ชาวสงขลาร้องผู้ว่าฯ ยกเลิกเวทีรับฟังความเห็นสร้างท่าเรือสงขลาแห่งที่สอง

ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2016.12.14
สงขลา
TH-protest-620 ประชาชนชุมนุมเรียกร้องให้ ผวจ.สงขลา ประสานระงับการพูดคุยเรื่องท่าเรือสงขลาแห่งที่สอง วันที่ 14 ธันวาคม 2559
เบนาร์นิวส์

ประชาชนในนามเครือข่ายประชาชนปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสงขลากว่าร้อยคน ได้รวมตัวหน้าศาลากลางจังหวัดตั้งแต่เมื่อวันอังคารที่ผ่านมาจนกระทั่งวันพุธนี้ เพื่อเรียกร้องให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ประสานยุติเวทีรับฟังความคิดเห็นการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 ซึ่งมีแผนจะจัดขึ้นในวันพฤหัสบดีที่จะถึงนี้ เนื่องจากเชื่อว่า เวทีรับฟังความคิดเห็นที่จัดขึ้นนี้ไม่มีความพร้อมและข้อมูลที่เพียงพอ

ประชาชนกลุ่มดังกล่าวได้นอนค้างคืนมาจนกระทั่งวันนี้ เพื่อรอพบนายทรงพล สวาสดิ์ธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เพื่อขอให้นายทรงพลประสานยุติการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 ซึ่งจะจัดขึ้นเป็นครั้งแรกที่โรงแรมบีพีสมิหลา ในวันที่ 15 ธันวาคม 2559 โดยก่อนหน้านี้ในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2559 ประชาชนกลุ่มดังกล่าว ได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีผ่านนายทรงพลขอให้ยกเลิกการจัดเวทีครั้งนี้มาแล้ว

นายเอกชัย อิสระทะ ผู้ประสานงานเครือข่ายพิทักษ์สิทธิชุมชนจังหวัดสงขลา กล่าวว่า ประชาชนมารวมตัวกันเพื่อรอพบกับผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาและชี้แจงเหตุผลที่เห็นว่าควรต้องยกเลิกเวทีการรับฟังความคิดเห็นดังกล่าว

“เหตุผลที่ต้องยุติเวที คือ 1. เนื่องจาก เราไม่พบว่าเป็นเวทีที่รับฟังเชิงประเด็นที่ชัดเจน ขอให้ผู้ว่า เลื่อนเวทีนี้ไปก่อน แล้วกลับมาสู่การพูดคุยกันว่าถ้าเราจะพูดคุยการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม เสนอว่าควรดูเป็นชุดโครงการ ทั้งท่าเรือน้ำลึกปากบารา ท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2. รถไฟรางคู่ และโครงการชุดทั้งหมด ถ้าเอาทั้งหมดมาศึกษาผลกระทบจึงจะสามารถยืนยันว่า เศรษฐกิจที่กำลังจะพัฒนาไป มีความคุ้มค่าคุ้มทุนหรือไม่อย่างไร” นายเอกชัยกล่าว

เมื่อ ปี 2540 กรมเจ้าท่าได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาดำเนินการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสำรวจออกแบบ การขยายท่าเรือน้ำลึกสงขลา เนื่องจากมีการใช้บริการมากขึ้น จนกระทั่งได้สรุปผลการศึกษา ในปี พ.ศ. 2552 ว่า ควรสร้างท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 ที่พื้นที่บริเวณตำบลนาทับ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา โดยที่ปรึกษาได้ดำเนินการออกแบบเบื้องต้นท่าเทียบเรือเขื่อนกันคลื่น ร่องน้ำทางเดินเรือ ถนนทางเข้าอาคารประกอบ และระบบสาธารณูปโภคต่างๆ แบ่งการก่อสร้างออกเป็น 2 ระยะ มูลค่าการก่อสร้างรวมทั้งสิ้นประมาณ 11,000 ล้านบาท

นายเอกชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า การศึกษาโครงการย่อยแต่ละโครงการแยกกันไปในประเด็นสิ่งแวดล้อมทำให้มิติของ ความเชื่อมโยงกับพื้นที่ และบริบทของการพัฒนาที่จะเปลี่ยนแปลงภาคใต้เป็นเมืองอุตสาหกรรมไม่ชัดเจน ซึ่งเป็นสิ่งที่ประชาชนกลุ่มนี้กังวล โดยมองว่าที่ผ่านมา หน่วยงานราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เท่าที่ควร

โดยนอกจากข้อเรียกร้องของเครือข่ายประชาชนปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสงขลา ซึ่งนายเอกชัยได้กล่าวถึงแล้ว สภาพลเมืองเยาวชนสงขลา ได้ออกแถลงการณ์เพื่อ ขอให้ทำการยกเลิกการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นดังกล่าว และยกเลิกการประมูลโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา โดยระบุว่า เวทีที่จะจัดขึ้นควรเป็นเวทีที่รับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างแท้จริง และควรให้ข้อมูลกับประชาชนมากกว่าที่เป็นอยู่

“เวทีรับฟังความคิดเห็นที่เกิดขึ้น ไม่ได้มีเวลามากเพียงพอ และการให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชนที่ไม่ครอบคลุมรอบด้าน รายงานเอกสารประกอบการรับฟังความเห็น ไม่มีการศึกษาและพูดถึงเรื่องของผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน และขาดการศึกษาศักยภาพในการรองรับของพื้นที่” บางส่วนของแถลงการณ์ระบุ

อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าราชการจังหวัดไม่ได้ออกมาตอบรับใดๆ เมื่อถึงตอนเย็น ทางกลุ่มฯ จึงได้เคลื่อนขบวนไปที่สถานที่จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นฯ และค้างแรมที่นั่น

ด้าน รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ กล่าวว่า โครงการแผนพัฒนาภาคใต้ที่ถูกกำหนดขึ้นมาและเกิดปัญหาต่อพื้นที่ เช่น โครงการท่าเรือน้ำลึก โครงการโรงไฟฟ้า โครงการถนนมอเตอร์เวย์ และโครงการอื่นๆ เป็นโครงการที่มุ่งเน้นผลกำไรมากเกินไป

“จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการประเมินสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ ยุทธศาสตร์ และทิศทางการพัฒนาภาคใต้อย่างเป็นระบบ ขอย้ำว่า การมีส่วนร่วมและการรับฟังความคิดเห็นแบบเปิดจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากปราศจากสังคม การเมืองที่เป็นประชาธิปไตย” รศ.ดร.ณฐพงศ์ระบุ

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง