที่และเวลาทั่วประเทศ โดยได้เรียกร้องให้ทหารลดอิทธิพลลงและกระจายอำนาจให้กับประชาชนมากขึ้น
ท่ามกลางการสังเกตการณ์ของสื่อมวลชน และการคุมสถานการณ์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
กิจกรรมรำลึกการอภิวัฒน์สยาม 2475 ถูกจัดขึ้นโดยประชาชนและนักศึกษา ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ, อาคารรัฐสภา เกียกกาย, สกายวอล์ค ปทุมวัน, อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อุบลราชธานี, อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ขอนแก่น, ศาลากลางจังหวัดระยอง, มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนครศรีอยุธยา และอีกหลายพื้นที่ทั่วประเทศ
การกิจกรรมแต่ละแห่งมีผู้ร่วมกิจกรรมตั้งแต่หลักสิบจนถึงหลักร้อยคน เริ่มตั้งแต่เวลา 05.00-18.00 น. มีการฉายภาพเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการณ์ปกครอง การปราศรัยเรียกร้องการปฏิรูปกระบวนการประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มาจากการมีส่วนร่วมของประชาชน และการทวงคืนสิ่งปลูกสร้าง และโบราณวัตถุที่สร้างโดยคณะราษฏร ซึ่งถูกทำให้หายไป เช่น หมุดคณะราษฏร หรืออนุสาวรีย์พิทักรัฐธรรมนูญ เป็นต้น
น.ส.พัชนี คำหนัก กลุ่มประชาชนเพื่ออิสรภาพ ได้ปราศรัยที่ทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า กิจกรรมการเรียกร้องในวันที่ 24 มิถุนายน 2563 นี้ เพื่อต้องการให้มีการปฏิรูปการปกครองให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น
“สิ่งสำคัญที่พวกเราต้องการก็คือ การออกแบบสถาบันให้มีความเป็นประชาธิปไตยยึดโยงกับประชาชน และการกระจายอำนาจไปสู่ส่วนท้องถิ่นให้มากกว่านี้ เปิดทางให้ประชาชนมีส่วนร่วม… ลดอิทธิพลของทหารในระบบราชการ ประชาชนต้องเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยของประเทศนี้” น.ส.พัชนี กล่าว
ด้านนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิ้น นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักเคลื่อนไหวการเมือง เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ว่า การจัดกิจกรรมรำลึกในวันนี้ของนักศึกษา เพื่อเชิดชูการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฏร
“ที่นักศึกษาต้องออกมาจัดกิจกรรมในวันนี้ เพราะว่า เหตุการณ์ ในปี 2475 เป็นเหตุการณ์สำคัญ วันที่ 24 มิถุนายนเคยเป็นวันชาติ ทุกวันนี้ เหตุการณ์กลับถูกลบเลือนไปเรื่อยๆ เราจึงไม่สามารถที่จะนิ่งดูดายให้เหตุการณ์สำคัญถูกลบเลือนไปพร้อมกับประชาธิปไตย จึงจัดกิจกรรมเพื่อเชิดชูวีรกรรมของคณะราษฏรในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง” นายพริษฐ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม นายพริษฐ์ ได้เปิดเผยว่า ตนเอง และนักศึกษาที่ทำกิจกรรมหลายคนกลับถูกเจ้าหน้าที่รัฐติดตาม และคุกคามถึงบ้านพัก แต่ยืนยันว่า นักศึกษาจะยังคงเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยต่อไป
“การคุกคาม หรือสกัดการเคลื่อนไหวของนักศึกษาโดยเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นการแสดงออกถึงอาการแสลงใจของฝ่ายรัฐบาลเผด็จการ ที่รับไม่ได้กับการเชิดชูคณะราษฏร ทั้งที่เราจัดกิจกรรม เราดำเนินตามมาตรการควบคุมโรคมาตลอด การพยายามของเจ้าหน้าที่ก็เหมือนว่า ยิ่งปิดก็ยิ่งโผล่ ยิ่งพยายามลบก็ยิ่งจำ รัฐอย่าพยายามคิดที่จะสกัดการเคลื่อนไหวของนักศึกษาด้วยกฎหมาย หรืออำนาจที่ไม่เป็นธรรมเลย เพราะมันจะยิ่งสุมไฟแค้นให้กับประชาชน” นายพริษฐ์ กล่าว
ขณะที่ นายวีรวรรธน์ สมนึก เจ้าของร้านหนังสืออับดุลบุ๊ก ซึ่งร่วมจัดกิจกรรมรำลึกถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่จังหวัดขอนแก่น เปิดเผยว่า การจัดกิจกรรม เป็นสิทธิและเสรีภาพของประชาชน การรำลึกถึงเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งเป็นวันสำคัญน่าจะสามารถทำได้
“เราเป็นร้านหนังสือ สิ่งที่เราอยากยึดมั่นถือมั่น คือการอ่านในทุกฤดูกาลของชีวิต วันที่ 24 มิถุนายน ก็เป็นช่วงสำคัญของปีที่ยึดโยงกับการอ่านการเขียน คุณจะอ่านเพื่อสรรเสริญวีรกรรมของคณะราษฏร หรือสดุดีเหตุการณ์กบฏบวรเดช ก็เป็นสิทธิ์ของคุณที่จะอ่านมัน” นายวีรวรรธน์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
ทั้งนี้ กิจกรรมในทุกพื้นที่ มีกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมสถานการณ์ใกล้ชิด โดยมีการกล่าวเตือนให้ประชาชนที่ร่วมกิจกรรมเว้นระยะห่างทางสังคม แต่บางพื้นที่มีการพยายามขัดขวางไม่ให้จัดกิจกรรม เช่น อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ขอนแก่น มีการกั้นพื้นที่และนำรถดับเพลิงมาจอด โดยอ้างว่า จะมีการซ้อมดับเพลิง ขณะที่ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จังหวัดสุรินทร์ นักศึกษาอ้างว่า ถูกเจ้าหน้าที่คุกคามจนต้องยกเลิกกิจกรรม
ในวันเดียวกัน เวลาประมาณ 15.00 น. กองทัพบก ได้จัดพิธีบำเพ็ญกุศลอุทิศถวายแด่ พล.อ.พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช และบำเพ็ญกุศลแก่ พ.อ.พระยาศรีสิทธิสงคราม สองแกนนำกลุ่มกบฏบวรเดช เพื่อเชิดชูการกระทำของบุคคลทั้งสอง โดยนิมนต์ พระเทพปัญญามุนี เจ้าอาวาสวัดอาวุธวิกสิตารามมาดำเนินพิธี และเจิมป้ายอาคารศรีสิทธิสงคราม และห้องบวรเดช ในกองบัญชาการกองทัพบก
“คณะราษฏร ถือเป็นการรัฐประหารเพื่อล้มราชบัลลังก์ ครั้น พ.ศ. 2476 ได้เกิดการกบฏครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 โดยพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช โดยมีพระยาศรีสิทธิสงครามเป็นแม่ทัพ มีชื่อเป็นที่รู้จักกันว่า “กบฏบวรเดช” เนื่องจากพระองค์ทรงไม่เห็นด้วยกับแนวทางการปกครองของพระยาพหลพลพยุหเสนา ที่มีลักษณะเป็นเผด็จการ โดยเรียกร้องให้รัฐบาลของพระยาพหลฯ ดำเนินตามแนวทางที่เสนอ คือ ให้รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้ และให้รัฐบาลมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น” เอกสารข่าวของกองทัพบก ระบุเหตุผลของการจัดพิธีบำเพ็ญกุศลครั้งนี้
“ในที่สุดการก่อกบฏไม่เป็นผล ฝ่ายรัฐบาลปราบปรามคณะกบฏลงได้ วีรกรรมที่กล้าหาญและเสียสละของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช และพระยาศรีสิทธิสงครามควรแก่การยกย่องในฐานะที่ทรงปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยความจงรักภักดี และทรงมุ่งหวังให้ประเทศชาติดำรงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง” เอกสารข่าวกองทัพบก ตอนหนึ่งระบุ
ทั้งนี้ เหตุการณ์การอภิวัฒน์สยาม หรือการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เกิดขึ้นในช่วงเช้าของวันที่ 24 มิถุนายน 2475 โดยกลุ่มทหารและประชาชน 102 คน ในนามคณะราษฏร มีนายปรีดี พนมยงค์, จอมพลแปลก พิบูลสงคราม และพลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นแกนนำทำการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สู่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข นำไปสู่การมีรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ในวันที่ 10 ธันวาคม 2475 และมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร ในเวลาต่อมา
ขณะที่ ในปี 2476 พลเอกพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช ซึ่งไม่เห็นด้วยกับการปกครองของรัฐบาลคณะราษฏร ได้นำกำลังทหารจากจังหวัดนครราชสีมา เพชรบุรี และอุบลราชธานี เดินทางเข้าสู่กรุงเทพฯ เพื่อหวังยึดอำนาจคืนจากคณะราษฏร ในวันที่ 11 ตุลาคม 2476 อย่างไรก็ตาม ทหารฝ่ายรัฐบาลในขณะนั้นได้ต่อสู้ และสามารถปราบปรามคณะทหารที่ก่อกบฏได้สำเร็จในวันที่ 15 ตุลาคม 2476 ทำให้คณะผู้ก่อกบฏจำนวนหนึ่งเสียชีวิต บางส่วนถูกดำเนินคดี ขณะที่ พลเอกพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช เสด็จลี้ภัยไปยังประเทศเวียดนาม
วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช ในกรุงเทพฯ มีส่วนร่วมในรายงาน