ผู้ชุมนุมเรือนแสนยึดสนามหลวงประท้วงรัฐ

นนทรัฐ ไผ่เจริญ และวิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2020.09.19
กรุงเทพฯ
200919-TH-barriers-1000.jpg ประชาชนและผู้ชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลเดินข้ามแผงเหล็กกั้นเข้าไปยึดพื้นที่บริเวณท้องสนามหลวง ในกรุงเทพฯ ระหว่างการชุมนุมวันที่ 19 กันยายน 2563
นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์

ในวันเสาร์ (19 กันยายน 2563) กลุ่มนักศึกษาและประชาชนหลายหมื่นคนได้ยึดสนามหลวงเป็นพื้นที่ในการแสดงออก เพื่อประท้วงรัฐบาล และเรียกร้องให้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พร้อมทั้งยังเน้นย้ำการเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวดพระมหากษัตริย์

แม้ว่าทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะได้ปฏิเสธคำขอของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เพื่อการจัดชุมนุมด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย แต่ในที่สุด เมื่อตอนเที่ยงของวัน ทางมหาวิทยาลัยได้ยอมเปิดประคูด้านสนามหลวงเพื่อให้ผู้ชุมนุมเข้าไปใช้สถานที่ได้

อย่างไรก็ตาม ในตอนหลังสี่โมงเย็น กลุ่มผู้ประท้วงได้เข้ายึดสนามหลวง โดยนายภาณุพงศ์ จาดนอก หนึ่งในแกนนำ กล่าวว่า เป็นการแสดงออกว่าสนามหลวงเป็นของประชาชน ไม่ได้เป็นของพระมหากษัตริย์ โดยได้ยกแนวกั้นเหล็กออกไป พร้อมทั้งเดิน-วิ่งเข้าพื้นที่สนามหญ้า ด้านที่ใกล้กับพระบรมมหาราชวัง แต่โดนเจ้าหน้าที่กันไว้ ก่อนที่แกนนำจะขอให้ถอยห่างจากเขตพระราชฐาน

ผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลเดินผ่านพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในกรุงเทพฯ วันที่ 19 กันยายน 2563 (นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์)
ผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลเดินผ่านพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในกรุงเทพฯ วันที่ 19 กันยายน 2563 (นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์)

ด้านนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แกนนำแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม กล่าวแก่ผู้สื่อข่าวว่า กลุ่มผู้ประท้วงขอเรียกร้อง 3 ประการ คือ หนึ่ง การขับไล่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกจากตำแหน่ง รวมทั้งการยกเลิกองค์กรอิสระต่าง ๆ ที่ตั้งขึ้นมาตามรัฐธรรมนูญฉบับทหาร สอง ขอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมทั้งหมวดที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ และสาม การปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ

“...ถ้าพูดให้ชัด คือการต่อสู่กับพระราชอำนาจทรงเกิน ผมย้ำนะ การมีสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อระบอบประชาธิปไตย ประเทศอื่นที่เป็นประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ เช่น อังกฤษ สเปน เดนมาร์ก สวีเดน ญี่ปุ่น เขาก็มีกษัตริย์ และมีประชาธิปไตย แต่พระสถาบันมหากษัตริย์เรานี้มีพระราชอำนาจล้นเกิน” นายพริษฐ์ กล่าวตอบคำถามผู้สื่อข่าว ถึงจุดยืนในการประท้วง

“...การต่อสู้ไม่ใช่สิ่งที่ทำวันต่อวันแล้วเสร็จ แต่ประชาชนต้องออกมาสนับสนุน” นายพริษฐ์ กล่าวเพิ่มเติม

ผู้นำแนวร่วมการชุมนุมต่อต้านรัฐบาล นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ (ซ้าย), สุวรรณา ตาลเหล็ก (กลาง) และสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ (ขวา) นำกลุ่มผู้ชุมนุมเข้าพื้นที่ท้องสนามหลวง กรุงเทพฯ วันที่ 19 กันยายน 2563 (นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์)
ผู้นำแนวร่วมการชุมนุมต่อต้านรัฐบาล นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ (ซ้าย), สุวรรณา ตาลเหล็ก (กลาง) และสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ (ขวา) นำกลุ่มผู้ชุมนุมเข้าพื้นที่ท้องสนามหลวง กรุงเทพฯ วันที่ 19 กันยายน 2563 (นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์)

ด้าน พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวแก่ผู้สื่อข่าวว่า ได้รับนโยบายจากทาง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชาให้ปฏิบัติต่อผู้ประท้วงอย่างละมุนละม่อม และยึดหลักกฎหมาย

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจประเมินว่ามีผู้เข้าร่วมชุมนุมกว่าแสนคน ในขณะที่ทางผู้จัดการประท้วงประเมินว่ามีผู้ชุมนุมกว่าสองแสนคน อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีความรุนแรงใด ๆ เกิดขึ้น

ในการชุมนุม นอกจากมีนักศึกษาแล้ว ยังมีกลุ่มคนเสื้อแดงที่เป็นผู้สนับสนุน นายทักษิณ ชินวัตร และ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ถูกโค่นล้มในปี 2549 และ ปี 2557 ตามลำดับ ร่วมการชุมนุมท่ามกลางอากาศที่มีเมฆครึ้มและฝนตกในบางช่วง ซึ่งหลาย ๆ คนได้แสดงความดีใจที่ได้ออกมาประท้วงอีกครั้ง หลังจากที่เคยขับไล่อดีตนายกอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อปี 2553

ส่วน นายณัฐ กฤติตานนท์ นักศึกษามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า ตนเองออกมาประท้วงเพราะโดนลิดรอนสิทธิ์ในการเลือกตั้งครั้งแรก เพราะการรัฐประหารในปี 2557

“ผมมาม็อบครั้งนี้เป็นครั้งที่สอง ครั้งแรกคือ 16 สิงหา ผมออกมาเพราะผมโดนพรากสิทธิ์และเสียงของการเลือกตั้งไปครับ ตอนอายุ 18 ปี ผมควรจะได้เลือกตั้ง แต่เกิดรัฐประหารเสียก่อน เมื่อย้อนดูประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ประเทศเรามีการรัฐประหารเยอะมาก แตกต่างจากประเทศที่เขาเจริญแล้วที่ไม่มีรัฐประหารกัน” นายณัฐ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

“ผมเห็นว่าการที่ทหารมีอำนาจมากเกินไปอย่างนี้ขัดประโยชน์ต่อชาติอย่างมาก เพราะเมื่อทหารเข้ามายึดอำนาจไป พวกเขาไม่จำเป็นต้องสนใจเสียงของประชาชนเลย ไม่เหมือนกับ ส.ส. ที่อย่างน้อยก็มาจากประชาชนและต้องแคร์ประชาชนอยู่บ้าง เหตุผลที่ผมออกมา เพราะอยากให้ทหารเลิกทำรัฐประหาร อยากให้ทหารเลิกยุ่งการเมืองเสียที” นายณัฐ กล่าวเพิ่มเติม

 

เตรียมการชุมนุมวันอาทิตย์

ทั้งนี้ แกนนำผู้ชุมนุมกล่าวว่า ในวันอาทิตย์นี้ ผู้ชุมนุมจะเดินไปประท้วงที่ทำเนียบรัฐบาล

ด้าน นายอานนท์ นำภา กล่าวในการปราศรัยว่า ในวันอาทิตย์จะมีพิธีที่สำคัญอย่างยิ่ง คือ ปักหมุดคณะราษฎร หมุดที่สอง มีข้อความว่า ย่ำรุ่งวันที่ 20 หมุดจะถูกปักลง ประกาศคณะราษฎรฉบับที่สองจะถูกปักลง เราจะเป็นไทย

นอกจากนั้น แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ยังได้รำลึกถึงวันที่ 19 กันยายน 2563 ว่าเป็นการครบรอบการรัฐประหารรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร โดยพลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตผู้บัญชาการทหารบก หัวหน้าคณะรักษาความมั่นคงแห่งชาติ

นายทักษิณ ชินวัตร ได้โพสต์ข้อความ กล่าวหาว่ารัฐบาลที่มาจากอำนาจทหาร บริหารประเทศล้มเหลว

“ผมขอฝากคำถามเดียวครับ ว่า 14 ปีมานี้ ชีวิตคนไทยโดยรวมๆ เป็นไงบ้าง ประเทศไทยในสายตาโลกเป็นไงบ้าง เด็กๆ ที่อายุระหว่าง 20 ถึง 30 ในปัจจุบัน 14 ปีที่แล้ว เขาได้ยินได้เห็นพ่อแม่เขาคุยกันว่าเขากำลังมีงาน/มีธุรกิจ มีรถ มีบ้าน แต่วันนี้เขาได้ยินว่าเขากำลังตกงาน/ธุรกิจอยู่ไม่ได้ กำลังเสียรถ เสียบ้าน และตัวเขายังมองไม่เห็นอนาคตตัวเองถึงจะมีการศึกษาที่ดี เพราะวิธีคิดของเรากำลังถูกเอาเปรียบโดยทุนนิยมโลกที่เรารู้ไม่เท่าทัน เราล้าสมัยในหลายด้าน” นายทักษิณกล่าว

“ถึงเวลาหรือยังที่เราจะปรับวิธีคิดใหม่ ทั้งฝ่ายบริหารบ้านเมืองและการเมือง เพราะที่ผ่านมา 14 ปีแล้ว เราไม่ทันโลกจริงๆ มีแต่ถูกเอาเปรียบ โลกไม่เหมือนเดิม คิดแบบเดิมไม่ได้ นโยบายที่เคยใช้ได้ในอดีตปัจจุบันยิ่งใช้ยิ่งแย่ โดยเฉพาะโลกหลังโควิด จะเป็นโลกที่เห็นแก่ตัวมากขึ้นกว่าเดิม เพื่อนที่แสนดีจะหายากขึ้น ผมหมายถึงการเมืองระหว่างประเทศ”

ด้านรัฐบาลไม่ได้ออกมาโต้ตอบ แต่นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวว่า สิ่งที่เด็กและคนไทยในปัจจุบันได้ยิน คือ ไม่เห็นเผด็จการรัฐสภาข้างมากลากไป ไม่เห็นการออกกฎหมายเพื่อประโยชน์ของกลุ่มธุรกิจนายทุน และการเอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้อง

ประชาชนไทยต่างรุ่นต่างวัยร่วมกับกลุ่มนักศึกษาในการชุมนุมต้านรัฐบาล แม้สภาพอากาศไม่อำนวย เพราะฝนตกลงมาเป็นช่วงๆ ในกรุงเทพฯ วันที่ 19 กันยายน 2563 (นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์)
ประชาชนไทยต่างรุ่นต่างวัยร่วมกับกลุ่มนักศึกษาในการชุมนุมต้านรัฐบาล แม้สภาพอากาศไม่อำนวย เพราะฝนตกลงมาเป็นช่วงๆ ในกรุงเทพฯ วันที่ 19 กันยายน 2563 (นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์)

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง