หลายฝ่ายประสานเสียงร้อง กกต. เร่งรับรอง สว. ชุดใหม่

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2024.07.02
กรุงเทพฯ
หลายฝ่ายประสานเสียงร้อง กกต. เร่งรับรอง สว. ชุดใหม่ ผู้สมัคร สว. ชุดใหม่ รอลงคะแนนในการเลือกตั้ง สว. รอบสุดท้าย ในกรุงเทพมหานคร วันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2567
ลิเลียน สุวรรณรัมภา/เอเอฟพี

หลายฝ่ายกระตุ้นให้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับรองรายชื่อ สว. ชุดใหม่ 200 คนที่ได้รับเลือกตั้งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาแล้ว และรายชื่อตัวสำรองอีก 100 คน หลัง กกต. ชะลอการรับรอบผลเนื่องมีการร้องเรียนเรื่องการทุจริตการเลือก สว. และคุณสมบัติที่ไม่เหมาะสม

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร เรียกร้องให้ กกต. เร่งรับรอง สว. เพื่อไม่ให้ สว. ชุดเก่าต้องรักษาการนานเกินไป

“หาก กกต. ประกาศผลเร็ว โอกาสที่จะเกิดสุญญากาศทางการเมือง ให้ สว.ชุดเดิมรักษาการต่อ ก็จะน้อยลง แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่า ตนเองเห็นด้วยกับกฎกติกา สว.ก็ยังมีอำนาจสูง แต่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่ในเมื่อกติกากำหนดมาแบบนี้ และได้ริเริ่มกันมาแล้ว จึงคิดว่าเป็นหน้าที่ของ กกต. ที่จะทำให้การเปลี่ยนผ่านระหว่าง สว.ชุดเก่า และ สว.ชุดใหม่ เป็นไปอย่างเร็วที่สุด” นายพริษฐ์ กล่าว

เช่นเดียวกับ นายนิกร จำนง เลขานุการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตรา (พรบ.) นิรโทษกรรม ชี้ว่า กกต. ไม่ควรที่จะยกเลิกผลการเลือก สว. แม้มีการร้องเรียนจำนวนมาก

“ควรปล่อยให้ กกต. ดำเนินการต่อไปตามขั้นตอนการ ซึ่ง กกต.อาจเข้าไปตรวจสอบคุณสมบัติผู้ผ่านรอบสุดท้ายทั้ง 200 คน และผู้ที่อยู่ในบัญชีสำรอง 100 คนอีกครั้ง ก่อนประกาศรับรองผล หาผู้กระทำผิดตามกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ เมื่อพบแล้วก็ถอดถอนออกไปในระยะเวลาตามกฎหมาย ไม่ใช่ยกเลิกไปโดยไม่ได้มองที่มาและที่ไปให้ครบวงจรโดยไม่คำนึงถึงผลที่จะตามมา” นายนิกร กล่าว

การกระตุ้นให้ กกต. เร่งรับรองผลการเลือกตั้ง สว. เนื่องจากเมื่อสัปดาห์ก่อน นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. เปิดเผยว่า กกต. ได้รับเรื่องร้องเรียน  เกี่ยวกับการเลือกตั้ง สว. 614 เรื่อง ในนั้นเป็นเรื่องคุณสมบัติของผู้สมัครกว่า 400 เรื่องหรือ 65% ส่วนประเด็นที่เหลือเป็นประเด็นการให้เงินหรือเรียกรับเงินเพื่อการเลือก สว.

“ผลการเลือก สว. ระดับประเทศได้รับการแจ้งคะแนนแล้ว กกต.ต้องรอไว้ไม่น้อยกว่า 5 วัน ถ้าเห็นว่า การเลือก สว.เป็นไปโดยสุจริต และเที่ยงธรรม จึงจะประกาศรับรองการเลือก สว. คือ นับตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคมเป็นต้นไป” นายแสวง กล่าว

ก่อนหน้านี้ พล.ต.ท. คำรบ ปัญญาแก้ว ผู้สมัคร สว. ได้เป็นตัวแทนผู้สมัคร สว. ยื่นคำร้องต่อ กกต. ในวันจันทร์เพื่อให้ชะลอการรับรองรายชื่อ สว. พร้อมกับยื่นหลักฐานระบุว่า การเลือก สว. มีการทุจริต และผู้สมัครบางคนมีคุณสมบัติไม่เหมาะสม

“ขอให้ทำการตรวจสอบว่าที่ สว. 111 คน และยื่นคำร้องขอคัดค้านการประกาศรับรองผลผู้ที่ได้เป็น สว. รวมถึงรายชื่อสำรองด้วย เนื่องจากค้นพบความปกติในการลงคะแนนโดยเฉพาะการเลือกไขว้ซึ่งมีลักษณะการลงคะแนนเป็นชุดๆ โดยใบลงคะแนนมีหมายเลขเหมือนๆ กัน” พล.ต.ท. คำรบ กล่าว

พล.ต.ท. คำรบ ระบุว่า หาก กกต. ไม่ได้ดำเนินการตามที่ร้องขอ จะยื่นหนังสือให้กับหน่วยงานอื่นบังคับให้กกต. ดำเนินการตามข้อเรียกร้อง และจะร้องต่อศาลเอาผิด กกต. ในฐานะละเว้นการปฏิบัติหน้าที่  

ด้าน นายจักรพงษ์ คงปัญญา ผู้สมัคร สว. พร้อมกับ ผู้สมัครรายอื่นๆ ได้คัดค้านการรับรอง สว. เช่นกัน เนื่องจากเห็นว่า ผู้สมัคร สว. จำนวนหนึ่งมีคุณสมบัติไม่ตรงตามกฎหมาย

“หากพบว่าผลการตรวจสอบตาม ข้อ 1 มีมูลหรือมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า มีการฮั้วลงคะแนนให้กัน ขอให้ กกต. ประกาศให้ผลการเลือกครั้งนี้เป็น โมฆะ และสั่งให้มีการจัดเลือกใหม่ทันที ก่อนการเลือกใหม่ให้ กกต.ตรวจสอบ คุณสมบัติผู้สมัครใหม่ทั้งหมดที่เข้าสู่สนามการเลือกใหม่ เพื่อป้องกันผู้สมัครที่ไม่มีคุณสมบัติจริงตามกฎหมาย” นายจักรพงษ์ กล่าวในวันจันทร์

ด้าน รศ.ดร. เจษฎ์ โทณะวณิก ประธานคณะนิติศาสตร์ วิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย แสดงความเห็นต่อรูปแบบการเลือกตั้ง สว. ที่ถูกวิพากษ์-วิจารณ์ว่า ไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องที่จะให้การเลือกตั้ง สว. เป็นโมฆะ

“อย่าคิดสั้นๆ แต่ว่า ระบบนี้ไม่ดี เปลี่ยนไปใช้เลือกตั้งแบบหย่อนบัตรเถอะ นี่คือการคิดสั้น ไหนๆ มันสร้างระบบมาเราก็ต้องค่อยๆ ปรับแต่งไป … ต่อให้ระบบดียังไงก็แล้ว ยังไม่พ้นการทำให้เกิดปัญหา วิธีการแก้ก็คือว่า บรรดาประชาชนทั้งหลายที่รู้ที่เห็นก็ต้องช่วยกัน ท้ายที่สุด มันคงไม่มีระบบไหนคัดกรองคนไม่ดีออกไปให้หมด” รศ.ดร. เจษฎ์ กล่าว

การเลือกตั้ง สว. ครั้งนี้ เกิดขึ้นเพื่อทดแทน สว. ชุดล่าสุด 250 คน ที่แต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งหมดวาระไปแล้วตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2567 โดยเป็นการเปิดรับสมัคร ผู้ลงสมัครรับเลือกเป็น สว. ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งวุฒิสภา พ.ศ. 2561 (พ.ร.ป. สว.ฯ) ซึ่งนับเป็นการใช้รูปแบบนี้ครั้งแรก

กกต. เปิดเผยว่า ผู้สมัคร สว. ระดับอำเภอ 43,818 คน และหลังการเลือกระดับอำเภอ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน เหลือผู้ผ่านเข้ารอบ 23,645 คน และมีการเลือกระดับจังหวัดในวันที่ 16 มิถุนายน 2567 ทำให้เหลือผู้สมัคร สว. 3,000 คนเข้าสู่การเลือกระดับประเทศในวันที่ 26 มิถุนายนที่ผ่านมา

ในรายชื่อ สว. ชุดใหม่ 200 คนอย่างไม่เป็นทางการ มีบุคคลที่เคยมีตำแหน่งราชการ หรือเป็นที่รู้จักของสังคมด้วย เช่น พล.อ. เกรียงไกร ศรีรักษ์ ประธานคณะที่ปรึกษา รมว.มหาดไทย, นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร, รศ. ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นต้น

ในรายชื่อสำรองมี พล.ต.อ. ศรีวราห์ รังสิหรามณกุล อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.), นายษิทรา เบี้ยบังเกิด เลขาธิการมูลนิธิทีมงานทนายประชาชน, นายธัชพงศ์ แกดำ นักกิจกรรมทางการเมือง รวมอยู่ด้วย

ขณะที่ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี, นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต., พล.ต.นพ. เหรียญทอง แน่นหนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ ไม่ได้รับเลือก

รุจน์ ชื่นบาน ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง